Project Description

สถิติชี้จำนวนวัดเพิ่มขึ้นปีละ 300 วัด! ยุครุ่งเรืองของศาสนาแล้วจริงหรือ?

จากตัวเลขสถิติจำนวนพระภิกษุและสามเณรที่น้อยลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะจำนวนสามเณรที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและเห็นได้ชัด ในขณะที่ประชากรประเทศไทยเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มในอัตราที่ลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตที่ดูจะสวนทางกับจำนวนพระภิกษุและสามเณรที่มีแนวโน้มจะลดลงในอนาคต คือ จำนวนของวัดในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น

จากการเก็บข้อมูลสถิติจำนวนวัดในประเทศไทย ที่ได้มาจากหนังสือข้อมูลพื้นฐานทางพระพุทธศาสนา ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ประกอบกับข้อมูลบางส่วนจาก www.dhammathai.org ตั้งแต่ปี 2547-2555 เป็นเวลา 9 ปี พบว่าจำนวนวัดในประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกปี จากจำนวน 40,717 วัด ในปี 2547 มาเป็น 43,810 วัด ในปี 2555 เพิ่มขึ้น 3,093 วัดใน 9 ปี เฉลี่ยมีวัดเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละ 344 วัด

จำนวนวัดและจำนวนพระสงฆ์

จำนวนพระภิกษุและสามเณรที่ลดลงกับจำนวนวัดที่เพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่สวนทางกัน สะท้อนว่าจำนวนของพระสงฆ์และสามเณรต่อหนึ่งวัดมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ และมีแนวโน้มที่จะลดลงมากขึ้นอีกในอนาคต เนื่องจากจำนวนของสามเณรซึ่งเป็นศาสนทายาทมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

จากการสำรวจข้อมูลภาคสนามในปี พ.ศ. 2550 ของ ผศ.ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เขียนลงวารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ 18 ฉบับที่ 3 ประจำเดือนกันยายน-ธันวาคม พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นการสำรวจวัดในจังหวัดเชียงใหม่ 10 วัด จังหวัดอุบลราชธานี 6 วัด และจากการสัมภาษณ์เจ้าคณะตำบลในจังหวัดกาญจนบุรีรูปหนึ่งและจังหวัดอุทัยธานีอีกรูปหนึ่ง พบสภาพปัญหาที่เป็นไปในแนวทางเดียวกับสถิติข้างต้นดังต่อไปนี้

หนึ่ง พบปัญหาการขาดแคลนพระภิกษุนอกเขตเมือง เช่น ตำบล หมู่บ้าน ในแต่ละวัดจะมีพระภิกษุอยู่ประจำน้อยรูป คือประมาณ 1-4 รูป ส่วนมากจะมีเพียงรูปเดียวคือเจ้าอาวาสหรือรักษาการเจ้าอาวาส บางวัดขาดพระภิกษุที่จะอยู่ประจำตลอดทั้งปี แต่ชุมชนก็มีวิธีจัดการเพื่อให้มีพระภิกษุอยู่ประจำภายในพรรษา โดยไปนิมนต์จากท้องที่อื่นหรือวัดอื่นที่พอมีพระภิกษุสามเณรอยู่บ้างมาจำพรรษา

สอง ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้แต่ละวัดมีจำนวนพระภิกษุและสามเณรแตกต่างกันคือปัจจัยทางการศึกษา เนื่องจากชาวชนบทจำนวนหนึ่งยังต้องการพึ่งระบบการศึกษาของคณะสงฆ์เพื่อยกระดับทางสังคมหรือเศรษฐกิจของครอบครัว วัดที่มีการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกนักธรรม-บาลี หรือแผนกสามัญ มีการคมนาคมสะดวก ก็จะมีพระภิกษุสามเณรไปอยู่ประจำเป็นจำนวนมาก วัดที่มีชื่อเสียงด้านการปฏิบัติกรรมฐานก็จะมีพระภิกษุเข้าไปอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน ส่วนวัดที่ไม่มีการจัดการศึกษาด้านศาสนาหรือภารกิจด้านอื่นๆ เลยก็จะมีพระภิกษุอยู่ประจำน้อย

สาม พระภิกษุที่ประจำอยู่ในวัดต่างๆ ส่วนมากเป็นพระสังฆาธิการ ที่มีหน้าที่ด้านการปกครอง เช่น เจ้าอาวาสหรือรักษาการเจ้าอาวาส ภาระหน้าที่ทางการคณะสงฆ์สามารถดึงดูดให้พระภิกษุจำนวนหนึ่งบวชอยู่ได้นาน แต่ก็ไม่ได้มีหลักประกันว่า พระภิกษุรูปนั้นจะสามารถอยู่ในเพศบรรพชิตหรืออยู่ในเขตพื้นที่ดังกล่าวตลอดไป เพราะหน้าที่ด้านการปกครองมีความยุ่งยากและสร้างความกังวลได้มาก

