Brunei Darussalam ประเทศบรูไนดาลุสซาราม
Brunei Darussalam
บรูไนตั้งอยู่ตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว ซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก (743,330 ตาราง กม.) โดยมีพื้นที่ร้อยละ 73 อยู่ในกาลิมันตันของอินโดนีเซีย ร้อยละ 26 อยู่ในรัฐซาบาห์และซาราวักของมาเลเซีย และร้อยละ 1 ในบรูไน (5,765 ตาราง กม.) พื้นที่ส่วนใหญ่ในเกาะเป็นป่าร้อนชื้นซึ่งมีอายุมากกว่า 100 ล้านปี
ในอดีตบอร์เนียวเป็นชื่อที่ระบุในเอกสารประวัติศาสตร์ของจีนว่าเป็นหนึ่งในเมืองท่าของการค้าขายระหว่างราชวงศ์หมิงของจีนและราชวงศ์มัชปาหิต (Majapahit) ของอินโดนีเซีย ต่อมาในปี คศ. 1400 สุลต่านของบรูไนได้ประกาศอิสรภาพออกจากอาณาจักรมัชปาหิต และราชวงศ์ Bolkiah (โบลเกียห์) ได้ปกครองบอร์เนียวตอนเหนือนับตั้งแต่นั้นมาจนถึงในช่วงระหว่างปีคศ. 1600 – 1800 ซึ่งเป็นยุคล่าอาณานิคม ประเทศโปรตุเกส อังกฤษ และดัตช์ ได้ขยายอิทธิพลมายังเกาะบอร์เนียว โดยในปี คศ. 1842 สุลต่านบรูไนได้ยกดินแดน (รัฐซาราวัก) ให้แก่ชาวอังกฤษชื่อ James Brooke ที่เข้ามาช่วยขับไล่กลุ่มกบฎและได้สร้างราชวงศ์ซาราวักขึ้นหรือที่เรียกกันว่า”ราชาคนขาว”ในดินแดนดังกล่าว
ในปี คศ. 1888 บรูไนและบอร์เนียวตอนเหนือทั้งหมดอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ เพื่อยับยั้งอิทธิพลของดัตช์ในพื้นที่บอร์เนียวตอนกลางและตอนใต้ ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังจากการประกาศอิสรภาพของอินโดนีเซียในปี คศ.1945 และสหพันธรัฐมาเลเซียในปี 1961 ทุกประเทศที่เกี่ยวข้องกับเกาะบอร์เนียวได้มาเจรจากันหลายปีเรื่องเขตแดน และท้ายที่สุดได้มีข้อตกลงในเรื่องดังกล่าวโดยอินโดนีเซียถือครองพื้นที่เขตกาลิมันตัน มาเลเซียในพื้นที่บอร์เนียวตอนเหนือทั้งหมด อย่างไรก็ดี บรูไนได้ขอถอนตัวจากข้อเสนอสหพันธ์รัฐของมาเลเซีย และประกาศเอกราชในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ คศ. 1984
บรูไนเป็นประเทศที่ร่ำรวยไปด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำรายได้มาสู่ประเทศเป็นอันดับหนึ่ง แต่รัฐบาลบรูไนก็เริ่มตระหนักว่าประเทศชาติจะพึ่งพิงรายได้จากทรัพยากรเพียงแค่สองอย่างนี้ไม่ได้ แต่ต้องให้ความสนใจทรัพยากรธรรมชาติอี่น ๆ ที่ยังคงมีอยู่มากมาย เช่น ป่าไม้ แร่ธาตุ สัตว์น้ำ และพื้นที่อันอุดมสมบรูณ์อันเหมาะแก่การเกษตร เพื่อเป็นการเร่งรัดการพัฒนารูปแบบของการลงทุน สุลตานบรูในได้ทรงตั้งกระทรวงขึ้นมาใหม่คือกระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อทำหน้าที่ดูแลวางแผนและดำเนินงานด้านอุตสาหกรรมและการลงทุนโดยเฉพาะ โครงการอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนและเร่งรัดส่งเสริมเป็นพิเศษ ได้แก่ อุตสาหกรรมขนาดเล็ก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่สัมพันธ์กับภาคเกษตร ป่าไม้ และการประมง การดำเนินการช่วงแรกนั้น รัฐบาลมุ่งสนับสนุนโรงงานและอุตสาหกรรมขนาดเล็กในภูมิภาคที่สามารถป้อนผลผลิตให้กับผู้บริโภคในท้องถิ่นก่อนเป็นอันดับแรกแล้วจึงขยายไปสู่การผลิตเพื่อการส่งออกในระยะยาว