จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและการใช้ชีวิตประจำวัน หลายธุรกิจต้องปิดกิจการลงหรือปรับเปลี่ยนช่องทางการดำเนินงานเป็นรูปแบบ work from home เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อด้วยการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานโดยไม่ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง สิ่งเหล่านี้เป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีที่มีบทบาทต่อการดำรงชีวิตมากยิ่งขึ้น ผลกระทบและมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคไทย ธุรกิจขายของออนไลน์ หรือ ecommerce เข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงปรับเปลี่ยนวิธีการค้าโดยเข้าสู่ตลาดออนไลน์ ทั้งการขายออนไลน์ การโปรโมทร้านค้าและสินค้าผ่านสื่อ โซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Instagram ซึ่งจะเป็นตัวช่วยให้ผู้บริโภคได้มองเห็นร้านค้าหรือสินค้าของตนและเป็นหนทางที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตและอยู่รอดได้ ภายใต้ความเป็นกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื่อไวรัส Covid-19 นี้จะเห็นได้ว่าธุรกิจที่กำลังเป็นที่นิยมและเริ่มขยายตัวมากขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ สินค้าอุปโภคบริโภคและธุรกิจอาหารแบบ Food delivery ที่ผู้บริโภคสามารถสั่งอาหารผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ เช่น Grab Food, Lineman และ Food Panda เป็นต้น
ผลกระทบจาก Covid-19 นี้ ทำให้เกิดภาวะการชะงักงันทางเศรษฐกิจ ประชาชนมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นแต่มีรายได้คงที่หรือลดลง ประชาคมชาวมหาจุฬาเองก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤติในครั้งนี้ จึงเกิดแนวคิดในการจัดตั้งกลุ่ม “MCU Market Place : ตลาดนัด มจร” ขึ้นเพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้และช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจให้แก่ชาวประชาคมมจร
คุณธนิศร์ มีชื่อ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กองแผนงาน สำนักงานอธิการบดี มจร หนึ่งในทีมงานผู้ก่อตั้ง MCU Market Place ได้กล่าวถึงจุดประสงค์ในการจัดตั้งกลุ่มตลาดนัดออนไลน์ก็เพื่อเป็นช่องทางการหารายได้เสริมให้แก่ประชาคมชาวมจร ด้วยการใช้ Social media เพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์สินค้า โดยบางส่วนมีร้านค้าของตนเองอยู่แล้วแต่ขาดการประชาสัมพันธ์ กลุ่ม MCU Market Place จะเป็นช่องทางในการอำนวยความสะดวกในการซื้อ-ขายสินค้าได้มากขึ้น สินค้ายอดนิยมในกลุ่มจะเป็นสินค้าด้านอาหาร ขนมหวาน เครื่องดื่ม รองลงมาคือสินค้าด้านความงามและสินค้าเบ็ดเตล็ดทั่วไป โดยใช้วิธีการ Pre- order แล้วจึงจัดส่งสินค้าตามรายการ ซึ่งมีความสะดวกเนื่องจากผู้รับสินค้าอยู่ภายในองค์กรเดียวกัน
“ในระยะเริ่มแรก กลุ่มเป้าหมายจะเริ่มจากชาวมจร ส่วนกลางก่อนและจะขยายไปสู่ชาวมจรที่อยู่ตามวิทยาเขตและวิทยาลัยสงฆ์ทั่วประเทศ เพื่อสร้างเป็นเครือข่ายทางการค้าและขยายช่องทางการตลาดให้ครอบคลุมมากที่สุด สำหรับตอนนี้สิ่งที่ต้องเร่งในการปรับปรุง MCU Market Place คือการทำกราฟฟิคและการโปรโมตกลุ่มให้มีความน่าสนใจ การมีส่วนร่วมของบุคลากร หน่วยงานต่างๆในมจร รวมถึงการวางแผนการตลาดให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน”
คุณธนิศร์ ยังกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “กลุ่ม MCU Market Place นี้ต้องการให้บุคลากรชาวมจร ได้ค้นหาตนเอง เปิดโอกาสให้กับตนเองได้พัฒนาฝีมือ พัฒนาและใส่ใจคุณภาพของสินค้า และใช้ช่องทางนี้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่ตามกระแสแต่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง เพราะจุดมุ่งหมายของกลุ่มต้องการพัฒนาและขยายให้เป็นเครือข่ายการตลาดออนไลน์ในระดับประเทศ”
อย่างไรก็ตาม ช่องทางการตลาดออนไลน์ในสถานการณ์วิกฤติ Covid-19 และการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่หรือ New Normal ที่เปิดโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้าหน้าใหม่ได้พัฒนาตนเอง แต่สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงนอกจากกลยุทธ์หรือแผนการตลาดที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคแล้ว ยังต้องคำนึงถึงคุณภาพของสินค้าและความใส่ใจในการบริการ เนื่องจากภายใต้สภาวะ New normal แม้จะกระตุ้นให้การค้าออนไลน์เป็นที่นิยมและมีแนวโน้มเติบโตขึ้น แต่อย่าลืมว่า ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนต่างก็เล็งเห็นถึงช่องทางนี้เช่นกัน ดังพ่อค้าแม่ค้าหน้าใหม่จึงต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงและยากลำบากมากขึ้น ดังนั้น หากต้องการมัดใจผู้บริโภคและต้องการให้สินค้าของตนครองพื้นที่การตลาดอย่างถาวร ผู้ค้าควรพัฒนาตนเอง พัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างสรรค์สินค้าให้มีเอกลักษณ์ตรงตามความต้องการ รวมถึงศึกษาหาข้อมูล ทำความเข้าใจช่องทางการค้า เทรนหรือความนิยมของผู้บริโภคว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ทำอย่างไรจึงจะสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภค รักษาฐานลูกค้าเดิมและเพิ่มลูกค้าใหม่ให้ได้มากที่สุด สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจเติบโต สามารถแข่งขันและอยู่รอดได้
มุกรวี ฉิมพะเนาว์
ศูนย์อาเซียนศึกษา มจร