โอกาสของไทยในอาเซียน

“ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (ASEAN Economic Community – AEC)  ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2558 จากความร่วมมือของประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนทั้งหมด 10 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย เมียนมา ลาว เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และบรูไน โดยมีจุดประสงค์เพื่อ

  1. การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน
  2. การเป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง
  3. การเป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน
  4. การเป็นภูมิภาคที่มีการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก

ความร่วมมือดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นเพื่อสร้างเขตเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนเองเหมือนดังสหภาพยุโรป แต่ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ยังแตกต่างจากสหภาพยุโรปในบางเรื่อง เช่น ประเทศอาเซียนยังใช้เงินสกุลเดิมของแต่ละประเทศอยู่ซึ่งแตกต่างจากสหภาพยุโรปที่ใช้เงินสกุลยูโรในการทำการค้าขายกัน การใช้เงินสกุลเดียวกันจะทำให้เกิดประสิทธิภาพทางการค้าสูงเพราะไม่ต้องแลกเปลี่ยนสกุลเงินไปมาทุกครั้งเวลาทำการซื้อขายกันเพราะทุกคนในภูมิภาคใช้เงินสกุลเดียวกันอยู่แล้วและทำให้การท่องเที่ยวหรือย้ายถิ่นฐานในเชิงแรงงานสามารถทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ

การตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีผลกระทบกับประเทศไทยโดยตรงทั้งทางบวกและทางลบ ที่เห็นได้ชัดคือการค้าขายระหว่างประเทศอาเซียนมีความเป็นเสรีมาก เพราะมีการยกเลิกภาษีนำเข้าของประเทศในกลุ่มอาเซียน แต่อาจจะมีข้อยกเว้นสำหรับสินค้าบางประเภทที่เรียกกันว่าสินค้าอ่อนไหวเพื่อดูแลเกษตรกรในประเทศ อีกทั้งยังทำให้ผู้ผลิตของไทยสามารถขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีแรงงานราคาต่ำทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ และหากผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการยังไม่พร้อมจะขยายการลงทุนไปยังประเทศอื่น การเคลื่อนย้ายแรงงานในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้นมีความเสรีทำให้ไทยไม่ขาดแคลนแรงงานอีกต่อไป ทำให้ผู้ประกอบการกล้าที่จะลงทุนในโครงการใหม่ๆ เพราะมีอุปทานทางด้านแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านสนับสนุน รวมไปถึงโอกาสด้านธุรกิจการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้า

อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์อาเซียนศึกษา มจร ขอนำเสนอประเด็นที่น่าสนใน ในบทความวิชาการเรื่อง “ประเทศไทยในกระแส AEC: มายาคติ ความเป็นจริง โอกาส และความท้าทาย” โดย ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู และคณะ ซึ่งมีการนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไว้ 4 ประการคือ

  1. ประเทศไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงคือ ในปี 2558 พบว่า จะยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ต่อประเทศไทย เนื่องจากการเปิดเสรีการค้าสินค้าในปัจจุบันมีการลดภาษีศุลกากรให้เป็น 0% (เริ่มมาตั้งแต่ปี 2536 ตามกรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน AFTA-CEPT) ไปแล้วถึง 99.5% ซึ่งถือว่าเสร็จสิ้นเกือบสมบูรณ์แล้ว เมื่อเกิด AEC ในปี 2558 จึงแทบไม่มีการเปลี่ยนปลงในเรื่องนี้ และเรื่องการเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุนยังคงไม่มีความคืบหน้ามาก เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านกฎหมายภายในประเทศของไทย
  2. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานทุกประเภทโดยเสรี  ข้อเท็จจริงคือ จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเกี่ยวข้องเฉพาะวิชาชีพ 8 สาขา ภายใต้ข้อตกลงการยอมรับร่วมกัน (MRAs) เท่านั้น ในข้อตกลงระบุว่า แรงงานจะต้องขึ้นทะเบียนเป็นนักวิชาชีพอาเซียน และผู้ที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ จะต้องผ่านการสอบความรู้และมาตรฐานวิชาชีพที่เป็นภาษาไทย ทำให้การเคลื่อนย้ายแรงงานจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยจึงยังไม่เกิดขึ้นทันที ขณะที่การจดทะเบียนวิศวกรอาเซียนกลับพบว่า ประเทศไทยยังไม่มีวิศวกรคนใดเลยที่ไปจดทะเบียนเป็นวิศวกรอาเซียนตามข้อตกลง

