การปรับตัวสู่เมืองคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

ก๊าซเรือนกระจก หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนขึ้น ส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่บริโภคไม่หยุดหย่อน ยิ่งเมื่อมนุษย์อย่างเรามารวมกันอยู่ในเมืองๆ หนึ่ง ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยิ่งเพิ่มขึ้นทวีคูณ

เมื่อก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นมาไม่หยุดแบบนี้ จึงมีแนวคิดสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society)  มาแก้ปัญหา โดยมีเป้าหมายเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน ผ่านกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากโรงงานหรือภาคอุตสาหรรม การตระหนักถึงคุณภาพชีวิตที่ดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมคาร์บอนต่ำ และการวางผังเมืองให้สอดคล้องกับสมดุลของระบบนิเวศ

โลกร้อน เรื่องใกล้ตัว

“เรื่องของโลกร้อนเป็นผลกระทบที่คนเริ่มสัมผัส และเริ่มใกล้ตัวของพวกเราเรื่อยๆ จากปัญหาที่เกิดขึ้น เรื่องของฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก โดยที่เราตั้งตัวไม่ทัน ผลกระทบไม่ใช่แค่สิ่งแวดล้อม แต่เป็นเรื่องเศรษฐกิจ และสังคมด้วย เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นแรงขับที่สำคัญมากๆ ทำให้พวกเราต้องสนใจว่าปัญหาโลกร้อนคืออะไร สาเหตุเกิดจากอะไร จะแก้ไขได้ยังไงบ้าง” รศ.ดร.เศรษฐ์ กล่าว

เมื่อโลกกำลังประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิอากาศ ทำให้หน่วยงานต่างๆ สร้างข้อกำหนดร่วมกันเพื่อลดภาวะโลกร้อน หนึ่งในนั้นคือการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 80% ภายในปี 2050 เพื่อเป็น Low Carbon Society ประเทศที่เข้าร่วมหมุดหมายนี้ เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไทย เวียดนาม เป็นต้น

ประเทศไทยมีการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาบ้างแล้ว เช่น โครงการ “เทศบาลคาร์บอนต่ำ” ภายใต้แนวคิด Low Carbon City โดยสมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย มี 4 แนวทางในการดำเนินงาน คือเมืองแห่งต้นไม้ เมืองไร้มลพิษ  เมืองพิชิตพลังงาน และเมืองที่มีการบริโภคอย่างยั่งยืน นอกจากนี้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ยังได้จัดทำข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการจัดทำข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาบ้างแล้วในระดับองค์กรและท้องถิ่น หากแต่ในด้านการนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรมยังมีน้อย และการสร้างความรู้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนให้กับประชาชนเพื่อนำไปสู่เมืองคาร์บอนต่ำก็ยังมีน้อยเช่นกัน

เมือง คือหนึ่งในปัจจัยปล่อยก๊าซเรือนกระจก

รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล จากคณะวิศวกรรมศาตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์ก๊าซเรือนกระจกและพัฒนาแนวทางการปรับตัวสู่เมืองคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน” เพื่อเก็บข้อมูลก๊าซเรือนกระจกระดับเมืองแบบออนไลน์ และหาแนวทางปรับตัวสู่เมืองคาร์บอนต่ำอย่างเหมาะสม

“ผมเชื่อว่าเมืองเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของก๊าซเรือนกระจก ในเมืองมีกิจกรรมเยอะมาก ตั้งแต่เรื่องของการใช้พลังงาน ปัญหาขยะ ปัญหาน้ำเสีย เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจว่าแหล่งกำเนิดของก๊าซเรือนกระจกเกิดจากอะไร เมืองมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง ก็จะนำไปสู่แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก หรือว่าลดปัญหาเรื่องของโลกร้อนได้” รศ.ดร.เศรษฐ์ กล่าว

เราถือว่าเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในเมือง เราเกี่ยวข้องกับหลายมิติมาก จึงอยากมีส่วนเกี่ยวข้องในงานวิจัยนี้

