ศรัทธาของแรงงานพลัดถิ่น
การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเป็นปรากฏการณ์หนึ่งของสังคมที่มีมาทุกยุคสมัย นับตั้งแต่มนุษย์รวมกันเป็นสังคมและแสวงหาถิ่นที่อยู่อาศัยและการดำรงชีพ ภาพเหตุการณ์ที่ว่านี้คงเป็นเช่นเดียวการย้ายถิ่นฐานของแรงงานชาวพม่าที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยหากกล่าวถึงการเคลื่อนย้ายถิ่นไทยในประเทศไทยในแง่ประวัติศาสตร์ เราพบหลักฐานการย้ายถิ่นฐานของผู้คนอย่างหลากหลายและต่อเนื่องทั้ง จีน อาหรับ สเปน อินเดีย เป็นต้น ในบางกรณีก็เกิดอาจจะจากการแก่งแย่งดินแดนและในบางกรณีก็เกิดจากการค้าขาย เช่น ช่วงสมัยปี พ.ศ. ๒๓๖๐ เป็นต้นมา การอพยพของชาวจีนที่รัฐไทยเข้าไปทำการค้าร่วมด้วยจนทำให้คนจีนกลายเป็นคู่ค้าสำคัญของรัฐไทยที่ส่งผลให้เกิดการเดินทางเข้ามาของคนจีนอย่างมากในเวลาต่อมา
ในยุครัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล่าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงดำเนินราโชบายรวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ให้เป็นหนึ่งเดียวเพื่อป้องกันการรุกรานจากตะวันตก (Colony) ทำให้เกิดรัฐชาติที่ชัดเจนขึ้น เกิดมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองหลวง และสาธารณูปการณ์ต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นตามลำดับ
จากที่กล่าวมาคงพอทำให้เห็นภาพความเคลื่อนย้ายของผู้คนตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ความหลากหลายของผู้คน เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม อัตลักษณ์ ภาษา ศาสนาในประเทศไทย
แนวปฏิบัติภายในบริบทใหม่
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ประชาคมอาเซียน หรือ AEC ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการทำให้เสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานมีมากขึ้น จากข้อมูลสถิตแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการอนุญาตทำงานในประเทศ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๓ มีแรงงานทั้งหมด ๒,๕๓๑,๓๐๙ คน และคาดว่ามีชาวพม่าในประเทศมากว่า ๒๐๐,๐๐๐ คน กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย จริง ๆ แล้วเราอาจกล่าวได้ว่าการเข้ามาทำงานในประเทศไทยของแรงงานชาวพม่ามีมาก่อนเปิดประชาคมอาเซียนเสียด้วยซ้ำ
จำนวนที่เพิ่มขึ้นของแรงานพม่าส่งผลต่อสังคมไทยอย่างเห็นได้ชัด อย่างเช่น การเปิดโอกาสให้แรงงานพม่าใช้พื้นที่วัดในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่เป็นรากเหง้าของของตนเองได้อย่างเท่าเที่ยมกับคนไทย ดังจะเห็นได้จากป้ายประชาสัมพันธ์กิจกรรม การสร้างอนุสรณ์สถานที่เกิดจากศรัทธาของชาวแรงงานพม่าในวัดต่าง ๆ เช่น ศูนย์กลางชุมชนไทยใหญ่ที่สาธุประดิษฐ์ วัดคลองแห วัดเรืองยศสุทธาราม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และวัดตะล่อม เป็นต้น โดยสถานที่ดังกล่าวมักจะมีกลุ่มชาติพันธุ์ และแรงงานมาทำบุญตามประเพณีและความเชื่ออยู่อย่างสม่ำเสมอ
อย่างเช่นวันนี้เป็นวันหยุดทำงานตามทำเนียมสากล ตรงกับวันอาทิตย์ ที่ ๑๒ เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓ ผ่านวันเข้าพรรษามาไม่เพียงกี่วัน กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรียง มอญ พม่า และปะโอที่ทำงานในบริษัทใกล้เคียงกับวัดเรืองยศสุทธารามได้รวมกลุ่มกันเพื่อมาทำบุญถวายภัตตาหารเพลพระสงฆ์สามเณรที่ศึกษาพระบาลีในสำนักเรียนวัดเรืองยศสุทธาราม
ภาพที่เราเห็นคือกลุ่มแรงงานที่อยู่ในช่วงวัย ๒๐-๓๕ ปี ช่วยกันปรุงอาหารและตระเตรียมสถานที่เพื่อรองรับพระสงฆ์อย่างกระฉับกระเฉงซึ่งสะท้อนถึงความเคารพและศรัทธาของชาติพันธุ์ที่มีต่อพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า