รัฐบาลได้ตั้ง่ความหวังว่าอุตสหกรรมเหล่านี้จะเป็นแหล่งที่เข้ามาแทนที่อุตสาหกรรมน้ำมันที่อาจหมดไปในอนาคต โดยที่ประชาชนยังมีหลักประกันว่าจะมีงานทำ บรูไนเป็นประเทศที่มั่งคั่งด้วยทรัพยากร แต่ขณะนี้บรูไนยังมีประชากรน้อยมาก จึงต้องพึ่งพาแรงงานหรือนักลงทุนจากต่างชาติเข้าไปร่วมลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามบรูไนพยายามที่จะพัฒนาประเทศให้พึ่งพาตัวเองได้ แม้ว่าบรูไนจะเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีค่าครองชีพสูงมากแห่งหนึ่งของโลก แต่รัฐบาลได้ให้สวัสดิการอย่างดีแก่ประชาชน อาทิเช่น ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคล ค่ารักษาพยาบาลฟรี ด้านการศึกษา รัฐให้ทุนสนับสนุนจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษา นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการแก่ข้าราชการของรัฐด้วย
ธงชาติบรูไน
“บรูไนดารุสซาลาม” (Brunei Darussalam) แปลว่า นครแห่งสันติสุข
ลักษณะของธงชาตินั้นเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นสีเหลือง ภายในมีแถบสีขาวและสีดำวางพาดตามแนวทแยงมุม จากมุมบนด้านคันธงไปยังมุมล่างด้านปลายธง โดยสีขาวอยู่บน สีดำอยู่ล่าง กลางธงนั้นมีภาพตราแผ่นดินของบรูไน
– พื้นธงสีเหลือง หมายถึงกษัตริย์ (ธงประจำพระองค์ของสุลต่านแห่งบรูไน ใช้ธงพื้นสีเหลือง)
– สีขาวและสีดำ หมายถึงมุขมนตรีของประเทศบรูไน
สาเหตุที่ธงชาติบรูไนใช้สีเหลืองสื่อถึงกษัตริย์นั้น เนื่องจากธงประจำพระองค์ของสุลต่านแห่งบรูไน ใช้ธงพื้นสีเหลือง โดยประเทศบรูไน เริ่มมีธงชาติของตนเองใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2502 ซึ่งขณะนั้นบรูไนยังเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ (สหราชอาณาจักร) ต่อมาภายหลังจึงได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2527 ภายใต้ชื่อประเทศ “บรูไนดารุสซาลาม”
เดิมรัฐสุลต่านบรูไนใช้ธงสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ของรัฐมาโดยตลอดแม้อยู่ในช่วงของการเป็นรัฐในอารักขาของสหราชอาณาจักร ต่อมาจึงได้มีการเพิ่มแถบสี คาดสีขาว-ดำ ลงบนธงในปี พ.ศ. 2449 เพื่อให้เกิดความแตกต่างจากธงอื่นที่ใช้สีเหลืองชัดเจนขึ้น และได้มีการแก้ไขแบบธงอีกครั้งโดยการเพิ่มรูปตราแผ่นดินลงบนกลางธงในปี พ.ศ. 2509 ดังลักษณะที่ปรากฏในปัจจุบันนี้
ระบอบการปกครอง
ประเทศบรูไน ปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ (His Majesty Sultan Haji Hassanal Bolkiah Mu’izzaddin Waddaulah) พระราชาธิบดีแห่งบรูไนทรงเป็นประมุข สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี อัสซานัล โบลเกียห์เป็นพระราชโอรสพระองค์แรกของสุลต่าน เซอร์ มูดา โอมาร์ อาลี ไซฟุดดิน (พระราชาธิบดีพระองค์ที่ 28 แห่งบรูไน) เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2489 ทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการทหารแซนด์เฮิร์สต์ ประเทศอังกฤษ และได้รับการสถาปนาเป็นมกุฎราชกุมารเมื่อปี พ.ศ. 2504 พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2510 ทรงดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพบรูไน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้า จึงเป็นศูนย์รวมอำนาจการปกครองและบริหารประเทศ