งานวิจัยเก็บข้อมูลและรวบรวมฐานข้อมูลออนไลน์ จาก 2 พื้นที่ ได้แก่ เทศบาลตำบลด่านซ้าย จ.เลย และเทศบาลเมืองยโสธร จ.ยโสธร โดยพัฒนาการจัดการระบบข้อมูลให้สามารถใช้งานได้สะดวกและง่ายขึ้น (User Friendly) สามารถกรอกข้อมูลได้ง่าย ไม่ซับซ้อน เพื่อให้สามารถแสดงผลการดําเนินการต่อสาธารณะได้และสามารถนําข้อมูลจากฐานข้อมูลไปสู่แนวทางการประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ในด้านการปรับตัว (Adaptation) ของคนในเมือง เพื่อหาแนวทางการปรับตัวที่เป็นวิธีปฏิบัติที่เหมาะสม (Best Practice) สู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

บัญชีรายการก๊าซเรือนกระจก ข้อมูลสำคัญนำไปสู่ความยั่งยืนของเมือง

“สิ่งที่เราเก็บข้อมูลกัน เรียกว่าบัญชีรายการก๊าซเรือนกระจก เหมือนกับบัญชีการเงิน คือบัญชีรับ-จ่าย เราเก็บในรูปแบบของตัวเงิน เราซื้ออะไรบ้าง เราจ่ายอะไรบ้าง และได้เงินมาอย่างไร บัญชีก๊าซเรือนกระจกคล้ายๆ กัน คือว่า เราต้องทราบก่อนว่าแหล่งที่ให้กำเนิดก๊าซเรือนกระจกเกิดจากอะไร ในภาคของเมือง” รศ.ดร.เศรษฐ์ กล่าว

เมืองเมื่อมองจากภายนอกอาจจะปกติดี ไม่มีปัญหาอะไรเลย แต่จริงๆ แล้วเมืองอาจจะมีการใช้ไฟเยอะมากเกินความจำเป็น อาจจะมีระบบกำจัดของเสียไม่ครบวงจรจนมีกองขยะขนาดมหึมาภายในเมือง การทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกช่วยเปิดเผยข้อมูลให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมได้

เราต้องไปเก็บข้อมูลก่อน ถือว่าข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญนำไปสู่ความยั่งยืนของเมือง

“ความยากของข้อมูลต้องได้ความไว้วางใจ และคุยกันอย่างมากกับผู้นำเมือง นั่นคือนายกเทศบาล เราคุยกับผู้นำท้องถิ่นว่าวันนี้เราไม่ได้ทำเพื่อพวกเขา แต่เราทำเพื่อลูกหลานของพวกเขา 10 ปี 20 ปีข้างหน้า เราจะวางแผนของเมืองอย่างไรดี อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ” รศ.ดร.เศรษฐ์ กล่าว

เมืองคาร์บอนต่ำ เริ่มต้นได้จากกิจกรรมประจำวัน

เทศบาลเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร เป็นพื้นที่ที่มีทีมอาสาสมัครชุมชน (อสม.) เข้มแข็ง อีกทั้งยังมีเทศกาลงานประเพณีขึ้นชื่อ อย่างบุญบั้งไฟพญานาค หากแต่ส่วนหนึ่งของกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกของชาวเมืองกลับเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวอย่างอาหารการกิน

“ที่ผมประทับใจมากที่เมืองยโสธรคนในเมืองชอบรับประทานส้มตำมากๆ ส้มตำมาจากมะละกอแต่ว่าในพื้นที่ไม่มีการปลูกมะละกอเลย เป็นการนำเข้าจากพื้นที่อื่น เพราะฉะนั้นเขาก็เริ่มเห็นปัญหาแล้วว่าการขนส่งจากเมืองอื่นมายังเมืองยโสธรทำให้ใช้เชื้อเพลิงเยอะ เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะเหมือนกัน มีการพูดคุยกับพี่น้องชาวบ้านว่าจะมีพื้นที่ปลูกมะละกอในเมืองและส่งให้ร้านขายส้มตำ เท่านี้คนในเมืองจะมีส้มตำและเป็นมะละกอที่ปลูกในเมือง เป็น local foods ลดปัญหาการขนส่ง และลดโลกร้อนไปในตัวด้วย” รศ.ดร.เศรษฐ์ กล่าว

ขณะที่เทศบาลตำบลด่านซ้าย จังหวัดเลย ที่มีเทศกาลผีตาโขน ทั้งโด่งดังและขึ้นชื่อจนนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมจำนวนมาก ได้สะท้อนถึงปัญหาที่พบในเมืองนำไปสู่แนวทางแก้ปัญหาในแบบเมืองคาร์บอนต่ำ

