การแต่งกายของชาวตะเลงในพม่าและสยาม

2020-10-07T05:18:48+00:00

ชาวตะเลงในพม่า แต่งกายคล้ายคลึงชาวพม่า แตกต่างกันน้อยมาก ผู้ชายนุ่งผ้าหน้าแคบ ยาวประมาณ ๘ หลา ไม่ตัดเข้าทรง เวลานุ่งรวบชายผ้าไว้ข้างหน้าพับสามทบ ทิ้งชายผ้ายาว หรือบางครั้งเอาพาดบ่า สำหรับคนแก่ จะเอาชายผ้าพันคอกันหนาวตอนเช้าเหมือนผ้าพันคอหรือผ้าคลุมไหล่ ผ้าฝ้ายใช้นุ่งประจำวัน ส่วนผ้าไหมใช้นุ่งในโอกาสพิเศษ ร่างท่อนบนสวมเสื้อตัดเย็บด้วยผ้าฝ้ายสีขาว หรือสีเข้ม เข้ารูปพอดีตัว ใช้ผ้าไหมสีสดโพกศีรษะ ผู้หญิงนุ่งผ้าลักษณะเดียวกับผู้ชาย แต่ลวดลายและความยาวต่างกัน สวมเสื้อสีขาวหรือสีต่างๆ ตัดเย็บด้วยผ้าฝ้ายหรือผ้าไหม ในโอกาสพิเศษคล้องหรือห่มผ้าไหมสีสด หญิงสูงอายุบางคนนุ่งผ้าถุงหน้าแคบมาก เป็นผ้าไหมผืนสี่เหลี่ยมเพลาะติดกัน ๒ ผืน เวลาเดินเผยเห็นขา ทั้งชายและหญิงสวมรองเท้าแตะเหมือนกัน ชายชาวตะเลงในสยามแต่งกายคล้ายคลึงชาวสยาม นุ่งผ้านุ่งโจง แต่นิยมสวมเสื้อแบบพม่า ภายหลังนิยมสวมเสื้อแบบตะวันตกตามความนิยมของสยาม อีกทั้งสวมหมวกด้วย ชาวตะเลงในสยามไม่โพกศีรษะ ด้วยตัดผมสั้น การไว้ผมแบบดั้งเดิมของชาวตะเลงอาจสืบค้นได้ยาก นักประวัติศาสตร์ชาวตะเลงบอกว่า เมื่อพระเจ้าตะบินชเวที ขึ้นครองบัลลังก์เมืองพะโคได้ ๔ ปี ก็ตัดผมตามอย่างธรรมเนียมมอญ มีคนบอกว่าไม่ตัดผมสั้นเหมือนชาวตะวันตกหรือสยาม แต่เป็นทรงเหมือนชามคว่ำบนศีรษะ เล็มปลายผมให้เรียบเสมอกัน หญิงชาวมอญในสยามไว้ผมยาวเกล้ามวยบริเวณท้ายทอย แตกต่างจากทรงผมชาวพม่า เพราะชาวพม่าเกล้าผมกลางศีรษะ และนุ่งผ้าแตกต่างจากชาวพม่า หญิงชาวสยามหาบไม้คานส่วนหญิงชาวพม่าเทินสัมภาระบนศีรษะ หญิงชาวมอญสวมเสื้อแขนยาวสีขาว ในโอกาสพิเศษ และสวมเสื้อสีเข้มในชีวิตประจำวัน ชาวตะเลงในสยามไม่สักหมึก ขณะชาวตะเลงในพม่าสักหมึกกันทั่วไป มีหลักฐานชัดเจน บันทึกนักเดินทางในสมัยโบราณระบุว่า รอยสักเป็นสิ่งแยกแยะชาวพม่าออกจากชาวตะเลง ในสยามมีคนสักหมึกน้อย ส่วนใหญ่อาจารย์สักหมึกชาวพม่าผู้เดินทางท่องเที่ยวมาเป็นคนสักให้ ฯลฯ สุทธิศักดิ์ ถอดความ ภาพ Mameet ชาวตะเลงธิดาเจ้าเมืองเเปร ('A Series of Views in Burmah) Talaings by Halliday R. Publication date 1917