Project Description

๑. สรุปภาพรวม

(๑) ในปี ๒๕๕๙ การท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้สูงสุดลำดับที่ ๔ ของ สปป.ลาว โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวในสปป.ลาว จำนวน ๔,๒๓๙,๐๔๗ คน ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาท่องเที่ยวในสปป.ลาว จำนวนประมาณ ๓ – ๔ ล้านคน และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทางการลาวคาดการณ์ว่าจะมีมากถึง ๗ ล้านคนในปี ๒๕๖๘ ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวไทยมีจำนวนมากที่สุดประมาณร้อยละ ๔๐ – ๕๐ ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด [๑]

(๒) นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เดินทางโดยรถยนต์ ซึ่งมีสะพานมิตรภาพ ๑ (หนองคาย-นครหลวงเวียงจันทน์) เป็นช่องทางเข้า – ออกที่ถูกใช้มากที่สุด ทั้งของนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวลาว ทั้งนี้ ในปี ๒๕๕๙ ช่องทางสะพานมิตรภาพ ๒ (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) แขวงหลวงน้ำทา (ด่านบ่อเต็น – บ่อหาน) สนามบินวัดไต และแขวงจำปาสัก (ด่านวังเต่า – ช่องเม็ก) เป็นช่องทางเข้า – ออกที่มีผู้ใช้มากที่สุดใน ๕ ลำดับแรก

(๓) ในปี ๒๕๕๙ จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งภายในและต่างประเทศของ ๖ แขวงในเขตอาณาของ สกญ.ฯ มีจำนวน ๒,๒๗๙,๖๔๙ คน คิดเป็นร้อยละ ๓๓.๖๐ ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดใน สปป.ลาว โดยมี ๒ แขวงในเขตอาณาของ สกญ.ฯ ติด ๕ อันดับแรกของแขวงที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่สุด คือ แขวงสะหวันนะเขต (ลำดับที่ ๒) และแขวงจำปาสัก (ลำดับที่ ๔)

 

๒.สถานะล่าสุด

สัดส่วนร้อยละของรายได้จากการท่องเที่ยวใน สปป.ลาว ปี ๒๕๕๙
จำนวนมากกว่า ๗๒๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ 
สัดส่วนร้อยละของนักท่องเที่ยวต่างชาติใน สปป.ลาว ปี ๒๕๕๙
จำนวน ๔.๒ ล้านคน 

ในปี ๒๕๕๙ สปป.ลาวมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้า-ออกตามด่านต่างๆ ทั้งหมด ๔,๒๓๙,๐๔๗ คน นำรายได้เข้าประเทศ ๗๒๔,๑๙๑,๙๕๗ ดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ ๕ ของ GDP ของประเทศ (ปี ๒๕๕๙ สปป.ลาว มีมูลค่า GDP จำนวน ๑๕,๕๘๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยในจำนวนนี้เป็น นักท่องเที่ยวชาวไทยมากที่สุดจำนวน ๒,๐๐๙,๖๐๕ คน คิดเป็นร้อยละ ๔๗ นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวชาวไทยยังนำรายได้

หน่วย ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ลำดับ

ผลิตภัณฑ์

๒๕๕๙

๒๕๕๘

๒๕๕๗

แร่ธาตุ

๑,๓๑๔.๐๐

๑,๒๙๒.๔๐

๑,๓๒๕.๒๐

อุตสาหกรรมอื่น ๆ

๑,๓๑๒.๑๐

๙๑๗.๒๐

๒๓๗.๖

ไฟฟ้า

๙๔๐.๗๐

๔๙๕.๕๐

๕๘๖.๑๐

การท่องเที่ยว

๗๒๔.๑๙

๗๒๕.๓๗

๖๔๑.๖๔

ผลิตผลทางการเกษตร

๕๘๔.๒๐

๓๑๙.๘๐

๒๓๘.๒๐

เข้าสปป.ลาว มากที่สุดถึง ๑๘๔,๓๖๑,๔๘๔ ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ ๒๕ ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด

 

๓. สัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวเปรียบเทียบกับการค้าต่างประเทศ (การส่งออก)

ในปี ๒๕๕๙ การท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้สำคัญของสปป.ลาว ใน ๕ อันดับแรก เมื่อเปรียบเทียบกับการค้าต่างประเทศ (การส่งออก) อยู่ในลำดับที่ ๔ มีมูลค่า ๗๒๔.๑๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองจากการส่งออกไฟฟ้าและมีมูลค่าสูงกว่ารายได้จากผลิตผลทางการเกษตร

 