สภานิติบัญญัติ (Legislative Council) จัดตั้งขึ้นในปี คศ.1959 เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ และดูแลเรื่องการออกกฎหมาย โดยจะมีวาระการประชุมอย่างต่อเนื่องทุกปี และเป็นสถานที่ที่สมเด็จพระราชาธิบดีจะมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับนโยบายสำคัญต่างๆ อาทิ ในปี คศ. 1989 ได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการสร้างความมั่นคงและการกินดีอยู่ดีของประชาชน ในปี คศ. 1992 มีพระราชดำรัสในเรื่องปรัชญาแห่งชาติคือ ราชาธิปไตยอิสลามมลายู ( Malay Islamic Monarchy : MIB) ซึ่งใจความสำคัญเป็นเรื่องสุลต่านกับประชาชน และศรัทธาต่อพระอัลละห์และผู้ปกครองแผ่นดิน หลังจากนั้นในปี คศ. 2014 ได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับกฎหมายอาญาอิสลาม ซึ่งบรูไนเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่บังคับใช้กฎหมายดังกล่าว
รัฐบาลจัดตั้งขึ้นครั้งแรกในปี คศ. 1984 โดยรัฐมนตรีจะมีวาระการทำงาน 5 ปีเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวงต่างๆ โดยสมเด็จพระราชาธิบดีจะทำหน้าที่แต่งตั้งรัฐมนตรีโดยคัดเลือกจากความไว้วางพระราชหฤทัยและคุณสมบัติ อย่างไรก็ดี รัฐบาลบรูไนทุกสมัยมีการปรับเปลี่ยนรายชื่อคณะรัฐมนตรีก่อนครบวาระบ้างขึ้นอยู่กับผลงาน และความไว้วางใจของสมเด็จพระราชาธิบดี อาทิ ในกรณีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2018 ได้มีการปรับรัฐมนตรีออกหลายตำแหน่งเนื่องด้วยมีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้อำนาจส่วนตัวของรัฐมนตรีบางคนที่เอื้อประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง
นอกจากบรูไนจะมีการใช้ราชทินนามสำหรับราชวงศ์ พระญาติ แล้ว ยังมีชื่อเรียกผู้มีบรรดาศักดิ์ซึ่งเป็นระบบขุนนางในสมัยก่อนที่จะมีคณะรัฐมนตรีด้วย ได้แก่ Wazir และ Cheteria (ปัจจุบันมีประมาณ 17 คน เป็นผู้มีเชื้อสายพระราชวงศ์) นอกจากนี้ จะมีสรรพนามที่เห็นบ่อย ๆ ได้แก่ Pengiran Anak/Pengiran Muda คือ ผู้มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติใกล้ชิดกับสุลต่าน ส่วน Pengiran คือ ผู้มีเชื้อพระวงศ์ (มีจำนวนมาก) ซึ่งคนเหล่านี้จะได้รับธงประจำตัว ไว้เชิญสู่เสาธงหน้าบ้าน สำหรับ Pehin/ Dato และ Datin คือตำแหน่งที่สุลต่านพระราชทานแก่ชาย/หญิงที่ทำประโยชน์แก่ประเทศ (Pehin มีขั้นสูงกว่า Dato) ส่วนคำว่า Awang คือ นาย และคำว่า Dayang คือนางหรือนางสาว และสำหรับชายและหญิงที่เคยเดินทางไปร่วมพิธีฮัจญ์ในเมืองเจดดาห์มาแล้ว จะมีคำนำหน้าชื่อคือ Haji (ชาย) Hajah (หญิง) นอกจากนี้ ยังมีคำนำหน้าพิเศษ (prefix) สำหรับใช้เฉพาะในหนังสือราชการ และสุนทรพจน์อีกด้วย โดยคำว่า Yang Amat Mulia ใช้กับผู้ที่มีเชื้อสายพระราชวงศ์ในระดับที่ตำกว่าเจ้าชาย และ Yang Mulia สำหรับบุคคลทั่วไป
ตราแผ่นดิน
