ศูนย์อาเซียนศึกษากับการพัฒนาเยาวชนอาเซียน
โดย มุกรวี ฉิมพะเนาว์
โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านการบริหารงานทางพระพุทธศาสนา ประจำปีงบประมาณ 2562 ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้นำคณะผู้บริหาร คณาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยจากส่วนกลาง วิทยาเขตและวิทยาลัยสงฆ์จำนวนทั้งสิ้น 11 รูป/คน เดินทางไปยังโรงเรียน SYI หรือ School of Youth Improvement หรือให้ชื่อภาษาไทยว่า โรงเรียนยุวพัฒน์ SYI เมืองเชียงตุง สหภาพเมียนมาร์เพื่อทำกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาหลักสูตรการเรียนภาษาอังกฤษให้แก่เด็กนักเรียนที่นั่น
สำหรับโรงเรียนยุวพัฒน์ SYI เป็นโรงเรียนเอกชนที่จัดการเรียนการสอนภาคภาษาอังกฤษ ก่อตั้งในปีค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) โดยพระภิกษุชาวไทใหญ่ คือ Venerable Zaw Ti Ka ท่านเป็นทั้งผู้ก่อตั้งและเป็นเจ้าอาวาส โดยโรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่ที่วัดยางปู (Yang Boo Monastery) เมืองเชียงตุง รัฐฉาน สหภาพเมียนมาร์ เป็นโรงเรียนกินนอนหรือโรงเรียนประจำ นักเรียนจะต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเหมือนเป็นพี่น้อง นักเรียนทุกคนจะต้องแบ่งกลุ่มผลัดเวรประจำวัน ช่วยกันรับผิดชอบในเรื่องของการทำความสะอาด การทำอาหาร ปลูกผัก ให้อาหารสัตว์และเรียนหนังสือร่วมกัน เวลาว่างของเด็กๆ จะทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เล่นฟุตบอล เล่นดนตรี ร้องเพลง หรือจับกลุ่มอ่านหนังสือ โดยการเรียนที่นี่แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ การเรียนด้านวัฒนธรรมไต หรือภาษาไต วัฒนธรรมประเพณีชีวิต รวมไปถึงเอกลักษณ์ของคนไต หลักสูตรมีระยะเวลา 8 เดือนและใช้การสื่อสารภาษาอังกฤษตลอดหลักสูตร ซึ่งตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียน มีนักเรียนที่เข้าเรียนและจบหลักสูตรจากโรงเรียนแห่งนี้มาแล้วมากกว่า 1,090 คน โดยแนวทางการจัดการศึกษาของท่านเจ้าอาวาสได้เน้นในเรื่องของคุณภาพทั้งการอ่าน การเขียนและการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ
ศูนย์อาเซียนศึกษา รู้จักโรงเรียนแห่งนี้จาก ท่านจ้าว คำแลง พระภิกษุไทใหญ่ที่เข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปัจจุบันท่านสำเร็จการศึกษาแล้วและได้ใช้ความรู้ที่ได้ศึกษากลับไปพัฒนาบ้านเกิด อีกคนหนึ่งคือมอนแก้ว หญิงสาวชาวไทใหญ่ที่มีความสามารถทางด้านภาษา มอนแก้วสามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ จีน พม่าและไทย และคุณครู Kham Kyar ซึ่งเป็นผลิตผลของโรงเรียน SYI และเป็นผู้สอนในปัจจุบัน จากคำบอกเล่าของทั้งสามท่าน ทำให้ศูนย์อาเซียนศึกษาเกิดความคิดที่จะร่วมพัฒนาหลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อเป็นการพัฒนาเยาวชนที่โรงเรียนแห่งนั้น โดยถือเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของศูนย์อาเซียนศึกษา ที่มีหน้าที่บริการวิชาการ วิจัย พัฒนา และสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาและอาเซียน การพัฒนาหลักสูตรภาษาอังกฤษให้แก่เยาวชนในโรงเรียน SYI นี้ ถือเป็นการพัฒนาเยาวชนอาเซียนในรัฐฉาน สหภาพเมียนมาร์ ประเทศสมาชิกอาเซียนและเพื่อนบ้านของไทยที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกันมาอย่างยาวนาน ศูนย์อาเซียนศึกษา แม้จะเป็นหน่วยงานเล็กๆ แต่ก็ต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยประชาคมอาเซียนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน จึงได้นำโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านการบริหารงานทางพระพุทธศาสนาและการวิจัยเป็นฐานในการจัดกิจกรรมด้วยการเชิญผู้บริหารระดับต้นและระดับกลาง คณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย มาร่วมกันระดมความคิดและแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนภาษาอังกฤษให้แก่โรงเรียน SYI แห่งนี้