๔. ทิศทาง

(๑) จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นที่อัตราเฉลี่ยร้อยละ ๑๒.๖๖ จากปี ๒๕๓๖ – ๒๕๕๙ โดยแบ่งเป็นช่วงระยะได้ดังนี้ ระหว่าง ๒๕๓๖ – ๒๕๔๗ มีนักท่องเที่ยวน้อยกว่า ๑ ล้านคน (๒) ระหว่าง ๒๕๔๘ – ๒๕๕๔ มีนักท่องเที่ยวประมาณ ๑ – ๒ ล้านคน (๓) ระหว่าง ๒๕๕๕ – ๒๕๕๙ มีนักท่องเที่ยวประมาณ ๓ – ๔ ล้านคน และ (๔) นับแต่ ๒๕๕๗ มีนักท่องเที่ยวมากกว่า ๔ ล้านคน

(๒) นักท่องเที่ยวไทย โดยรวมนักท่องเที่ยวสัญชาติไทยมีจำนวนมากที่สุดแต่มีสัดส่วนที่ลดลง โดยในปี ๒๕๕๕ จำนวน ๑.๙ ล้านคน (ร้อยละ ๕๘) ในปี ๒๕๕๖ จำนวน ๒ ล้านคน (ร้อยละ ๕๓) ในปี ๒๕๕๗ จำนวน ๒ ล้านคน (ร้อยละ ๔๙) เพิ่มขึ้นในปี ๒๕๕๘ จำนวน ๒.๓ ล้านคน (ร้อยละ ๕๐) และในปี ๒๕๕๙ จำนวน ๒ ล้านคน (ร้อยละ ๔๙) ลดลงร้อยละ – ๑๓ เมือเทียบกับปีก่อนหน้า

(๓) ทางการลาวคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี ๒๕๖๐ จะเพิ่มขึ้นถึง ๔.๘ ล้านคน สามารถสร้างรายได้ประมาณ ๘๔๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ๒๕๖๓ จะมีนักท่องเที่ยวประมาณ ๕.๘ ล้านคน โดยประมาณการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นนี้จะนำรายได้เข้าประเทศประมาณ ๑,๐๔๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี ๒๕๖๘ จะมีนักท่องเที่ยวประมาณ ๗.๕ ล้านคน โดยประมาณการณ์ว่าจะนำรายได้เข้าประเทศได้ถึง ๑,๓๘๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

๕. นักท่องเที่ยวรายแขวงในปี ๒๕๕๙

จำนวนนักท่องเที่ยวรายแขวง พ.ศ.๒๕๕๙ จำนวน ๖,๗๘๓,๘๗๔ คน

จำนวนนักท่องเที่ยวของแขวงในเขตอาณาของ สกญ.ฯ มีประมาณ ๒,๒๗๙,๖๔๙ คน คิดเป็นร้อยละ ๓๓.๖๐ ของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศของสปป.ลาว โดยมี ๒ แขวงที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุด ใน ๕ อันดับแรก คือ แขวงสะหวันนะเขต และแขวงจำปาสัก

 

๖. จำนวนนักท่องเที่ยวตามช่องทางการเข้า – ออกเมือง ของสปป.ลาว

จำนวนนักท่องเที่ยวผ่านเข้า – ออกเมือง ตามด่านสากลของสปป.ลาว พ.ศ.๒๕๕๙ จำนวน ๔,๒๓๙,๐๔๗

(๑) ในปี ๒๕๕๙ นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าสปป.ลาว ส่วนใหญ่เดินทางโดยทางรถยนต์ ผ่านเส้นทางด่านสะพานมิตรภาพ ๑ (หนองคาย-นครหลวงเวียงจันทน์) จำนวน ๑,๐๓๕,๙๑๑ คน สะพานมิตรภาพ ๒ (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) จำนวน ๖๓๗,๒๙๕ คน แขวงหลวงน้ำทา (ด่านบ่อเต็น-บ่อหาน) จำนวน ๓๘๕,๒๖๔ คน แขวงจำปาสัก (ด่านวังเต่า–ช่องเม็ก) จำนวน ๒๒๙,๑๓๓ คน ซึ่งเป็นช่องทางที่มีผู้ใช้มากที่สุดใน ๕ ลำดับแรก ทั้งนี้ การเดินทางเข้า–ออก สปป.ลาว ผ่านสนามบินวัดไตมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น ๔๒๑,๗๙๒ คน ในปีดังกล่าวด้วย

(๒) เส้นทางหมายเลข ๙ แขวงสะหวันนะเขต ยังเป็นเส้นทางผ่านจากไทยไปสู่เวียดนามที่สำคัญ โดยเห็นได้จากสถิติการผ่านเข้า-ออกแขวงของนักท่องเที่ยวจากสะพานมิตรภาพ ๒ (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) และด่านแดนสะหวัน-ลาวบาว ที่มีจำนวนสูง เกือบเท่ากับสะพานมิตรภาพ ๑ (หนองคาย-นครหลวงเวียงจันทน์)

