ปิดฉากลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับค่ายยุวชนอาเซียนเพื่อสันติภาพ ครั้งที่ ๒ (ASEAN Youth for Peace Camp) ซึ่งจัดขึ้นโดยโครงการปริญญาโท สาขาสันติศึกษา สถาบันภาษา และศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณ และกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ หลักสูตรเสาหลักแผ่นดินใต้ร่มพระบารมี ช่อง ๑๑ และกรมอาเซียน โดยได้จัดกิจกรรมตั้งแต่วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๗ ถึง ๓ กรกฏาคม ๒๕๕๗ โดยมียุวชนอาเซียนเข้าร่วมทั้งสิ้น ๑๓ ชาติ ประกอบด้วยอาเซียน ๑๐ ประเทศ และจีน เกาหลี และญี่ปุ่น จำนวน ๓๐ คน
จุดประสงค์หลักในการจัดกิจกรรมนี้ เพื่อมุ่งเน้นให้เยาวชนอาเซียน ๑๐ ประเทศ บวก ๓ คือ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น ได้ศึกษา และเรียนรู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ภาษา และชาติพันธุ์ เพื่ออยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างได้อย่างสันติสุข ฉะนั้น กิจกรรมครั้งนี้ จึงดำเนินการภายใต้แนวคิดหลัก (Core Concept) ที่ว่า “เอกภาพในความแตกต่าง” (Unity in Diversity) โดยคณะทำงานได้ออกแบบกิจกรรมให้มีความหลากหลาย เพื่อให้ยุวชนอาเซียนบวกสามได้เข้าถึงปรัชญาหลักในการทำกิจกรรมครั้งนี้ร่วมกัน
กิจกรรมเริ่มต้น คือ การหลอมรวมพลังจากประเทศต่างๆ ให้เป็นหนึ่งเดียว โดยการแสดงวัฒนธรรมอาเซียนบวกสามประกอบแสง สี และเสียง ในเรื่อง “ลมหายใจแห่งเอกภาพ” โดยทีมนักแสดง คิดบวกสิปป์ ผู้ผ่านเวทีรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ และเยาวชนอาเซียนจำนวน ๑๐ ประเทศ บวก ๓ คือ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น จะแสดงร่วมกัน เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของลมหายใจแห่งเอกภาพ แม้ผืนน้ำกางกั้น พรมแดนเป็นเพียงสิ่งสมมติ สายลมแห่งความเป็นหนึ่ง จะพัดพรูถึงกันและกันเชื่อมใจเข้าหากัน เป็นลมหายใจเดียวกัน …ลมหายใจแห่งเอกภาพ การแสดงจะสะท้อนความเป็น Unity in Diversity “เอกภาพในความต่าง” ทางด้านภาษา ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ สังคม ขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรม ของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียน
ด้านยุวชนสันติภาพอาเซียนนั้น ได้นำยุวชนอาเซียนไปทำกิจกรรมภาคสนามช่วงบ่ายของวันที่ ๒๘ มิ.ย. โดยเดินทางไปที่ศูนย์การท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อค้นหาสันติภาพด้วยการวาดภาพ (Art for Peace) เริ่มจากล่องเรือและทานอาหารร่วมกันรอบเกาะ สนทนาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมภาพภายนอกสะท้อนภาพภายใน นั่งวาดภาพแห่งความทรงจำ เขียนสันติภาพภายในใจ ชื่อภาพว่า “ต้นไม้แห่งสันติภาพ” น้อมกิ่งก้านเพื่อสร้างความร่มเย็นแก่เจดีย์ ประดุจดังการใช้ทุกวินาทีแห่งลมหายใจเพื่อส่งต่อสันติสุขแก่เพื่อนร่วมโลก
