‘ฟิลิปปินส์’ ชิงส่วนแบ่งไทย เตรียมส่งทุเรียนไป ‘จีน’
นาย Huang Xilian เอกอัครราชทูตจีนประจำฟิลิปปินส์ เผยว่า จีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าผลไม้รายใหญ่ที่สุด ได้อนุมัติให้นำเข้าทุเรียนสดจากฟิลิปปินส์แล้ว หลังจากได้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญที่คัดเลือกโดยสถานทูต ลงพื้นที่ไปยังภูมิภาคดาเวาเพื่อตรวจสอบการเข้าถึงแหล่งเพาะปลูก ทั้งนี้ ท่านทูตยังได้โพสต์ในเฟซบุ๊กของตัวเองด้วยว่า ฟิลิปปินส์ผ่านการประเมินความเสี่ยงทั้งในด้านการเก็บผลผลิต การบรรจุผลไม้ การเฝ้าระวังศัตรูพืช การควบคุมสารเคมี การป้องกันโรคโควิด 19 และระบบตรวจสอบย้อนกลับของทุเรียนในพื้นที่
.
นอกจากนี้ นาย Huang ยังเพิ่มเติมว่า ในปี 2564 จีนนำเข้าทุเรียนปริมาณ 822,000 ตัน มูลค่า 4.21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 82.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 การจัดส่งทั้งหมดเพิ่มขึ้นอีก 60% ทำให้ทุเรียนกลายเป็นผลไม้นำเข้าที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดในตลาดจีน โดยทุเรียนจากเมืองดาเวามีคุณภาพสูงและรสชาติดีที่ผู้บริโภคชาวจีนจะต้องชื่นชอบ
.
“ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ทำกำไรได้มากที่สุด การที่ทุเรียนสดคุณภาพสูงจากฟิลิปปินส์ได้ถูกนำเข้ามายังจีน ซึ่งมีประชากรราว 1.4 พันล้านคน จะเป็นประโยชน์ต่อชาวสวนผลไม้ของฟิลิปปินส์หลายแสนคน และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่มินดาเนาอย่างมาก โดยจีนยังคาดหวังให้ฟิลิปปินส์ส่งออกผลไม้และสินค้าเกษตรต่างๆ มายังจีนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองประเทศใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น” นาย Huang กล่าวสรุป
.
ขณะที่ กรมวิชาการเกษตรได้เรียกร้องให้บรรดาชาวสวนทุเรียนเพิ่มปริมาณการผลิต โดยอิงกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นของตลาดส่งออก และจากข้อมูลพบว่า ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปี 2564 ฟิลิปปินส์ติด 1 ใน 10 ผู้ส่งออกทุเรียนสดสูงสุดมาโดยตลอด
.
ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์มีการปลูกทุเรียนใน 47 จังหวัด แต่การปลูกในภูมิภาคดาเวาคิดเป็น 78% ของผลผลิตที่เก็บได้ทั้งหมด (ในปี 2563) และครึ่งหนึ่งของผลผลิตในภูมิภาคนี้มาจากเมืองดาเวา โดยมีพันธุ์ท้องถิ่น ได้แก่ ชะนี หมอนทอง อัลคอนแฟนซี อารันซิลโล และปูยัต
.
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติของฟิลิปปินส์ ระบุว่า ในปี 2563 ผลผลิตทุเรียนในท้องถิ่นสูงแตะ 78,816 เมตริกตัน ลดลง 0.6% จาก 79,284 เมตริกตัน ในปี 2562 และในปี 2563 มีต้นทุเรียนอยู่ราว 1.3 ล้านต้น ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 16,582 เฮกตาร์ โดยในปีเดียวกันนี้เอง มีการส่งออกทุเรียนไปยังฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ ไทย กาตาร์ และสหรัฐอเมริกา ส่วนการส่งออกไปยังออสเตรเลียนั้น เริ่มต้นครั้งแรกในปี 2564
.
ทั้งนี้ ทุเรียนมักถูกพูดถึงว่าเป็นผลไม้ที่มีกลิ่นแย่มาก แต่รสชาติอร่อยล้ำ และเป็น “ราชาแห่งผลไม้” สำหรับผู้ที่ชื่นชอบเนื้อหวานๆ และเป็นครีมๆ ของมัน แต่เนื่องจากกลิ่นที่ค่อนข้างแรง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผลไม้ชนิดนี้จะถูกห้ามนำเข้าไปในห้องพักของโรงแรมและระบบขนส่งสาธารณะในบางประเทศ
ที่มา AEC Connect