      3. AEC จะทำให้นักลงทุนอาเซียนสามารถลงทุนในธุรกิจบริการได้อย่างเสรี โดยไม่มีข้อจำกัด ตั้งแต่ปี 2558   ข้อเท็จจริงคือ ในปี 2558 ชาติอาเซียนจะถือหุ้นในธุรกิจบริการได้อย่างน้อย 70% โดยการเปิดเสรีขึ้นกับกฎหมายภายในประเทศ ซึ่งพบข้อเท็จจริงว่า ไม่มีข้อกำหนดของ AEC ที่บังคับให้สมาชิกประชาคมต้องแก้กฎหมายให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในธุรกิจได้ 100% ส่งผลให้กรอบการเปิดเสรีภาคบริการภายใต้ AEC ซึ่งเป็นไปตามความสมัครใจของประเทศสมาชิกยังมีความคืบหน้าไม่มากนัก สำหรับประเทศไทย พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 49 ในธุรกิจบริการ ดังนั้น การเปิดเสรีภาคบริการของไทยภายใต้ AEC จึงอยู่ในระดับที่จำกัดมาก

     4.การรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนคล้ายกับสหภาพยุโรป (European Union: EU) จึงก่อให้เกิดความเสี่ยงในลักษณะเดียวกัน ข้อเท็จจริงคือ ระดับการบูรณาการทางเศรษฐกิจของ AEC แตกต่างจากสหภาพยุโรปมาก เพราะสหภาพยุโรปเป็น Economic Union ซึ่งมีการจัดตั้งหน่วยงานที่มีอำนาจเหนือรัฐ แต่ประชาคมอาเซียนเป็น Free Trade Area ที่มีการเคลื่อนย้ายทุนและแรงงานเสรีจำกัดมาก โดยแต่ละประเทศยังคงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย การตัดสินใจดำเนินการใดๆ ของอาเซียนจึงต้องได้รับความยินยอมจากประเทศสมาชิกทั้งหมด ทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินนโยบายต่างๆ ร่วมกัน

ทั้งนี้ จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ในบทความยังได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องโอกาสของไทยในอาเซียนไว้ 3 ประการ ได้แก่

1. โอกาสจากการใช้อาเซียนเป็นฐานการผลิตประเทศไทยสามารถใช้อาเซียนเป็นฐานการผลิตเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทย ทั้งการขาดแคลนแรงงาน การขาดแคลนพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการขาดที่ตั้งของอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนเข้มข้น เช่น เหล็กต้นน้ำและปิโตรเคมี โดยปัญหาในภาคแรงงานไทย เกิดจากการที่ประเทศไทยประสบภาวะแรงงานตึงตัว และแรงงานสูงอายุมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น เกิดปัญหาค่าจ้างแรงงานในประเทศสูง ทำให้เกิดโอกาสจากแรงงานในอาเซียนที่มีค่าจ้างแรงงาน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่งที่ถูกกว่าไทยมาก ขณะที่ปัญหาความจำกัดและไม่เพียงพอของการผลิตพลังงานในไทย ทำให้ไทยต้องพึ่งพาพลังงานจากประเทศเพื่อบ้านสูง เช่น ก๊าซธรรมชาติจากพม่า (19.3% ของก๊าซทั้งหมด) ถ่านหินจากอินโดนีเซีย (34.7%) และปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศไทยได้มาจากประเทศลาวกว่า 7.2% จากศักยภาพด้านพลังงานของอาเซียน จึงเป็นโอกาสต่อประเทศไทย

2. โอกาสจากการที่อาเซียนจะรวมกันเป็นตลาดเดียว (single market) ในอนาคต
การรวมกลุ่มในอาเซียนเป็นตลาดเดียวในอนาคต จะทำให้เกิดตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าตลาดในประเทศ ซึ่งมีผลในการช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยและอาเซียนมากขึ้น และขนาดตลาดในอาเซียนยังจะใหญ่ขึ้นไปอีกในอนาคต เนื่องจากการมีประชากรและคนชั้นกลางเพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับการมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น

3. โอกาสจากการใช้อาเซียนเป็นเวที (platform) ในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ขยายต่อเนื่องไปอีก อาเซียนยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในด้านการเป็นเวที (platform) ในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต เช่น อาเซียน+3 ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และ RCEP ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หากการรวมกลุ่มดังกล่าวประสบความสำเร็จ ขนาดของตลาดก็จะยิ่งขยายใหญ่ขึ้นหลายเท่า เช่น RCEP จะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกและประเทศไทยยังจะได้รับโอกาสเฉพาะสำหรับประเทศไทยจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในอาเซียน เนื่องจากการมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลาง (hub) ของการเชื่อมต่อในภูมิภาค กล่าวคือ ประเทศไทยมี 33 จังหวัด ซึ่งติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้การขนส่งทางบกเกิดขึ้นได้โดยง่าย ดังจะเห็นว่าระเบียงเศรษฐกิจ (economic corridors) ในภูมิภาคที่สำคัญล้วนต้องผ่านประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น East-West Corridor (เชื่อมพม่า ไทย ลาว เวียดนาม) North-South Corridor (เชื่อมจีนตอนใต้พม่า ไทย ลาว เวียดนาม) และ Southern Corridor (เชื่อมท่าเรือน้ำลึกทวายของพม่า แหลมฉบังของไทย และกัมพูชา)