หลังจากนั้น ตั้งแต่วันที่ ๒๘ ถึง ๒ กรกฏาคม ๒๕๕๗ โครงการฯ ได้นำยุวชนอาเซียนได้ลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้และสัมผัสกับวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของความเป็นจริงในพื้นที่บ้านท่าคอยนาง ต.สวาย อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ จุดประสงค์เพื่อให้ยุวชนได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง การเข้าถึงปรัชญาของการปลูกข้าวที่สอดรับกับโลโก้ของอาเซียนที่มัดรวงข้าว เป็นรวงเดียวเกลียวกลมเป็น ๑๐ รวง การสอนหนังสือเด็กนักเรียน การเล่นกีฬา การทำบุญตักบาตร การสวดมนต์เพื่อสันติ การภาวนา และเดินธรรมยาตราเพื่อสันติ รวมไปถึงการแสดงเพื่อแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่าง ๑๐ ชาติ กับประชาชน และเยาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ทั้งเขมร ลาว และกูย
ตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดูงานเศรษฐกิจพอเพียง
โครงการฯ ได้พายุวชนเข้าเยี่ยมชม และชิมไร่นาสวนผสมของนางเหลือง เกษตรกรพอเพียงชื่อดังของอำเภอปรางค์กู่ ที่ดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพีย เธอย้ำเสมอว่า ปลูกเอาไว้กิน และแบ่งปันเหลือจาน หลังจากนั้นได้นำไปขายในท้องตลาด ได้เงินมาส่งลูกหลานเรียนหนังสือ ทำให้ยุวชนอาเซียนสามารถเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ตัวเองประสบใน ประเทศของตัวเอง บทเรียนเหล่านี้จะให้เกิดคุณูปการต่อการชีวิตของเด็กเหล่านี้ต่อไป
วันที่ ๒๘ มิ.ย.ได้พายุวชนอาเซียนเพื่อสันติภาพเดินทางไปที่บ้านท่าคอยนาง ต.สวาย อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ มีผู้นำส่วนราชการ ผู้นำชุมชน และชาวบ้านผู้สูงอายุจะอยู่ประจำหมู่บ้านให้การต้อนรับ โดยวันที่ 29 มิ.ย. ทำพิธีเปิดกิจกรรมมอบอุปกรณ์กีฬาให้แก่เด็กนักเรียน กราบผู้สูงอายุในหมู่บ้าน และสนทนาเพื่อรียนรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับวัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่แตกต่าง เพื่อน้อมนำไปสู่การปฏิบัติในวิถีชีวิตต่อไป
ร้อมทั้งได้พายุวชนเดินเยี่ยมชมหมู่บ้านเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรม ที่แตกต่าง และโชคดีที่ได้มีโอกาสพบปะ “ปููสีทา” หมอแคนที่ดังมากที่สุดในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เด็กๆ จึงได้สนุนสนานกับแคนที่ปู่สีทาได้ขับขาน จนเด็กๆ ไม่สามารถยืนนิ่งๆ ได้ จึงพากันฟ้อนรำด้วยความสนุนสนานด้วยอานุภาพของเสียงแคนแห่งสันติสุข
เข้าสู่วันที่ ๓๐ มิ.ย. ได้ทำกิจกรรมรับอรุณท่ามกลางสายฝนโปรยปราย ร่วมสร้างสันติภายในด้วยการทำวัตรเช้า สวดมนต์เพื่อสันติ ภาวนาเพื่อสันติ และแผ่เมตตาให้แก่มวลมนุษยชาติที่รักสุขเกลียดกลัวความทุกข์ให้สามารถอยู่ ร่วมกันอย่างสันติสุข มนุษย์ไม่ว่าจะเป็นชาติใด ภาษาใด ศาสนาใด ล้วนสามารถเข้าถึงความสุขภายในได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ความสุขภายในเป็นความสุขที่ไม่มีเงื่อนไข และไม่มีบุคคลใดสามารถแย่งชิงไปได้จากใจของเรา
