[Book Review]: อินเดีย พ.ศ. ๑๒๖๖

“ในคืนที่แสงจันทร์สาดส่อง

ฉันมองไปยังทางบ้าน

หมู่เมฆที่ลอยเคลื่อนผ่าน

ลอยไปตามสายลม

  ฉันอยากฝากจดหมายนี้กลับไปพร้อมกับหมู่เมฆ

สายลมพัดผ่านเร็ว

หมู่เมฆไม่ฟังหรือไม่ย้อนกลับมา

บ้านฉันอยู่ไกลสุดขอบฟ้าทางทิศเหนือ

บ้านเมืองอื่น ๆ อยู่ทางตะวันตกสุดไกล

ไม่มีห่านป่า ทางทิศใต้ที่ร้อนระอุ

ใครจะนำคำฉันกลับไปยังมาตุภูมิ”

                  ถ้าให้เรานึกถึงพระสงฆ์ในอดีตที่เดินทางไปศึกษาพระธรรมที่ชมพูทวีปหรืออินเดียเราคงนึกชื่อได้ไม่เกินสามชื่อ หากเอ่ยชื่อท่านเหล่านี้มาก็คงต่างรู้จักเป็นอย่างดี เช่น พระฟาเหียน พระอี้จิง และพระเสวียนจั้ง(ถัมซำจั๋ง) เป็นต้น  โดยเฉพาะคนไทยจะรู้จักบทบาทของพระถัมซำจั๋งผ่านวรรณกรรมไซอิ๋วและภาพยนตร์มากกว่า แม้ว่าผลงานของพระสงฆ์เหล่านั้นจะหายไปด้วยเหตุหลายประการแต่หลักฐานในบันทึกต่าง ๆ ทำให้เราพบว่ามีพระสงฆ์มากกว่า ๑,๐๐๐ รูป ที่ได้เดินทางแรมรอนจากมาตุภูมิสู่ดินแดนภารตะอันศักดิ์สิทธิ์ด้วยหัวใจที่ยิ่งใหญ่ยากที่จะหาสิ่งเปรียบได้

                ก่อนที่ผมจะแนะนำหนังสือ “อินเดีย พ.ศ. ๑๒๖๖” ผมอยากจะกล่าวถึงผลงานของบุคคลสำคัญที่เราคุ้นเคยกันอย่างดีโดยในหนังสือเล่มนี้ก็ได้อ้างอิงถึงต้นฉบับไว้ด้วยซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อท่านที่สนใจค้นคว้าบันทึกเรื่องราวของพระสงฆ์ที่เดินทางไปชมพูทวีปอย่างยิ่ง ได้แก่ “The Record of Buddhist Kingdom” รจนาโดย พระฟาเหียน ,ต้าถังซิยูกิ รจนาโดย พระเสีวยนจั้ง ,พระสงฆ์จีนในอินเดีย (The Chinses monks in India) และบันทึกพระพุทธศาสนาในอินเดียและแหลมมาลายาที่ส่งกลับบ้าน ( A record of the Buddhist Religion sent Home From the Southern Sea) งานส่วนใหญ่ได้แปลเป็นภาษาไทยแล้วยกเว้น “A record of the Buddhist Religion Sent Home From the Southern Sea”

                 ผลงานที่กล่าวมาล้วนเป็นผลงานชิ้นที่เกิดจากพลังศรัทธาอันยิ่งใหญ่ที่มีต่อพระรัตนตรัยและเพื่อฝากไว้แก่อนุชนรุ่นหลังโดยหวังว่าจะเป็นการขนรื้อสรรพสัตว์ออกจากสังสารวัฏ จึงนับได้ว่าผลงานของพระเถราจารย์เป็นเสมือนมรดกที่มรดกทางภูมิปัญญาของพุทธศาสนิกชนเหมือนขุมทรัพย์ที่ถูกกาลเวลาบดบังไว้รอจนถูกเปิดเผยเพื่อให้ผู้คนได้ศึกษาต่อไป การค้นพบหรือการแปลผลงานเหล่านี้ออกไปจึงเปรียบได้กับการมอบอัญมณีให้กันและกัน

