วิธีบูรณาการพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่เป็นหนังสือของพระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)ศาสตราจารย์,ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ซึ่งปัจจุบันท่านคือ พระพรหมบัณฑิต อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งท่านได้เขียนหนังสือเล่มนี้ไว้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ไว้ ซึ่งเป็นเนื้อหาที่มีความน่าสนใจและแฝงไปด้วยความรู้
วิธีการศึกษาแบบบูรณาการ
คำว่า “บูรณาการ” (Integration) หมายถึง การนำสิ่งที่แยกกันมารวมเข้ากันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจนเกิดเป็นองค์รวม (the whole) ถ้าศรัทธาในพระพุทธศาสนากับปัญญาทางวิทยาศาสตร์เป็นไปในทางเดียวกันคือส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกันก็จะก่อให้เกิดองค์รวมที่สมบูรณ์ องค์รวมนี้คือบูรณาการ
เนื่องคำว่า “วิทยาศาสตร์” ครอบคลุมไปถึงศาสตร์สมัยใหม่ที่อาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์สร้างระบบความรู้ขึ้นมา เช่น ครุศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ เราจึงสามารถบูรณาการพระพุทธศาสนาเข้ากับศาสตร์สมัยใหม่ด้วย
การศึกษาแบบบูรณาการพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่ไม่ใช่เป็นการศึกษาเปรียบเทียบ เพราะการศึกษาเปรียบเป็นเพียงวางสิ่งที่เราศึกษาไว้คู่ขนานโดยที่ไม่มีวันบรรจบกัน เช่น เราศึกษาศาสนาเปรียบเทียบโดยไม่คิดรวมศาสนาที่เราศึกษาเข้าด้วยกันแต่อย่างใด แต่การศึกษาแบบบูรณาการเป็นการนำสิ่งที่เราศึกษามาปรับแต่งผสมผสานกันจนก่อให้เกิดองค์รวมที่สมบูรณ์ ดังนั้น ในการบูรณาการพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่จึงต้องมีการปรับองค์ความรู้ทั้งสองสายมาเชื่อมโยงกัน วิธีการศึกษาแบบบูรณาการพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่จึงทำได้ 2 วิธี ดังนี้
วิธีที่ 1 การปรับศาสตร์เข้าหาพระพุทธศาสนา
คือการใช้พระพุทธศาสนาเป็นตัวตั้งและนำศาสตร์สมัยใหม่มาอธิบายเสริมพระพุทธศาสนา วิธีนี้ใช้องค์ความรู้ในศาสตร์สมัยใหม่มาอธิบายสนับสนุนพระพุทธศาสนาให้ดูทันสมัยและมีเหตุผลเป็นที่ยอมรับได้ง่ายขึ้น วิธีการนี้นิยมใช้ในการศึกษาของคณะพุทธศาสตร์ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
วิธีที่ 2 การปรับพระพุทธศาสนาเข้าหาศาสตร์
คือการใช้ศาสตร์สมัยใหม่เป็นตัวตั้งและนำหลักศีลธรรมในพระพุทธศาสนามาเพิ่มเติมเข้าไปในเนื้อหาของศาสตร์สมัยใหม่ ทั้งนี้เพราะศาสตร์สมัยใหม่ยังมุ่งแสวงหาความจริงโดยไม่สนใจเรื่องศีลธรรม การนำหลักศีลธรรมในพระพุทธศาสนามาเติมเต็มให้กับศาสตร์เหล่านั้นย่อมจะช่วยให้เกิดองค์ประกอบรวมที่สมบูรณ์ที่สุด วิธีการนี้นิยมใช้กับการศึกษาในคณะครุศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และคณะสังคมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
กฎของธรรมชาติ
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้กล่าวว่า จักรวาลนี้เป็นระเบียบและมีความสวยงามอย่างน่าทึ่งเกินกว่าสติปัญญาของมนุษย์จะรู้แจ้งแทงตลอดได้ (inaccessible to man) อย่างมากนักวิทยาศาสตร์จะค้นพบกฎธรรมชาติได้ทีละกฎสองกฎ วิทยาศาสตร์แต่ละสาขากลายเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่มองเห็นความจริงของจักรวาลได้บางแง่บางมุม จึงเป็นไปไม่ได้ที่วิทยาศาสตร์จะเสนอภาพรวมของจักรวาล อีกทั้งระบบระเบียบของจักรวาลทั้งหมดนั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คนใดคนหนึ่งจะหยั่งรู้ได้ พระพุทธศาสนาปฏิเสธว่าไม่มีพระเจ้าผู้วางระเบียบแบบแผนในจักรวาล ความเป็นระเบียบแบบแผนเป็นเพียงนิยามหรือกฏธรรมชาติ 5 ประการ ดังนี้
- อุตุนิยาม คือกฎแห่งฤดูกาล คือกฎที่บังคับการโคจรของดาวบนฟ้า กฎธรรมชาติที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์ธรรมชาติ
- พีชนิยาม คือกฎแห่งเมล็ดพันธุ์หรือกฎทางชีววิทยาที่กำหนดให้สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์สืบต่อลักษณะไปยังลูกหลาน ทั้งมนุษย์และพืชทั้งหลายสืบสายพันธุ์ต่อเนื่องกันไปไม่ขาดสาย ปัจจุบันเรียกว่ากฎพันธุกรรม
- จิตนิยาม คือกฎเกี่ยวกับการทำงานของจิต เช่น จิตเกิดจิตดับเป็นกระแส ปัจจุบันเรียกว่ากฎทางจิตวิทยา
- กรรมนิยาม คือกฎแห่งเหตุและผลที่กำกับความเป็นไปของชีวิตมนุษย์ มนุษย์เจริญหรือเสื่อมเพราะการกระทำ
- ธรรมนิยาม คือกฎธรรมชาติที่กำหนดความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งที่อิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้นตามเหตุและปัจจัย นั่นก็คือหลักปฏิจจสมุปบาท กฎธรรมชาตินี้เป็นกฎใหญ่ที่รอบคลุมกฎทั้ง 4 ข้อข้างต้น
ทั้ง 4 ข้อแรก แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกฎทางรูปธรรมคืออุตุนิยามและพีชนิยามฝ่ายหนึ่งกับทางนามธรรมคือจิตนิยามและกรรมนิยามอีกฝ่ายหนึ่ง นั้นคือเป็นกฎที่กำกับนามรูปนั้นเอง
นายชัยชนกันต์ ไทยเจริญ
นิสิตชั้นปีที่ 2
หลักสูตรสังคมสงเคราะห์ศาสตรบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์