 

๗. ข้อมูลการใช้สนามบินระหว่างประเทศในปี ๒๕๕๙

สนามบิน

จำนวนนักท่องเที่ยว

จำนวนนักท่องเที่ยว
ที่ใช้สนามบิน (ร้อยละ)

สนามบินวัดไต

๔๒๑,๗๙๒

๗๒.๘๖

สนามบินหลวงพระบาง

๑๔๐,๕๙๘

๒๔.๒๙

สนามบินปากเซ จำปาสัก

๑๓,๔๒๒

๒.๓๒

สนามบินสะหวันนะเขต

๓,๑๑๓

๐.๕๔

การเดินทางเข้าสปป.ลาวทางอากาศยานยังมีสัดส่วนน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับการเดินทางโดย ทางบก ในปี ๒๕๕๙ นักท่องเที่ยวใช้ช่องทางสนามบินนานาชาติทั้ง ๔ แห่งในสปป.ลาว มีจำนวน ๕๗๘,๙๒๕ คน คิดเป็นเพียงร้อยละ ๑๓.๖๖ ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในปีดังกล่าว และสนามบินในภาคกลาง (สนามบินแขวงสะหวันนะเขต) และในภาคใต้ (สนามบินปากเซ) ถูกใช้งานน้อยที่สุด เพียงร้อยละ ๒.๘๖ ของจำนวนผู้ใช้สนามบินทั้งหมด

 

๘. จำนวนนักท่องเที่ยวลาวเดินทางไปต่างประเทศ

เปรียบเทียบจำนวนพลเมืองลาวที่เดินทางไปต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๗ – ๒๕๕๙ (๓ ปี)

ในปี ๒๕๕๙ นักท่องเที่ยวลาวที่เดินทางไปต่างประเทศส่วนใหญ่มาจากนครหลวงเวียงจันทน์ โดยเดินทางผ่านสะพานมิตรภาพ ๑ อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวจากแขวงคำม่วน แขวงสะหวันนะเขต และแขวง จำปาสัก อยู่ใน ๕ ลำดับแรกของจำนวนนักท่องเที่ยวลาวที่เดินทางไปต่างประเทศของแขวงต่าง ๆ ตามลำดับ

 

๙. ข้อสังเกต

(๑) ในภาพรวม การท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้สำคัญของสปป.ลาวเป็นลำดับที่ ๔ รองจากแร่ธาตุ อุตสาหกรรมอื่น ๆ และไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ประชาชนลาวสามารถได้รับประโยชน์โดยตรงจากการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต่างจากอุตสาหกรรมแร่ธาตุและไฟฟ้าที่จะต้องอาศัยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในการดำเนินการ ดังนั้น ฝ่ายไทยอาจพิจารณาให้ความสำคัญยิ่งขึ้นกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวในสปป.ลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวในลักษณะ joint package ไทย-ลาว และอาจเชื่อมโยงกับประเทศอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะการเชื่องโยงเส้นทางการท่องเที่ยวผ่านเส้นทางหมายเลข ๙ เนื่องจากเป็นเส้นทางเชื่อมไทย-ลาว-เวียดนาม ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ อยู่แล้ว

(๒) การส่งเสริมการท่องเที่ยวในลักษณะเชื่อมโยง ดังกล่าว ไม่เพียงแต่สอดคล้องกับท่าทีในเวที พหุพาคีต่าง ๆ เช่น ในกรอบ GMS และกรอบ ASEAN เท่านั้น แต่ยังสอดรับกับการดำเนินการของภาคเอกชนอีกด้วย โดยในห้วงที่ผ่านมาสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (TCEB) และสมาคมบริษัทท่องเที่ยวภายในประเทศได้เข้าหารือกับสถานกงสุลใหญ่ฯ และได้นำผู้ประกอบการไทยศึกษาศักยภาพเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงไทยเข้ากับสปป.ลาว ตอนใต้และเวียดนามหลายครั้ง เนื่องจากสนใจขยายเส้นทางท่องเที่ยวมายังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวใหม่ ๆ ป้อนสู่ตลาด และเพื่อหลีกเลี่ยงแผนการตลาดแบบลดราคา (price war) สำหรับตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศ

(๓) แนวคิดเชื่อมโยงการท่องเที่ยวแบบ “สี่เหลี่ยมการท่องเที่ยว ๒ แขวง ๒ จังหวัด” เพื่อเชื่อมโยงนครพนม มุกดาหาร สะหวันนะเขต และคำม่วน ได้รับการสนับสนุนจากแขวงและจังหวัด ที่เกี่ยวข้อง โดยจะเสนอรัฐบาลของตนให้พิจารณาแก้ไขความตกลงระหว่างประเทศให้สามารถเดินทาง ในพื้นที่ดังกล่าวด้วยบัตรผ่านแดนได้ จากเดิมที่ตราสารดังกล่าวกำหนดเกี่ยวกับช่องทางเข้าออกให้เดินทางได้เฉพาะจังหวัดที่อยู่ตรงข้ามกันเท่านั้น

(๔) แขวงทางภาคกลางและภาคใต้ในเขตอาณาของ สกญ.ฯ เป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม โดยมี ๒ แขวงติด ๕ อันดับแรกของแขวงที่ได้รับความนิยมสูงสุดในการท่องเที่ยวของสปป.ลาว คือ แขวงสะหวันนะเขต และแขวงจำปาสัก

(๕) สกญ.ฯ ได้มีบทบาทเชิงรุกในการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเชื่อมโยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ ๒ ล้อ ๒ น่อง ท่อง ๒ แผ่นดิน ปั่นจักรยานระหว่างจังหวัดมุกดาหารและแขวงสะหวันนะเขต ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จึงได้สานต่อติดต่อกันเป็นปีที่ ๓ แล้ว

(๗) การเดินทางเข้าสู่ สปป.ลาวโดยอากาศยานยังมีสัดส่วนน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับการเดินทางโดยทางบกผ่านด่านพรมแดนต่าง ๆ โดยเฉพาะในแขวงทางตอนใต้ ในปี ๒๕๕๙ มีนักท่องเที่ยวเดินทางผ่านสนามบินสะหวันนะเขตเพียง ๓,๑๑๓ คน (ร้อยละ ๐.๕๔) และสนามบินปากเซ เพียง ๑๓,๔๒๓ คน (ร้อยละ ๒.๓๒) ของจำนวนผู้ใช้สนามบินทั้งหมด

(๘) นักท่องเที่ยวสัญชาติลาวส่วนใหญ่จะมาจากแขวงที่มีสะพานมิตรภาพ โดยเห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวจากนครหลวงเวียงจันทน์ (สะพานมิตรภาพ ๑) สะหวันนะเขต (สะพานมิตรภาพ ๒)

(๙) สะพานมิตรภาพ ๓ (นครพนม-คำม่วน) เพิ่มความสำคัญขึ้น โดยเป็นเส้นทางที่นักท่องเที่ยวลาวใช้เดินทางเข้าไทยมากที่สุดเป็นลำดับที่ ๒ ในปี ๒๕๕๗

(๑๐) ปี ๒๕๖๑ รัฐบาลสปป.ลาว ประกาศให้เป็นปีท่องเที่ยวลาว ซึ่งจะเปิดอย่างเป็นทางการในช่วงงานนมัสการพระธาตุหลวง นครหลวงเวียงจันทน์ ช่วงเดือนตุลาคม ๒๕๖๐ โดยแขวงในเขตอาณาของ สกญ.ฯ กำหนดจัดกิจกรรมส่งเสริมปีท่องเที่ยวลาวที่สำคัญ ได้แก่ งานบุญเสาหลักเมือง ๑๐ ชนเผ่า แขวงเซกอง งานนมัสการวัดพู แขวงจำปาสัก งานนมัสการพระธาตุศรีโคตรบอง แขวงคำม่วน ประเพณีแข่งเรือ แขวงสาละวัน งานนมัสการพระธาตุอิงฮัง แขวงสะหวันนะเขต และงานนมัสการพระเจ้าไซยเชษฐา แขวงอัตตะปือ ซึ่งตรงกับการประกาศให้ปี ๒๕๖๑ เป็น “ปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน” ของไทย โดยคาดว่า ในช่วงปีดังกล่าว จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปมาระหว่างไทย – สปป.ลาว หรือมีการเดินทางเพื่อท่องเที่ยวเชื่อมโยงเพิ่มมากขึ้น

 

หมายเหตุ

  • ประมวลข้อมูลจากรายงานสถิติการท่องเที่ยวของ สปป.ลาว กรมพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรมและท่องเที่ยว สปป.ลาว
  • หนังสือพิมพ์ข่าวสารประเทศลาว, ประจำวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๐, http://kpl.gov.la/detail.aspx?=28264

 

สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต
๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๐

 


 

  • [๑] ๕ ลำดับแรก ได้แก่ ๑. ไทย (ร้อยละ ๔๗) ๒. เวียดนาม (ร้อยละ ๒๓.๕๕) ๓. จีน (ร้อยละ ๑๒.๘๗) ๔. เกาหลีใต้ (ร้อยละ ๔.๐๙) ๕. สรอ. (ร้อยละ ๑.๓๗)