พร้อมกับชาวบ้านร่วมกันทำบุญตักบาตรในยามเช้า วัฒนธรรมพื้นบ้านของชาติพันธุ์กูย เขมร และลาวในการเริ่มต้นทำสิ่งดีงามคือ การใส่ซิ่นไหม และผ้าโสล่งไหมทำบุญตักบาตรเพื่อความเป็นสิริมงคล ยุวชนเหล่านี้จึงได้มีโอกาสใส่ชุดเหล่านี้โดยชาวบ้านได้มอบเป็นของขวัญ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ทรงคุณค่าที่ยุวชนเหล่านี้ได้เรียนรู้วัฒนธรรมสวมใส่ และวัฒนธรรมการทำบุญอย่างมีความสุข
หลังจากนั้นได้ร่วมกันถอนกล้าและดำนา เพื่อเข้าใจและเรียนรู้ถึงความสำคัญเกี่ยวกับเมล็ดข้าวเมล็ดเดียวนำไปสู่ ความกลมเกลียวของอาเซียนจนกลายเป็นข้าว ๑๐ รวงได้อย่างไร ยุวชนเหล่านี้เข้าใจถึงที่มาของข้าวที่อยู่ในหม้อทุกเช้าที่ตัวเองรับประทาน อีกทั้งเข้าใจวิถีอาเซียนที่เป็นวิถีแห่งเกษตรกรรมที่เป็นจุดแข็งของอาเซียน มาช้านาน เชื่อมั่นว่า เมื่อเห็นเมล็ดข้าวครั้งใด ยุวชนเหล่านี้จะกลับมาตระหนักรู้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น อันเป็นผลจากการที่แต่ละคนได้ลงพื้นที่ทำนาด้วยมือของตัวเอง
ช่วงบ่ายได้ไปที่ที่อาคารหอประชุมของโรงเรียนบ้านท่าคอยนางผ่านการใช้งานมา หลายปี อีกทั้งน้ำท่วมใหญ่เมื่อปีที่แล้ว จึงทำให้สีลอกออกเป็นจำนวนมาก จากความจำเป็นดังกล่าว ยุวชนอาเซียนเพื่อสันติภาพจึงได้ร่วมกันตั้งใจทาสีโรงเรียนอย่างมีความสุข เพื่อคืนอาคารหอประชุมหลังใหม่ให้แก่หนูๆ เด็กนักเรียนได้ใช้ประโยชน์ต่อไป
สู่ขวัญและแสดงวัฒนธรรมก่อนร่ำลา
ตกตอนเย็นมีพิธีสู่ขวัญ เพื่อส่งขวัญ และรำจองไดก่อนผูกข้อต่อแขนให้ยุวชนอาเซียนมาดีมีชัยกลับไปมีสุข ก่อนที่จะเข้าสู่บทสรุปสุดท้ายคือการแสดงเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่าง ศิลปะการแสดงประเพณีท้องถิ่นกับวัฒนธรรมการแสดงของยุวชนในประชาคมอาเซียน ๑๐ ประเทศ บวก จีน เกาหลี และญี่ปุ่น เอกภาพในความแตกต่างได้สะท้อนวัฒนธรรมการแสดงอย่างประสานสอดคล้อง
แม้ยุวชนในอาเซียนกับยุวชนในท้องถิ่นจะมีความแตกต่างทางวัฒนธรรม และวัฒนธรรมเหล่านี้ได้รับการเชื่อมโยงด้วยพลังของการแสดงออกอย่างมีเอกภาาพ ท่ามกลางรอยยิ้ม และความสันติสุขอันเกิดจากความรักในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่แต่ละฝ่าย เฝ้าถักทอและมอบให้แก่กันและกันด้วยหัวใจความเป้นมนุษย์
สวดมนต์เพื่อสันติภาพบริเวณผามออีแดงใกล้พระวิหาร
รุ่งเช้าของวันที่ ๑ ก.ค.ได้พายุวชนอาเซียนเพื่อสันติภาพเดินทางไปที่ผามออีแดงใกล้ปราสาทเขาพระ วิหาร ซึ่งสถานที่และดินแดนแห่งนี้ เคยเป็นดินแดนแห่งความขัดแย้งและสงคราม จนนำไปสู่ความสูญเสียทรัพย์สิน และชีวิตของประเทศทั้งสองที่เป็นญาติ เป็นพี่เป็นน้องของกันและกัน ยุวชนอาเซียนเพื่อสันติภาพล้วนเข้าใจอย่างแจ่มชัด และตระหนักรู้ประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดของประเทศทั้งสองเป็นอย่างดี จึงได้ร่วมกันสวดมนต์เพื่อสันติภาพ ณ ดินแดนอันงดงามแห่งนี้ โดยมีพี่ๆ ตำรวจ ตชด. นำโดยหมวดวีรชัยให้การต้อนรับ และดูแลตลอดการศึกษาดูงาน