(มาเลย์: معطف من الأسلحة بروناي.) ใช้เครื่องหมายอย่างเดียวกับที่ปรากฏในธงชาติบรูไน เริ่มใช้เมื่อ พ.ศ. 2475 ประกอบด้วยสัญลักษณ์ 5 อย่าง คือ ราชธวัช (ธง) พระกลด (ร่ม) ปีกนก 4 ขน มือสองข้าง และซีกวงเดือนหรือพระจันทร์เสี้ยว ภายในวงเดือนซึ่งหงายขึ้นนั้น มีข้อความภาษาอาหรับจารึกไว้ ซึ่งแปลความได้ว่า “น้อมรับใช้ตามแนวทางของพระอัลเลาะห์เสมอ” (“Always in service with God’s guidance”) เบื้องล่างสุดมีแพรแถบจารึกชื่อประเทศไว้ว่า บรูไนดารุสซาลาม (มาเลย์: بروناي دار السلام) แปลว่า นครแห่งสันติ
สัญลักษณ์ต่างๆ มีความหมายดังนี้
- ราชธวัช (Bandera) และพระกลด (Poyang Ubor-Ubor) หมายถึง สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม (ของทั้งสองสิ่งนี้ นับเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามคติบรูไน)
- ปีกนก 4 ขน (Seep) หมายถึง การพิทักษ์ความยุติธรรม ความสงบ ความเจริญ และสันติสุขของชาติ
- มือสองข้างที่ชูขึ้น (Tongan หรือ Kim hap) หมายถึง หน้าที่ของรัฐบาลที่จะยกระดับความมั่งคั่ง สันติสุข และความวัฒนาถาวรให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป
- ซีกวงเดือนหงาย (Boland) หมายถึง ศาสนาอิสลาม อันเป็นศาสนาประจำชาติ
การเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของบรูไน
ประเทศบรูไนได้เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 6 เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2527 การเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของประเทศบรูไนนั้น มีปัจจัยสนับสนุนแยกได้เป็น 2 ประการคือ
เนื่องจากบรูไนเป็นประเทศเล็ก ศักยภาพและอำนาจต่อรองทางการเมืองไม่สูง ดังนั้น บรูไนจึงมีความพยายามในการเสริมสร้างผลประโยชน์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่งคงระหว่างประเทศ และมุ่งเน้น ความเป็นภูมิภาคนิยมมากขึ้น จากเดิมที่มักให้ความสำคัญกับชาติตะวันตกอย่างอังกฤษเจ้าอาณานิคม สำหรับด้านการเมือง การที่อาเซียนมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเท่ากับเพิ่มน้ำเสียงของอาเซียนในเวทีการเมืองระหว่าง ประเทศให้หนักแน่นขึ้น ยิ่งกว่านั้น นอกจากบรูไนจะเป็นประเทศที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจด้วยทรัพยากรน้ำมันแล้ว บรูไนยังเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ อาทิ กลุ่มประเทศเครือจักรภพ และองค์การที่ประชุมอิสลาม เป็นต้น จึงมีช่องทางที่จะโน้มน้าวให้ประเทศสมาชิกองค์การต่างๆ เหล่านี้คล้อยตามอาเซียนได้ไม่ยากนัก ดังนั้น การสมัครเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของบรูไนจึงเอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่ ทั้งบรูไนและอาเซียน
บทบาทการเป็นประธานอาเซียน ประเทศบรูไนได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 5-6 พฤศจิกายน พ.ศ.2544 ที่เมืองบันดาร์เสรีเบกาวัน โดยผู้นำบรูไนได้ประนามการก่อวินาศกรรมในสหรัฐอเมริกา พร้อมได้ร่วมลงนามในปฏิญญาการประชุมสุดยอดผู้นำ อาเซียนว่าด้วยการป้องกันการก่อการร้ายร่วมกัน โดยเป็นความร่วมมือทั้งในกรอบทวิภาคี ภูมิภาค และระหว่างประเทศ เพื่อต่อต้านการก่อการร้ายอย่างรอบด้าน และเพื่อที่จะทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ปลอดจากภัยคุกคาม ความร่วมมือนี้จะนำมาซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคง ถือเป็นปัจจัยต่อการพัฒนาและความมั่งคั่งยิ่งขึ้นในอาเซียน