บริเวณพิธีที่ตระเตรียมนี้จัดขึ้นที่ลานโพธิ์ซึ่งเป็นอนุสรณ์ศรัทธาของชาวพม่าทุกชาติพันธุ์รวมบริจาคเงินสร้างถวายวัดเรืองยศสุทธารามโดยวันนี้ลานโพธิ์ได้ถูกปรับให้เป็นสถานที่ตระเตรียมข้าว ปลา อาหาสำหรับถวายพระสงฆ์
โพธิสถานแห่งนี้ยังมีป้ายกำกับว่า “แรงงานพม่าสร้างถวาย” หากมองในทางกายภาพก็เป็นสัญญะที่บ่งบอกถึงตัวตนการมีอยู่ของชาวแรงงานชาติพันธุ์ แม้จะไม่ใช่แผ่นดินมาตุภูมิแต่ก็เป็นเสมือนสิ่งยึดเหนี่ยวว่าในดินแดนใหม่พวกเขาก็มีแผ่นดินในที่แห่งใหม่ (Deterritorialization) โดยแสดงออกการมีตัวตนผ่านประเพณี ความเชื่อ พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนานั่นเอง
แม้จะมีความต่างทางเชื้อชาติ ภาษา แต่การเป็นพุทธศาสนิกชนทำให้กลุ่มแรงงานชาติพันธุ์สามารถสร้างตัวตนในพื้นที่ใหม่ขึ้นได้โดยปราศจากอคติของคนในท้องถิ่น
กิจกรรมที่ถูกจัดขึ้นที่วัดเรืองยศสุทธารามโดยกลุ่มชาติพันธุ์ยังมีอีกมาก เช่น กิจกรรมอาสาในงานประจำปีของวัด ร่วมกิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา และยังรวมกลุ่มกันอาสาทำความสะอาดศาสนสถานของวัด เช่น ล้างห้องน้ำ กวาดลานวัด ปลูกพืชผักสวนครัวทำโรงเพาะเห็ดสนองนโยบายคณะสงฆ์ตามมติมหาเถรสมาคม โครงการวัดประชารัฐสร้างสุข เป็นต้น ทั้งยังร่วมออกโรงทาน ถวายทุนการศึกษาพระสงฆ์ บูรณะต้นโพธิประจำวัดอีกด้วย
สรุป
ปรากฎการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงที่วัดเรืองยศสุทธารามเท่านั้น เราสามารถคาดการณ์ได้จากจำนวนสถิตที่เพิ่มขึ้นของแรงงาชาติพันธุ์พื้นที่ทางศาสนาของกลุ่มแรงงานจะขยายเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนของกลุ่มแรงงานชาติพันธุ์ ความหลากหลายทางอัตลักษณ์นี้เป็นเสน่ห์ของอาเซียนที่ควรส่งเสริมและควรได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน วัด และชุมชน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข บรรลุวิสัยทัศน์อาเซียนที่ว่า “หนึ่งประชาคม หนึ่งวิสัยทัศน์” อย่างสมบูรณ์
พระปลัดอภิเชษฐ์ สุภทฺรวาที
เรียบเรียง
อ้างอิง
กรมการจัดหางาน. (2563). สถิติแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยประจำปี พ.ศ. 2563.กรุงเทพฯ : กรมการจัดหางาน.
ขวัญชีวัน บัวแดง. (2554). พื้นที่ทางศาสนาและการปรับสร้างอัตลักษณ์ของผู้ย้ายถิ่นในพื้นที่ชายแดนไทย – พม่า. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ณัฏฐ์ชวัล โภคาพานิชวงษ์. (2557).การเชื่อม (ข้าม) ถิ่นที่ : ปฏิสัมพันธ์ของผู้คนบนเมืองชายแดนกับการต่อรองความหมายผ่านพื้นที่/ชุมชนทางศาสนาของผู้อพยพข้ามพรมแดนชาวพม่าในจังหวัดระนอง.
อดิศร เกิดมงคล. (2555). แรงงานข้ามชาติชาวปะโอจากพม่าในกรุงเทพฯ : ชีวิตข้ามพรมแดนบนพื้นที่ของอำนาจและการต่อรอง. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
อรัญญาศิริผล. (2548).การพลัดถิ่นกับการกลายเป็นสินค้า : ประสบการณ์ชีวิตของชุมชนไทใหญ่กับการค้าแรงงานในมิติทางสังคมวัฒนธรรมบริเวณชายแดนไทย – พม่า.กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
ออมสิน บุญเลิศ. (2549).การต่อรองและปรับตัวของคนพลัดถิ่น : กรณีศึกษาชาวไทใหญ่พลัดถิ่นในเมืองเชียงใหม่.วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาการพัฒนาสังคมบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
Appadurai, A. (1996). Modernity at Large : Cultural Dimensions ofGlobalization. London : University of Minnessota.
Brickell, K., and Datta, A. (2011). Translocal Geographies. Surrey : Ashgate.