ยุวชนจากประเทศกัมพูชาทั้งสอง คือ “ปัญญา กับวุฑฒา” ได้ถามไถ่ในประเด็กนี้อย่างน่าสนใจ เพราะทั้งสองแม้จะทราบดีถึงข้อขัดแย้ง แต่นี้เป็นครั้งแรกที่เด็กทั้งสองได้ข้ามฝั่งมาเยือนอีกฝากหนึ่งของประเทศ กัมพูชา ทั้งสองพูดตรงกันว่า เมื่อมองจากฝากของกัมพูชาทำให้ไม่เข้าใจทั้งความรู้สึก และดินแดนของประเทศไทย และชาวไทยอย่างชัดแจ้้ง แต่เมื่อมาอยู่ฝากของคนไทยและประเทศไทย ทำให้เข้าใจความรู้สึกของคนไทยมากยิ่งขึ้น เชื่อมั่นว่า จากการพูดคุยกับพี่ๆ ตชด. จะทำให้ยุวชนทั้งสองของกัมพูชา และประเทศอาเซียนอื่นๆ รวมถึงจีน เกาหลี และญี่ปุ่นมีโลกทัศน์ต่อความขัดแย้งในดินแดนนี้อย่างรอบด้าน และเป็นไปในเชิงบวกมากยิ่งขึ้น
ก่อนเดินทางไปดูประสาทหินพนมรุ้ง เด็กๆ ยุวชนอาเซียนได้ร่วมกันสวดมนต์เพื่อสันติภาพ อีกทั้งแผ่เมตตาให้พี่น้องของทั้งสองประเทศสามารถหาทางออกกของความขัดแย้ง โดยใช้สันติวิธีตามมิติของศาลโลก และตามกรอบของกฎบัตรอาเซียนที่เน้นให้ใช้สันติวิธีเป็นเครื่องมือในการแก้ไข ความขัดแย้งและความรุนแรงในประชาคมอาเซัยนต่อไป เพื่อให้ดินแดนแห่งนี้เป็นดินแดนสันติสุขของกลุ่มสองประเทศ เพื่อต้อนรับการเข้าสู้ประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ ต่อไป
กิจกรรมสำคัญภายหลังจากการเข้าร่วมกิจกรรมตลอดสัปดาห์ คือ การถอดบทเรียนด้านสันติภาพที่ยุวชนได้สัมผัสและเรียนรู้ประเด็น “เอกภาพในความแตกต่าง” กิจกรรมสำคัญในการถอดบทเรียนคือ “กิจกรรมภาวนาเสวนา” (Insight Dialogue Meditation) ณ บริเวณปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ ของวันที่ ๑ กรกฏาคม ๕๗ ก่อนกลับกรุงเทพฯ พาเด็กๆ ยุวชนอาเซียนเพื่อสันติภาพทำกิจกรรม “ภาวนาเสวนา” (Insight Dialogue Meditation) จุดเริ่มต้นของภาวนาเสวนาคือการเตรียมใจของผู้ฟังและผู้เล่าให้รู้ ตื่น และเบิกบาน ท่ามกลางจิตใจที่สงบเงียบประสบกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งเดียว เด็กๆ แต่ละคนจึงมีความพร้อมที่จะเปิดใจเล่า และพร้อมที่จะเปิดใจรับฟังเรื่องราวต่างๆ อย่างมีสติ น้อมใจฟังเพื่อนๆ ที่มีความเชื่อและอุดมการณ์ที่แตกต่างอย่างมีขันติ มุ่งมั่นและตั้งใจที่จะเรียนรู้และเข้าใจเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติ
ผลจากการภาวนาเสวนาตลอด ๒ ชั่วโมง ทำให้เด็กยุวชนอาเซียนบวกสามเปิดใจ เรียนรู้ และเข้าใจมิติของความคิด และผลสะท้อนที่ได้รับจากการอยู่ร่วมกันตั้งแต่วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๕๗ พบว่า ธรรมะที่เด็กๆ ได้รับมาตลอดชีวิตนั้นได้รับการนำสู่ภาคปฏิบัติจริง ในสถานการณ์จริง เพราะเด็กเกือบทั้งหมดไม่เคยดำนามาก่อน การสัมผัสดินมิใช่สิ่งที่ต่ำต้อยด้อยค่า หากแต่ทำให้เข้าใจบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นชาวนามากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับวิถี ชีวิตที่ทรงคุณค่าโดยการหยิบยื่นท้องให้แก่พลเมืองของโลก