               ในการเดินทางไปที่ชมพูทวีปนั้น นอกไปจากพระสงฆ์ชาวจีนแล้วเรายังพบหลักฐานในบันทึกของพระอี้จิงว่ามีพระสงฆ์เกาหลีได้เดินทางมาถึงอินเดียหลายรูปด้วยกัน ได้แก่ พระอริยปัทมะ พระฮุ่ยเงียบ พระเฮียกขัก พระเฮียนไถ่ แต่พระฮุ่ยโจมิได้ปรากฏในบันทึกของท่านอี้จิงเพราะเดินทางมาภายหลังท่านอี้จิง ๔๕ ปี

A Memoir of Pilgrimage to The Five Regions of India

             ในหนังสือ “อินเดีย พ.ศ. ๑๒๖๖” กล่าวถึงต้นฉบับ A Memoir of Pilgrimage to The Five Regions of India ว่ามีอายุถึง ๑,๒๘๑ ปี พบที่ถ้ำตุนหวงในประเทศจีน โดยเป็นผลงานนี้เป็นผลงานของพระสงฆ์เกาหลีที่มีนามว่า “ฮุ่ยโจ” หรือ “Hye Ch’o” ซึ่งท่านได้เขียนบันทึกเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดจากประสบการณ์ชีวิตของท่านในอินเดีย นับว่าเป็นหนังสือเก่าแก่อีกเล่มของโลกและยังอาจกล่าวได้ว่าเป็นหนังสือบันทึกการเดินทางหรือรายงานทางพระพุทธศาสนาในอินเดียและเอเชียกลางฉบับสุดท้ายก็ว่าได้เพราะจากนี้ก็ไม่พบว่ามีบันทึกของพระสงฆ์จีนหรือเกาหลีหรือชาติใดอีกเลยด้วยหลังจากนี้อินเดียได้ถูกครอบครองโดยยึดครองโดยกองทัพมุสลิม

              ความพิเศษอีกอย่างของบันทึกของท่าน Hye Ch’o คือ บทกวีที่ท่านเขียนบอกผ่านความรู้สึกหดหู่เวลาคิดถึงบ้าน (homesick) และการได้ที่ท่านถ่ายทอดความสลดใจเมื่อได้รับรู้ถึงสหธรรมิกรวมชาติที่มรณภาพในดินแดนอันห่างไกลจากบ้านเกิดตัวเอง รายละเอียดที่ต่างไปจากท่านเสียวนจั้งคือท่านได้เดินทางไปถึงเอเชียกลางนั่นคือ อิรัก เปอร์เซีย ไบแซนไทน์ และตรุกี ซึ่งท่านเองก็ได้พบศาสนาที่ต่างออกไปอย่างมากมาย รวมทั้งคริสต์ อิสลามและศาสนาโบราณอื่น ๆ ด้วย

             กล่าวถึงเฉพาะการเดินทางแล้วเมื่อเทียบกับพระสงฆ์รูปอื่น ๆ ท่าน Hye Ch’o เดินทางไกลถึง ๒๐,๐๐๐ กิโลเมตร จึงนับเป็นพระสงฆ์ที่เดินทางไกลที่สุด ปัจจุบันบันทึกของท่านถูกเก็บไว้ที่ฝรั่งเศสและในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ บันทึกของท่านก็ได้เดินทางกลับสู่มาตุภูมิคือเกาหลีภายใต้ความร่วมมือของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเกาหลีได้จัดกิจกรรมแสดงผลงานของท่านที่กรุงโซลนับเป็นเวลานานถึง ๑,๒๘๓ ปีที่เดียว