จากการระดมความคิด ศูนย์อาเซียนจึงได้ข้อสรุปในการจัดโครงการในรูปแบบของการจัดกิจกรรมการเรียนภาษาอังกฤษควบคู่ไปกับการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมอาเซียน ในหัวข้อ A Workshop Project of Cross Cultural Administration: A Case Study of Keng Tung, Union of Myanmar หรือแปลเป็นไทยว่า กิจกรรมเชิงปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการข้ามวัฒนธรรม: กรณีศึกษาเมืองเชียงตุง สหภาพเมียนมาร์ ระหว่างวันที่ 19 – 23 มีนาคม 2562 ซึ่งก่อนเดินทางไปจัดกิจกรรม ดร.ลำพอง กลมกูล ผู้อำนวยการส่วนวิจัยสารสนเทศและบริการวิชาการ ศูนย์อาเซียนศึกษา ได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่ เก็บข้อมูล ประสานงานและพูดคุยกับคุณครูและนักเรียนที่นั่นมาก่อนแล้ว จึงทำให้การจัดโครงการและสานต่อกิจกรรมดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น
ผู้บริหาร คณาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เดินทางไปยังโรงเรียน SYI จากด่านแม่สาย จังหวัดเชียงราย ข้ามฝั่งไปยังท่าขี้เหล็ก สหภาพเมียนมาร์ การเดินทางใช้รถตู้จำนวน 1 คัน จากท่าขี้เหล็ก เดินทางต่อไปยังเชียงตุง ใช้เวลาประมาณ 4-5 ชั่วโมง เส้นทางถนนมีความคดเคี้ยว ลัดเลาะไปตามภูเขา ระหว่างทางพบด่านตรวจของทหารเมียนมาร์และหมู่บ้านอยู่เป็นระยะๆ ได้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในแบบชาวเมียนมาร์และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ทั้งนี้ การเดินทางของทีมงานเป็นไปอย่างราบรื่นเนื่องจากมีมอนแก้วเป็นผู้อำนวยความสะดวกด้านการเดินทางและประสานงานวิทยากรท้องถิ่นให้เป็นผู้ดูแลทีมงาน เนื่องจากทางคณะได้เดินทางไปแบบนักท่องเที่ยวซึ่งตามระเบียบการเดินทางเข้าไปยังเมียนมาร์กำหนดให้การเดินทางในลักษณะนี้ต้องทำการจ้างวิทยากรท้องถิ่นในระหว่างการเดินทางด้วย ทีมงานเดินทางถึงเมืองเชียงตุงในช่วงเย็นของวันที่ 19 แม้ว่าฟ้าจะค่อนข้างมืดแล้ว แต่ก็ยังเห็นได้ถึงรูปแบบของสถาปัตยกรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วมีส่วนคล้ายกับทางภาคเหนือของประเทศไทย
“เชียงตุง เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในรัฐฉานของสหภาพเมียนมาร์ เป็นเมืองของชาวไทเขินและชาวไทใหญ่ ถือได้ว่าเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองเทียบเท่ากับเมืองเชียงใหม่แห่งอาณาจักรล้านนาไทย และเมืองเชียงรุ่งแห่งสิบสองปันนา ชาวไทใหญ่เรียกชื่อเมืองนี้ว่า เก๋งตุง”
ในอดีตเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางการค้าเชื่อมต่อระหว่างสิบสองปันนากับล้านนาและมีพ่อค้าชาวจีนฮ่อเดินทางค้าขายในเส้นทางนี้ เชียงตุงได้รับสมญานามว่าเมืองแห่ง 3 จอม 9 หนอง 12 ประตู โดย เมืองแห่ง 3 จอมนั้น คำว่าจอม หมายถึง เนินเขา ประกอบด้วย จอมทองหรือจอมคำ ที่ตั้งของวัดพระธาตุจอมคำ จอมมน ที่ตั้งของพระธาตุจอมมน และจอมสัก เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวเขาเผ่าอีก้อ ส่วน 9หนองนั้น ก็คือหนองน้ำในเมืองเชียงตุงนั่นเอง ได้แก่ หนองตุง หนองโตง หนองเย หนองแล้ง หนองยาง หนองโป่ง หนองเข้ หนองไค้และหนองตาช้างสุดท้ายคือเมืองแห่ง 12 ประตูนั้น มาจากประตูเมืองในเชียงตุง ได้แก่ ประตูป่าแดง ประตูเชียงลาน ประตูง่ามฟ้า ประตูหนองผา ประตูแจ่งเมือง ประตูยางคำ ประตูหนองเหล็ก ประตูน้ำบ่ออ้อย ประตูยาง ประตูไก่ให้ม่าน ประตูผายั้ง ประตูป่าม่าน แต่ในปัจจุบันเหลือเพียง 2 ประตู คือประตูป่าแดงและประตูหนองผา นอกจากนี้ ตามตำนานและประวัติศาสตร์นั้น