สี่ ในแต่ละวัดที่สำรวจจะพบสิ่งที่เหมือนกันคือ จำนวนสามเณรที่ลดลงมาก บางวัดแม้จะมีพระภิกษุครบองค์สงฆ์แต่กลับไม่มีสามเณรอยู่เลย ตัวอย่างเช่น วัดใหม่เจริญผล ในอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี โดยการขาดแคลนนี้ปรากฏขึ้นเรื่อยๆ ในทุกภูมิภาค และจะเป็นเช่นนี้ไปอีกเรื่อยๆ หากไม่มีแนวทางแก้ไขที่เหมาะสม

ห้า คนรุ่นใหม่ที่นิยมบวชระยะสั้นมากขึ้น เมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว การบวชระยะสั้นคือการบวช 3 เดือนในพรรษา แต่ปัจจุบัน การบวชระยะสั้นคือการบวชตั้งแต่ 7-15 วัน เมื่อพิจารณาจากการบวชระยะสั้น จำนวนผู้บวชโดยรวมก็ไม่ได้ลดลงมากนัก และยังเป็นที่นิยมกันอยู่ แต่จุดมุ่งหมายเปลี่ยนไป กลายมาเป็นบวชตามประเพณีเพื่อทดแทนบุญคุณพ่อแม่ แทนที่จะมุ่งหวังให้ได้รับการอบรมสั่งสอนด้านศาสนาเหมือนเมื่อก่อน

หก คุณภาพของพระสงฆ์ แม้จะไม่มีเครื่องมือชี้วัดอย่างชัดเจนหรือไม่มีหลักฐานยืนยัน แต่จากข้อมูลที่พระสงฆ์ในทุกพื้นที่ประเมิน ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าคุณภาพของพระสงฆ์ในปัจจุบันลดลงมาก บางทีถึงกับบอกว่าไม่มีคุณภาพเลย การบวชระยะยาวมีน้อยลง การบวชระยะสั้นมีมากขึ้น คนที่บวชระยะยาวมักจะเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีความกระตือรือร้นในการศึกษาพระธรรมวินัย เพียงแต่ต้องการอาศัยร่มเงาพระศาสนาเป็นที่พึ่งสุดท้ายในวัยชรา จากที่กล่าวมาก็พอจะสันนิษฐานได้ว่า นอกจากจำนวนแล้ว คุณภาพโดยรวมของพระสงฆ์ในปัจจุบันก็ลดลงเช่นเดียวกัน

เหตุผลที่คนบวช

สถิติพบผู้บวช 70% บวชสั้น 30% บวชยาว

นอกจากที่กล่าวมาในข้างต้นแล้ว ยังมีอีกข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ “เราจะรู้ได้อย่างไร” ว่าพระภิกษุและสามเณรที่เข้ามาบวชนั้นบวชนานเท่าไหร่ มีผู้บวชระยะสั้นเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของผู้บวชระยะยาว โดยข้อสังเกตนี้มีกรณีศึกษาที่พอจะตอบคำถามได้บ้างไม่มากก็น้อย ดังนี้

ข้อมูลทางสถิติเมื่อปี พ.ศ. 2507 ในหนังสือ “สถาบันสงฆ์กับสังคมไทย” ของพระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เกี่ยวกับจำนวนพระภิกษุและสามเณรทั่วประเทศ เขียนว่ามีจำนวนพระภิกษุทั้งสิ้น 152,510 รูป ในจำนวนดังกล่าวนี้เมื่อแยกประเภทเป็นพระภิกษุบวช 3 เดือนตามประเพณี (บวชระยะสั้น) และพระภิกษุที่เป็นตัวเลขยืน (บวชระยะยาว) พบว่าเป็นผู้ที่เข้ามาบวชในระยะสั้นจำนวน 91,138 รูป ส่วนผู้ที่บวชในระยะยาวมีจำนวน 61,372 รูป หรือคิดเป็นสัดส่วนได้ว่า ผู้ที่เข้ามาบวชระยะสั้นมีสัดส่วนถึง 60%

ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 นายจำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์ ได้สำรวจพฤติกรรมการบวชของคนไทย โดยออกแบบสอบถามกลุ่มตัวอย่างพระภิกษุสามเณรจากทั่วประเทศจำนวน 920 รูป ผลจากการสำรวจพบว่า มีพระภิกษุสามเณรบวชตามประเพณี 43.5% บวชเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย 25% บวชเพื่ออุทิศส่วนกุศล 13% บวชเพื่อสืบทอดพระศาสนา 7.1% บวชเพื่อดำรงชีวิต 6.3% และบวชเพราะศรัทธาในพระศาสนา 5.1% จากข้อมูลดังกล่าว เมื่อรวมกลุ่มที่บวชตามประเพณี บวชเพื่ออุทิศส่วนกุศล และบวชเพื่อดำรงชีวิตเข้าด้วยกัน ก็จะมีพระภิกษุสามเณรจำนวนร้อยละ 62.8 ที่อาจจัดไว้ในกลุ่มที่พระราชวรมุนีกล่าวว่าเป็นประชาชน “ผู้เข้ามาเป็นภาระและรับประโยชน์จากคณะสงฆ์” ไม่ใช่ผู้ที่จะมาเป็นตัวยืนหลักในการดำรงพระศาสนา ส่วนที่เหลือที่อาจเป็นตัวยืนหรือเป็นกำลังหลักในการสืบพระทอดพระศาสนาคิดเป็นร้อยละ 37.2 อาจกล่าวได้ว่า 31 ปีให้หลัง (จาก พ.ศ. 2507) จำนวนพระสงฆ์ที่จะเป็นกำลังหลักของพระศาสนานั้นไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก

และในปี พ.ศ. 2550 พระมหากิตติพัฒน์ ศรีนาค ได้ศึกษาแนวโน้มวิกฤติพระสงฆ์ศาสนทายาทเนื่องจากการบวชระยะสั้นในสังคมไทย โดยสำรวจการบวชระยะสั้นของพระสงฆ์ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดราชบุรี พบว่าในช่วง 3 ปีย้อนหลัง คือ พ.ศ. 2545-2547 มีชาวพุทธที่บวชระยะสั้น ใช้ระยะเวลาในการบวชประมาณ 7 วัน ถึง 1 เดือน มีจำนวนเกือบร้อยละ 70 ของผู้บวชทั้งหมด หมายความว่าในบรรดาผู้มาบวช 10 คน มีผู้บวชระยะสั้นแล้วสึกถึง 7 คน ในขณะที่อีก 3 คนที่เหลือบวชเพื่อจำพรรษา

จากข้อมูลการสำรวจทั้ง 3 แหล่ง ซึ่งแม้จะเป็นข้อมูลที่เก็บมานานแล้วก็ตาม พบว่ามีความคล้ายคลึงกันมากในเรื่องสัดส่วนของผู้ที่เข้ามาบวชระยะสั้น หรือผู้ที่เข้ามาบวชเพื่อจุดประสงฆ์ที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อค้ำจุนและสืบทอดพระศาสนา ว่าเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 60%-70% ในขณะที่ผู้ที่เข้ามาบวชในระยะยาวกลับมีเพียง 30%-40% ของผู้บวชทั้งหมด สะท้อนว่า จำนวนประชากรของพระภิกษุและสามเณรจากตัวเลขสถิติประจำปีนั้นมีความคลาดเคลื่อนในแง่ความเป็นจริงอยู่ไม่มากก็น้อย เพราะเพียงแค่ผู้ที่เข้ามาบวชเป็นระยะเวลาสั้นๆ แล้วสึก ก็จะถูกนับเข้าไปในสถิติทันที

นอกจากในด้านปริมาณแล้ว ในด้านคุณภาพของพระสงฆ์ไทยก็ปรากฏปัญหาความเสื่อมโทรมของพระศาสนาเด่นชัดขึ้นทุกวัน เพียงแต่ยังไม่มีเครื่องมือชี้วัดที่นำมาพิสูจน์ได้ก็เท่านั้นเอง

จำนวนวัดและประเภทวัด

อย่างไรก็ตาม วัดในประเทศไทยมีจำนวนมาก แบ่งออกเป็น พระอารามหลวง หรือ วัดหลวง วัดราษฎร์ และวัดร้าง

พระอารามหลวง คือวัดที่พระมหากษัตริย์ หรือพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงสร้างหรือทรงบูรณปฏิสังขรณ์ หรือมีผู้สร้างน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นวัดหลวง และวัดที่ราษฎรสร้าง หรือบูรณปฏิสังขรณ์ และขอพระราชทานให้ทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวง

วัดราษฎร์ ได้แก่วัดที่ประชาชนสร้าง หรือปฏิสังขรณ์

วัดร้าง คือวัดที่ทรุดโทรม ไม่มีพระสงฆ์พำนักอาศัยจำพรรษา ทางราชการจะขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งหากบูรณะได้อาจยกเป็นวัดมีพระสงฆ์ต่อไป เช่น วัดไชยวัฒนาราม (พระนครศรีอยุธยา)

นอกจากนี้ วัดในประเทศไทยยังมีการแบ่งออกเป็นอีก 2 ลักษณะ คือ วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และสำนักสงฆ์

วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา คือวัดที่มีอุโบสถเป็นที่ทำสังฆกรรม คำว่า วิสุงคามสีมา ในที่นี้หมายถึงเขตที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่สงฆ์เพื่อใช้เป็นที่สร้างโบสถ์

สำนักสงฆ์ คือ วัดที่ยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา จึงไม่มีอุโบสถ