สกุลเงิน
อาหารประจำชาติ
อัมบูยัต (Ambuyat) เป็นอาหารยอดนิยมของบรูไน มีลักษณะเด่นอยู่ที่ตัวแป้งจะเหนียวข้นคล้ายข้าวต้ม หรือโจ๊กโดยมีแป้งสาคูเป็นส่วนผสมหลัก ตัวแป้งอัมบูยัตเอง ไม่มีรสชาติแต่ความอร่อยจะอยู่ที่การจิ้มกับซอสผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว นอกจากนี้ยังมีเครื่องเคียงอีก 2-3 ชนิด เช่น ผักสด เนื้อห่อใบตองย่างหรือเนื้อทอด ทั้งนี้ การรับประทานอัมบูยัตให้ได้รสชาติ ต้องรับประทานตอนร้อน ๆ จึงจะดีที่สุด
ดอกไม้ประจำชาติ
ดอก ซิมปอร์ (Simpor) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ดอกส้านชะวา (Dillenia) ดอกไม้ประจำท้องถิ่นบรูไน ที่มีกลีบขนาดใหญ่สีเหลือง หากบานเต็มที่แล้วกลีบดอกจะมีลักษณะคล้ายร่ม พบเห็นได้ตามแม่น้ำทั่วไปของบรูไน มีสรรพคุณช่วยรักษาบาดแผล หากใครแวะไปเยือนบรูไน จะพบเห็นได้จากธนบัตรใบละ 1 ดอลลาร์ ของประเทศบรูไน และในงานศิลปะพื้นเมืองอีกด้วย
กีฬาประจำชาติ
ปันจักสีลัต (Pencak Silat) เป็นคำที่มาจากภาษาอินโดนีเซียมาจากคำว่าปันจัก (Pencak) หมายถึงการป้องกันตนเอง และคำว่า สีลัต (Silat) หมายถึงศิลปะ รวมความแล้วหมายถึงศิลปะการป้องกันตนเอง กีฬาประเภทนี้เดิมเป็นศิลปะการต่อสู้ของคนเชื้อสายมาลายู ในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน และพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย คือ ปัตตานี ยะลา สตูล นราธิวาส และสงขลา เรียกว่า “สิละ” “ดีกา” หรือ “บือดีกา” เป็นศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าเท้าเปล่า เน้นให้เห็นลีลาการเคลื่อนไหวที่สวยงาม มีบางท่านกล่าวว่า สิละมีรากคำว่า ศิละ ภาษาสันสกฤต
เครื่องแต่งกายประจำชาติ
ชุดประจำชาติของบรูไนคล้ายกับชุดประจำชาติของผู้ชายประเทศมาเลเซีย เป็นการสะท้อนวัฒนธรรมสังคมแบบอนุรักษ์นิยมเพราะบรูไนเป็นประเทศมุสลิม จึงต้องแต่งกายมิดชิดและสุภาพเรียบร้อย ผู้หญิง เรียกว่า บาจูกุรุง (Baju Kurung) โดยมักแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่มีสีสดใส เป็นเสื้อผ้าที่คลุมร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า สวมผ้าคุมศีรษะในที่สาธารณะ และในสถานที่ราชการ ส่วนผู้ชาย เรียกว่า บาจู มลายู (Baju Melayu) จะแต่งกายเป็นทางการทั้งในสถานที่ราชการและที่สาธารณะ คือจะสวมเสื้อแขนยาวตัวเสื้อยาวถึงเข่านุ่งกางเกงขายาวแล้วนุ่งโสร่ง
สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำในประเทศบรูไน
ที่มา
http://www.aseanthai.net/mobile_list.php?cid=47
https://bsb.thaiembassy.org/th/page/87321–ข้อมูลประเทศบรูไนฯ?menu=5d830eec15e39c31b4002627
https://aseandress.weebly.com/36103619364136523609.html
https://sites.google.com/site/sportsofasean/home/kilaasean/brunei-darussalam
https://sites.google.com/site/prathesbruniy/home/thng-prathes-bruni-1