“ที่ด่านซ้ายพบว่าเมืองน่ารักมากและนักท่องเที่ยวเยอะ ปัญหาของเขาคือเรื่องของการเดินทาง บางคนยังสนใจใช้จักรยานอยู่แต่ไม่มีเส้นทางจักรยาน เราเลยออกแบบเส้นทางจักรยานให้ ว่าลักษณะการขี่ในเมือง การขี่รอบเมือง การขี่ในชีวิตประจำวันควรขี่เส้นทางไหน แต่ละบ้านอาจจะมีโอ่งน้ำ เมื่อหิวน้ำสามารถตักน้ำดื่มได้ และมีจุดพักเป็นระยะเพื่อส่งเสริมการขี่จักรยานให้มากขึ้น ซึ่งเมืองตอบรับเรื่องนี้ได้ดีมากๆ” รศ.ดร.เศรษฐ์ กล่าว

ก๊าซเรือนกระจกลดได้จริง แต่ต้องมีเป้าหมายร่วมกัน

“งานวิจัยไม่สามารถทำแล้วจบภายในปีเดียวได้ต้องอาศัยข้อมูลที่มีความถูกต้อง โปร่งใส ต่อเนื่อง ตรงประเด็น เกี่ยวข้อง ทำไปตลอด เราจึงสร้าง platform ขึ้นมาในระบบของเว็บไซต์ เราใช้แผนที่ GIS ของเมืองและมีการแบ่งเป็นชั้นต่างๆ เพราะฉะนั้นเราบอกเขาว่าเรากำลังสร้างเมือง” รศ.ดร.เศรษฐ์ กล่าว

จากการเก็บข้อมูลแล้วพยากรณ์ข้อมูลก๊าซเรือนกระจก พบว่า หากเทศบาลเมืองยโสธรไม่มีการดำเนินการใดๆ ภายในปี พ.ศ. 2573 ก๊าซเรือนกระจกจะเพิ่มขึ้น 50% ขณะที่เทศบาลตำบลด่านซ้ายจะเพิ่มปริมาณขึ้น 65% แต่หากมองอีกมุมหนึ่งด้วยการตั้งเป้าหมายว่าจะลดก๊าซเรือนกระจก 20% ทั้งสองเทศบาลควรกำหนดนโยบาย เทคโนโลยี และมาตรการภาคปฏิบัติ รวมถึงการทำความเข้าใจภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย

“ผมมองว่าเรื่องของก๊าซเรือนกระจกเป็นบันไดขั้นที่หนึ่งเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุด ทุกเมืองจะต้องทำ ถ้าบันไดขั้นที่หนึ่งไม่ถูกทำความเข้าใจ หรือไปต่อไม่ได้ ในขั้นต่อไปจะเป็นเรื่องยากมากๆ อย่างเช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม PM 2.5 ปัญหาขยะ น้ำเสีย หรือว่าความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหา Social impact จะมีความยากและซับซ้อนขึ้นเยอะ เพราะฉะนั้นถ้าเมืองเริ่มต้นจากบันไดขั้นที่หนึ่งได้ ขั้นต่อไปเขาจะไปได้ง่ายยิ่งขึ้น เขาจะเข้าใจว่าทำไมต้องมีบัญชีรายการ ทำไมต้องมีฐานข้อมูล ทำไมต้องมีการบูรณาการข้อมูล ทำไมต้องมีการทำข้อมูลซ้ำๆ เพราะว่านั่นคือการทำให้เราเข้าใจเมืองมากยิ่งขึ้น อันนี้คือหัวใจของโครงการนี้ที่จะทำให้เรานำไปสู่ช่องทางอื่นๆ มากยิ่งขึ้น” รศ.ดร.เศรษฐ์ กล่าว

การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพื่อไปสู่เมืองคาร์บอนต่ำ เป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน การเริ่มต้นของเทศบาลเมืองยโสธรมาจากเรื่องใกล้ตัวอย่างการปลูกมะละกอในพื้นที่เพื่อลดการขนส่งและนำเข้า ส่วนเทศบาลตำบลด่านซ้ายต่อยอดแนวคิดการปั่นจักรยานในชีวิตประจำวันให้ง่ายและสะดวกมากขึ้นเพื่อในอนาคตจะมีจำนวนคนปั่นจักรยานมากขึ้น แล้วตัวคุณและเมืองของคุณจะเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวอะไรได้บ้าง

Research Cafe
การวิเคราะห์ก๊าซเรือนกระจกและพัฒนาแนวทางการปรับตัวสู่เมืองคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน
รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่สนับสนุนการวิจัยโดย สกสว.
Avatar

เขียนโดย ASC CAFE'