เจพฟ์ ยุวชนจากประเทศสิงค์โปร์มองว่า การเดินทางมาครั้งนี้โดยการทาสีโรงเรียนนั้น มิได้หมายถึงการทาเฉพาะสีเท่านั้น หากแต่พวกเราได้ร่วมกันแต่งแต้มสีสรรค์แห่งความรัก ความหวัง และแรงบันดาลใจให้แก่เด็กๆ นักเรียนในโรงเรียน เพราะทำให้เด็กๆ ในโรงเรียนได้เห็นว่า เขาเหล่านี้มิได้เป็นคนที่ถ้อยศักยภาพ และความสามารถ เด็กเหล่านั้นเต็มไปด้วยโอกาสมากมาย เริ่มแรกของการเดินทางมาโรงเรียน เด็กยุวชนมองว่าตัวเองจะเดินทางไปให้แรงบันดาลใจแก่เด็กๆ แต่กลายเป็นว่าเด็กๆ ในชนบทได้ให้กลายเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่แก่ยุวชนอาเซียนว่า เขาเหล่านี้มีโอกาสดีกว่าเด็กๆ เหล่านี้ และเพราะเหตุใดจึงไม่ใช้โอกาสที่มีสร้างสรรค์สิ่งดี และงดงามแก่คนอื่นๆ ในสังคม
ในขณะที่เควิน เด็กหนุ่มจากมาเลเซียมองว่า วันนี้เขาเข้าใจความหมายของคำว่า “บ้าน” อย่างแท้จริง เพราะคำว่าบ้านนั้นมิได้หมายถึงต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำงาน ต่างคนต่างไร้ซึ่งความรักและปรารถนาดีต่อกัน คำว่า “บ้าน” ที่เขาค้นพบในบ้านท่าคอยนางที่เข้าไปพักอยู่กับครอบครัวต่างภาษา และวัฒนธรรม และรวมไปถึงชาวบ้านนั้น เป็นบ้านที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น เต็มไปด้วยการห่วงหาอาทร เต็มไปด้วยความรักและปรารถนาดี และพร้อมจะหยิบยื่นสิ่งดีๆ ให้ในทุกวินาทีที่มีโอกาส
เด็กยุวชนเหล่านั้น ยังระลึกนึกถึง “สวนอาเซียน” (ASEAN Park) ที่เขาได้ปลูกต้นไม้ร่วมกันในพื้นที่เกือบ ๑ ไร่ของโรงเรียนบ่านท่าคอยนาง อีกทั้งระลึกถึงไมตรีที่งดงาม รอยยิ้ม และความเอื้ออาทรที่ได้รับตลอด ๓ วัน เฮเลนจากเวียดนามเสนาว่า “พวกเราทุกคนคนจะจับกลุ่มกันเอาไว้ ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด ๑๐ ปี หรือมากกว่านั้น พวกเราควรนัดกันสักวันโดยการพาเพื่อนๆ พาลูกๆ พาพ่อแม่ มาเยี่ยมสวนอาเซียน รวมไปถึงการเดินทางกลับมาหาพ่อแม่ของพวกเราดังแนวทางที่ได้รับการตอกย้ำจาก โครงการว่า “พวกเราคือครอบครัวเดียวกัน” คนในหมู่บ้านรอการมาเยือนของลูกหลานเช่นพวกเราตลอดเวลา ๖๐ ปีของการสร้างหมู่บ้าน การพบครั้งนี้จึงมิใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้าย และจะกลายเป็นครั้งต่อๆ ไปอย่างไม่จบสิ้น
บัดนี้ โครงการยุวชนอาเซียนเพื่อสันติภาพได้ปิดตัวลงไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ยุวชนได้นำเสนอบทเรียนดังกล่าวให้แก่ประชาชนชาวไทยทั่วไปได้ทราบถึงแง่มุม และคุณค่าที่ได้รับจากการร่วมกิจกรรมดังกล่าว ผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง ๑๑ ทั้งสองรายการ คือ รายการถอดสลักข่าว และรายการปรองดองเพื่อชาติ ซึ่งเป็นการนำเสนอในประเด็นที่เกี่ยวกับยุวชนอาเซียนกับการสร้างความร่วม มือ และความปรองดองในสหัสวรรษใหม่
การบ่มเพาะสันติภาพภายในมีเป้าหมายสร้างเอกภาพบนความแตกต่างของนิสิตสันติ ศึกษา”มจร”และยุวชนสันติภาพอาเซียนจากกิจกรรมต่างๆดังกล่าว คงจะเป็นจุดประกายในการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมไทยและอาเซียนได้อย่างยั่งยืนต่อไป รายละเอียดในการทำงานด้านสันติภาพ ขอเชิญศึกษา และเยี่ยมชมรายละเอียดได้ที่โครงการปริญญาโท สาขาสันติศึกษา www.ps.mcu.ac.th
…
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร.
ผู้เขียน