เชียงตุงกับล้านนามีความเกี่ยวเนื่องและผูกพันกันอย่างใกล้ชิดจนแทบแยกไม่ออก เพราะผู้ทรงสถาปนาอาณาจักรล้านนาและเขมรัฐนครเชียงตุงนั้นก็คือพระญามังราย จึงส่งผลให้ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และอุปนิสัยของชาวไทเขินซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ในเชียงตุงกับชาวไทยวนของล้านนามีความคล้ายคลึงกัน โดยชาวไทเขินใช้อักษรไทเขิน พระสงฆ์จะจารอักษรไทเขินลงบนใบลานหรือที่เรียกว่า “พับสา” ถือเป็นภาษาที่ 1 ของชาวไทเขินไม่ว่าจะเขียนหรือพูด และอาจจะมีศัพท์เฉพาะของไทใหญ่ปะปนด้วย เมืองเชียงตุงมีสินค้าของจีนแดงเข้ามาวางขายรวมกับสินค้าท้องถิ่นที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนสภาพบ้านเรือนจะนิยมสร้างบ้านชั้นเดียว มีกาแลหรือแปพ๊ะเพื่อความเป็นสิริมงคลและทุกบ้านจะมีไม้ดับเพลิงที่ใช้ตีให้ไฟดับเมื่อเกิดอัคคีภัยร่วมกับการใช้น้ำสาดอยู่ที่หน้าบ้านทุกหลัง สิ่งนี้ถือเป็นภูมิปัญญาอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวเชียงตุง
กลับมาที่การพัฒนาหลักสูตรภาษาอังกฤษของโรงเรียน SYI สาระสำคัญในภาพรวมคือ ลักษณะของการพัฒนาหลักสูตรที่จะมุ่งไปที่เป้าหมายของหลักสูตร สมรรถนะที่สำคัญและขอบเขตเนื้อหาอันเป็นกรอบในการพัฒนาหลักสูตร การจัดการศึกษาของโรงเรียน SYI ได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ผู้บริหาร ครูและนักเรียนในฐานะผู้ใช้หลักสูตรจึงได้ทบทวนและร่วมคิดเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาหลักสูตร จากการแลกเปลี่ยนความคิดจึงเป็นที่มาของการพัฒนาหลักสูตรที่ไม่ใช่การสอนตามหนังสือในแบบเดิม แต่ต้องเน้นไปในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์หรือพัฒนาคนในศตวรรษที่ 21 ด้วยภาษา โดยเฉพาะการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อพัฒนาเยาวชน มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชน ซึ่งการลงทุนในคนผ่านการศึกษานับเป็นการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ ความรู้ที่สั่งสมอยู่ในคนเหล่านี้จะเป็นกลไกที่ทำให้เกิดการพัฒนาในอนาคต ทั้งนี้ ทางคณะทีมงานได้เดินทางไปยังวัดยางปู (Yang Boo) อันเป็นที่ตั้งของโรงเรียน ด้วยการต้อนรับของท่านจ้าว คำแลง และคุณครู Kham Kyar ศูนย์อาเซียนศึกษาได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้แก่นักเรียนของโรงเรียน SYI ในรูปแบบของการเล่นเกม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในลักษณะ Learning and Sharing ควบคู่ไปกับการสอดแทรกเนื้อหาด้านวัฒนธรรม เกร็ดความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนและพระพุทธศาสนาให้กับเด็กๆ ผลจากการจัดกิจกรรมคือเด็กนักเรียนมีความสนใจ มีความกระตือรือร้นและสนุกสนานกับการเรียนภาษาอังกฤษ และสามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริง นับได้ว่าเป็นสิ่งยืนยันในเรื่องของประสิทธิภาพของการปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้เรียนทั้งคนไทใหญ่ในเชียงตุงและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง การจัดโครงการในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของศูนย์อาเซียนศึกษา ที่นอกจากจะได้ทำตามพันธกิจหลักในการบริการวิชาการแล้ว ยังได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประชาคมอาเซียนต่อไปในอนาคต ซึ่งศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หน่วยงานเล็กๆแห่งนี้จะขอเป็นผู้สนับสนุนและขอร่วมเป็นอีกหนึ่งแรงในการให้บริการวิชาการ วิจัย พัฒนาสารสนเทศน์และองค์ความรู้ทางพระพุทธศาสนาและประชาคมอาเซียนให้แก่พลเมืองของประเทศสมาชิกอาเซียนต่อไปตามโอกาสเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด