เมื่อนึกถึงนิทานภาษาอังกฤษ คงจะหนีไม่พ้นซินเดอเรลล่า สโนว์ไวท์ เจ้าหญิงนิทรา หรือลูกหมูสามตัว
แล้วถ้าเป็นนิทานพื้นบ้านล่ะ รู้จักกันบ้างไหม คุณอาจจะต้องใช้เวลาคิดสักพักว่าที่ผ่านมาพ่อแม่เคยเล่าให้ฟังไหม หรือเคยมีหนังสือนิทานพื้นบ้านเรื่องอะไรอยู่ที่บ้าน
การเพิ่มขีดความสามารถให้นักเรียน นักศึกษาไทยให้มีคุณภาพ มาตรฐานในระดับสากล และพัฒนาสมรรถนะด้านภาษาอังกฤษให้อยู่ในระดับที่ใช้ทำงานได้ ถือเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่ทุกภาคส่วนช่วยกันผลักดัน และร่วมพัฒนาสื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพเพื่อเป็นเครื่องมือให้ครูและเด็กเรียนรู้ร่วมกัน นอกจากนี้ การสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมของชาติ และวัฒนธรรมอื่นๆ ถือว่าเป็นองค์ความรู้ที่ควรให้ความสำคัญควบคู่กันไปด้วย
ผศ.ดร.จงกิจ วงษ์พินิจ อาจารย์ประจำหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาภาษาอังกฤษ ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “การพัฒนาสื่อเสริมทักษะการอ่านภาษาอังกฤษโดยใช้นิทานพื้นบ้านกลุ่มชาติพันธุ์เขมรในเขตอีสานใต้” ร่วมกับคณะ เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของสื่อเสริมทักษะภาษาอังกฤษโดยใช้นิทานพื้นบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตอีสานใต้ สำหรับนักศึกษาสาขาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
เริ่มต้นจากท้องถิ่น
มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์เป็นมหาวิทยาลัยท้องถิ่น นักศึกษาส่วนใหญ่มาจากจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ เรียกว่าแถบอีสานใต้ ประชากรส่วนใหญ่มาจาก 4 ชนเผ่าหลักๆ ได้แก่ ชนเผ่าเขมร ลาว กูย (ส่วย) และเยอ โดยประชากรเขมรมีจำนวนเยอะที่สุด ทำให้นักศึกษาในท้องถิ่นส่วนใหญ่สามารถพูดภาษาเขมรได้ แต่ไม่สามารถเขียนได้
“มหาวิทยาลัยของเรามีจุดเด่นคือเป็นประตูสู่อาเซียน (Asean Gate) เพราะมีด่านชายแดนช่อมจอมที่สามารถไปมาหาสู่กันได้ง่ายๆ ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ได้ทำความร่วมมือ MOU กับมหาวิทยาลัยในประเทศกัมพูชาเพื่อจัดกิจกรรมร่วมกัน ในส่วนที่อาจารย์รับผิดชอบเป็นการจัดกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรม การเล่านิทาน โดยเชิญนักศึกษาจากกัมพูชามาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมร่วมกัน” ผศ.ดร.จงกิจกล่าว
นักศึกษาไม่ค่อยรู้จักนิทานท้องถิ่นเลย โดยเฉพาะชื่อแปลกๆ เช่น กะแฮงเชอเตียว กะเดิบโดง กะเดิบซลา เนียงเดาะทม
“ในฐานะที่เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ เราจะเห็นว่าตำราเรียนส่วนใหญ่จะเน้นแต่วัฒนธรรมตะวันตก ไม่มีเรื่องราวของท้องถิ่นเลย หรือนิทานที่นักศึกษารู้จักเป็นเรื่องทางตะวันตก เช่น เจ้าหญิงนิทรา ซินเดอเรลล่า และลูกหมู 3 ตัว นักศึกษาไม่ค่อยรู้จักนิทานท้องถิ่นเลย โดยเฉพาะชื่อแปลกๆ เช่น กะแฮงเชอเตียว กะเดิบโดงกะเดิบซลา เนียงเดาะทม นี่คือแรงบันดาลใจหลักเลยว่าเราอยากอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นไว้ ให้นักศึกษาได้รู้วัฒนธรรมของเขา และใช้สื่อภาษาอังกฤษเป็นสื่อในการนำไปเผยแพร่ ไปถ่ายทอดต่อ” ผศ.ดร.จงกิจกล่าว
นิทานโดยส่วนใหญ่ทั่วโลกจะมีองค์ประกอบคล้ายกัน คือมีเรื่องราวสนุกสนาน เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ (Supernatural) ตัวเอกเก่งและมีอิทธิฤทธิ์ แต่บริบทที่แทรกอยู่ไม่เหมือนกันนั่นคือเรื่องวัฒนธรรม ยกตัวอย่างเช่น ตัวละคนในนิทานตะวันตกจะกินขนมปัง แอปเปิ้ล นิทานพื้นบ้านลาวจะกินข้าวเหนียว นิทานพื้นบ้านเขมรจะกินข้าวสวยหรือข้าวเจ้า
การฟื้นนิทานท้องถิ่นผ่านบริบทการเรียนการสอนในวิชาวรรณกรรมภาษาอังกฤษ จึงเป็นเรื่องท้าทาย เป้าหมายหลักของการเรียนการสอนเพื่อเพิ่มทักษะภาษาอังกฤษให้กับนักศึกษา เป้าหมายต่อมาจะทำอย่างไรให้นักศึกษาได้รู้จักนิทานพื้นบ้านท้องถิ่นด้วย กระบวนการเรียนการสอนจึงต้องไม่ธรรมดา
ไม่ใช่แค่เรียน เรากำลังสนุกและสร้างสรรค์
รูปแบบการเรียนการสอนเน้นให้นักศึกษาเป็นศูนย์กลาง มีความคิดสร้างสรรค์ เรียนรู้ และลองผิดลองถูก เมื่อนักศึกษาได้ศึกษานิทานพื้นบ้านแล้ว พวกเขาจะต้องสร้างสรรค์โชว์เป็นภาษาอังกฤษในตอนท้ายภาคเรียน การเล่านิทานมีเส้นเดินเรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่การเพิ่มฉาก หรือบทสนทนา (Dialogue) ให้น่าตื่นตาตื่นใจถือว่าเป็นไอเดียแปลกใหม่ที่นักศึกษาแต่ละกลุ่มจะแต่งเติมลงไป ขณะที่หน้าที่ของผู้สอนคือไกด์ คอยอำนวยความสะดวกให้นักศึกษาเรียนรู้และลงมือปฏิบัติได้อย่างลื่นไหล
“การเรียนการสอนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย กลุ่มศึกษานิทานตะวันตก และกลุ่มศึกษานิทานพื้นบ้าน กลุ่มผมได้นิทานพื้นบ้านต้องไปหาความรู้แล้วว่ามีนิทานหรือวรรณกรรมพื้นบ้านอะไรบ้างที่มีชื่อเสียง หรือมีความสนุกสนาน เล่าต่อกันมา กลุ่มของผมตัดสินใจเลือกเรื่องกะมะกระ (Kamakra) ซึ่งเป็นนิทานพื้นบ้านของจังหวัดสุรินทร์เองด้วย” คัมภีร์ เจริญยิ่ง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
เอกลักษณ์ที่สำคัญของนิทานพื้นบ้านคือกลิ่นอายความเป็นบ้านๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดนตรี วัสดุที่นำมาใช้ ทำให้เราย้อนนึกถึงวัยเด็ก
“เอกลักษณ์ที่สำคัญของนิทานพื้นบ้านคือกลิ่นอายความเป็นบ้านๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดนตรี วัสดุที่นำมาใช้ ทำให้เราย้อนนึกถึงวัยเด็ก อย่างเช่น ท้องทุ่งนา กบ เขียด การตกปลา ย้อนให้เห็นวัฒนธรรมของไทยในสมัยก่อน ผมคิดว่าการเรียนแบบนี้ทำให้เด็กรุ่นใหม่ที่เกิดมาแล้วเขาไม่ทันได้สัมผัสวิถีของคนยุคก่อน ได้เรียนรู้ผ่านนิทานที่เล่าสืบต่อกันมา ได้จินตนาการถึงบรรยากาศ และกลิ่นอายแบบเก่าๆ” ฉัตรชัย มุมทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
ในช่วงท้ายของภาคเรียน นักศึกษาต้องเล่านิทานผ่านหุ่น (Puppet Show) เป็นภาษาอังกฤษ กลุ่มที่ได้เล่านิทานท้องถิ่นมีความพิเศษที่พวกเขาสร้างสรรค์หุ่นโชว์ด้วยของที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น เครื่องจักสานและผ้าขาวม้า นักศึกษาบางกลุ่มนำผ้าขาวม้ามาพาดบ่าตนเองเพื่อแสดงถึงเอกลักษณ์ในท้องถิ่น หากแต่เรื่องราวที่กำลังถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาอังกฤษเลียนเสียงตัวละคร เสียงธรรมชาติ สอดแทรกเรื่องราวสมัยใหม่เข้าไป
เรียนรู้ความต่าง เพื่อความเข้าใจ
“ผมคิดว่าถ้าเราศึกษาผ่านตัวหุ่น และการเล่านิทาน จะทำให้เราได้เห็นถึงวัฒนธรรมเพื่อนบ้านโดยที่เราไม่ต้องวิ่งไปไกลถึงประเทศเขา เราสามารถสัมผัสได้ว่าบริบทการเป็นอยู่ วิถีชีวิตเป็นอย่างไร ในภูมิภาคเอเชียของเรามีวัฒนธรรมเป็นของล้ำค่า สามารถเป็นตัวเชื่อมความเข้าใจระหว่างกันได้” ฉัตรชัยกล่าว
สิ่งสำคัญคือต้องรักษาเอกลักษณ์ของเราไว้ เราต้องหาตัวตนเราให้เจอเพื่อให้รู้ว่าเราเป็นใครในโลกใบนี้
“แต่ละคนแต่ละเชื้อชาติมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป แล้วก็มีเอกลักษณ์ของตนเอง สิ่งสำคัญคือต้องรักษาเอกลักษณ์ของเราไว้ เราต้องหาตัวตนเราให้เจอเพื่อให้รู้ว่าเราเป็นใครในโลกใบนี้ ขณะเดียวกันนักศึกษาก็ต้องเข้าใจความแตกต่างด้วย บางทีความแตกต่างสามารถนำไปสู่ความขัดแย้งได้ สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ความขัดแย้งในโลกลดลงคือความเข้าใจ การเรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างจึงเป็นสิ่งสำคัญ” ผศ.ดร.จงกิจกล่าว
การเรียนรู้ตามระบบที่ต้องอิงความรู้ ข้อมูลจากโลกตะวันตก ทำให้นักเรียน นักศึกษารู้เท่าทันโลกมากขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งเหมือนจะห่างหายจากความเป็นตัวตน และเอกลักษณ์ท้องถิ่น จะดีกว่าไหมที่เราจะเพิ่มจุดเชื่อมโลกภายนอก กับเรื่องราวในท้องถิ่นตนเอง การถ่ายทอดนิทานพื้นบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ผ่าน Puppet Show ด้วยภาษาอังกฤษ จึงเป็นอีกเครื่องมือที่ทำให้นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์เรียนรู้จักวัฒนธรรมท้องถิ่น ผ่านภาษาจากฝั่งตะวันตก “คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ แต่ยังเท่าทันความทันสมัย”
Research Cafe โครงการการพัฒนาสื่อเสริมทักษะการอ่านภาษาอังกฤษโดยใช้นิทานพื้นบ้านกลุ่มชาติพันธุ์เขมรในเขตอีสานใต้ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ผศ.ดร.จงกิจ วงษ์พินิจ ดร.วิภาวดี มูลไชยสุข อาจารย์ถิรพิทย์ ถาพรผาด อาจารย์ธีติมา พจนะแก้ว นางสาวนาฎยา ซาวันสนับสนุนการวิจัยโดย สกสว. |