อินเดีย พ.ศ. ๑๒๖๖

                 หนังสือ อินเดีย พ.ศ. ๑๒๖๖ แปลเป็นภาษาไทยโดยพระมหาดาวสยาม วชิรปญฺโญ, ผศ.ดร. และคณะซึ่งแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษของ Yang,Jan,Lida,Presition และนับเป็นการแปลสู่ภาษาไทยครั้งแรก โดยผู้แปลและทีมงานไม่ได้แปลความต่อความ คำต่อคำ แต่มุ่งเน้นการแปลด้วยการถอดความอาจจะทำให้คาดเคลื่อนบ้าง

               หากอย่างไรก็ดีจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เพียงการแปลบันทึกให้อ่านเท่านั้น แต่ผู้แปลและคณะได้แทรกหลักฐานสำคัญ เช่น บันทึกของพระเสวียนจั้ง ท่านอี้จิง และของพระเถราจารย์อื่น ๆ แนบประกอบไว้ในทุกประเด็นซึ่งทำให้ผู้อ่านเข้าใจสภาพ บริบท และข้อมูลทางพระพุทธศาสนาชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะแต่ละช่วงเวลาของการบันทึกของแต่ละท่านไม่เหมือนกัน บางเรื่องท่านเสีวยนจั้งบันทึกไว้ บางเรื่องกลับไม่ได้พูดถึงแต่ท่าน Hye Ch’o บันทึกไว้ นอกเหนือไปจากความรู้เรื่องการเมือง ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ  ประเพณี บันทึกของท่านยังทำให้เรารู้ด้วยว่าท่าน Hye Ch’o มีความสามารถด้วนกวีนิพนธ์อีกด้วย

               แม้ว่าการแปลหนังสือ A Memoir of Pilgrimage to The Five Regions of India จะเป็นเพียง ๑ ใน ๓ ส่วนเท่านั้น เราก็พบว่าบันทึกของท่าน Hye Ch’o ได้สร้างประโยชน์ต่อโลกเป็นอเนกประการ ในทางประวัติศาสตร์บันทึกของท่านเป็นเครื่องยืนยันว่า พระพุทธศาสนาสายหินยานยังได้รับการนับถืออยู่พร้อม ๆ กับ มหายาน ซึ่งนักวิชาการบางท่านให้ความเห็นว่าหินยานได้หายไปจากอินเดียตอนกลางแล้วตั้งแต่ พ.ศ. ๖๐๐ เป็นต้นมา และอาหรับกับเปอร์เซียไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาซึ่งค้านกับหลักฐานบันทึกของท่านเสียวนจั้งที่กล่าวว่าในอาหรับและเปอร์เซียนับถือพระพุทธศาสนา แต่อย่างไรก็ดีท่าน Hye Ch’o เป็นเพียงพระสงฆ์รูปเดียวนั้นที่เดินทางไปถึงอาหรับและเปอร์เซียจริง ๆ

บทสรุป

               ผู้รีวิวเห็นว่า หนังสือเล่มนี้ผู้แปลและคณะได้ตั้งใจถ่ายทอดและวางเค้าโครงได้อย่างเป็นระบบ (systematic) นำเสนอให้เห็นภาพรวมการเดินทางไปชมพูทวีปของคณะสงฆ์กลุ่มต่าง ๆ ไม่ได้จำกัดเฉพาะท่าน  Hye Ch’o รวมทั้งหลักฐานที่นำมาประกอบในบทวิเคราะห์เป็นหลักฐานร่วมสมัยและการที่ผู้แปลได้เคยไปปฏิบัติศาสนกิจที่อินเดียมาแล้วจึงทำให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนและยังทำให้หนังสือเล่มนี้น่าอ่านยิ่งขึ้นด้วย หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ให้แค่แนวคิดเฉพาะเรื่องประวัติพระพุทธศาสนา แต่เป็นเรื่องชีวิตด้วย เพราะงานกับเรื่องส่วนตัวนั้นแยกกันไม่ออกจริง ๆ

                                                ครับ

Avatar

เขียนโดย พระปลัดอภิเชษฐ์ สุภทฺรวาที