ในส่วนสุดท้ายของบทความ ที่ได้พูดถึงความท้าทายของประเทศไทยว่า จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากโอกาสที่มากับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่เกิดขึ้น โดยระบุถึงความท้าทาย 3 ข้อ คือ

1. การปฏิรูประบบเศรษฐกิจ สร้างสมดุลระหว่างภาคส่งออกและภาคบริการ และเพิ่มผลิตภาพของภาคการผลิต

2. การปฏิรูปกฎระเบียบและการดำเนินการของรัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. การปรับทัศนคติของธุรกิจ ประชาชน และภาครัฐ ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ในบทความจึงได้เสนอประเด็นที่ไทยควรตระหนัก คือ การได้ประโยชน์จากการรวมกลุ่มในภูมิภาคไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่ต้องอาศัยการกำหนดนโยบายและมาตรการของภาครัฐ และการดำเนินการของธุรกิจที่เหมาะสม โดยภาครัฐ ธุรกิจเอกชน ตลอดจนภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทย ควรมีท่าทีและแนวทางดำเนินการใน 3 ด้าน คือ

1. การปฏิรูปเชิงโครงสร้างและกฎระเบียบ (structural and regulatory reform) ที่รัฐควรจะให้มีการเปิดเสรีการค้าอย่างต่อเนื่อง โดยลดอุปสรรคการค้าจากมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร (NTM) การผ่อนคลายกฎแหล่งกำเนิดสินค้า เปิดเสรีการค้าบริการสำหรับธุรกิจที่ยังผูกขาด มีการอำนวยความสะดวกทางการค้า (trade facilitation) การปรับปรุงพิธีการศุลกากรให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเชื่อมโยงกับระบบชำระเงิน มีการอำนวยความสะดวกทางการลงทุน (investment facilitation) ปรับปรุงการคืนภาษีให้ดีขึ้น การสนับสนุนให้มีทุนเพียงพอกับธุรกิจไทยในการลงทุนในต่างประเทศ การจัดตั้งหน่วยงาน one-stop service ให้ข้อมูลคำปรึกษาอำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจเพื่อการลงทุน และอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงาน

2. การกระจายประโยชน์จากการรวมกลุ่มในภูมิภาคอย่างเป็นธรรม ที่ไทยควรให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่ประเทศเพื่อนบ้านในด้านโครงสร้างพื้นฐานและสังคม เช่น ถนน การศึกษา การสาธารณสุข และควรคุ้มครองแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยอย่างเป็นธรรม ควรส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศเพื่อนบ้าน และควรร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ปัญหาข้ามพรมแดน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด การค้ามนุษย์

3. ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและประชาชนไทยมีความเป็นสากลมากขึ้น คนไทยควรปรับเลิกทัศนคติที่ว่าเพื่อนบ้านเป็นศัตรูตามประวัติศาสตร์ และความเชื่อที่ว่าคนไทยเหนือกว่า ขณะเดียวกัน คนไทยควรปรับระดับการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียนให้ดีกว่าปัจจุบัน ทั้งนี้ จากการสำรวจคะแนนสอบวัดภาษาอังกฤษ TOEFL ปรากฏว่า คนไทยอยู่ลำดับสุดท้ายในอาเซียน และควรมีการส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมอาเซียนด้วย

ดังนั้น ความท้าทายที่แท้จริงของการรวมกลุ่มในภูมิภาคก็คือ การที่ภาครัฐจะต้องเอาชนะกลุ่มผลประโยชน์ในภาคธุรกิจบางส่วน ที่ได้ประโยชน์จากการผูกขาดในสาขาบริการ และระบบราชการบางส่วนที่ได้รับประโยชน์จากความไม่โปร่งใสในระบบศุลกากร การตรวจสินค้าผ่านแดน และการบังคับใช้กฎหมายต่อแรงงานต่างด้าว ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และการที่ผู้ประกอบการและประชาชนไทยจะต้องปรับทัศนคติต่อประเทศเพื่อนบ้านให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

หมายเหตุ

ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ โดยคลิกที่ลิงค์ ประเทศไทยในกระแส AEC: มายาคติ ความเป็นจริง โอกาส และความท้าทาย

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก:

https://www.posttoday.com/aec/scoop/519905

ประเทศไทยในกระแส AEC: มายาคติ ความเป็นจริง โอกาส และความท้าทาย

https://www.tdri.or.th

MukraweC

Translate »