เวียดนาม ดันเอกชนสร้าง 4 สนามบิน

รัฐบาลเวียดนามได้อนุมัติและอยู่ระหว่างพิจารณาแผนการสร้างสนามบินในภาคเหนือและภาคกลาง ผ่านการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP)
.
สนามบินแห่งแรกนั้นตั้งอยู่ในเมืองซาปา จังหวัดหล่าวกาย ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม และเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งสนามบินดังกล่าวมีเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้าและการทหาร สามารถรองรับเครื่องบิน Airbus A320 321 และเครื่องบินขนาดเท่ากัน และรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 1.5 ล้านคนต่อปี โดยมีมูลค่าโครงการอยู่ที่ 3.65 ล้านล้านด่อง รวมกองทุนจากรัฐบาลจำนวน 6.61 แสนล้านด่อง ซึ่งจะใช้ระยะเวลาดำเนินการทั้งหมด 50 ปี แบ่งเป็นก่อสร้างกว่า 3 ปี และดำเนินกิจการอีก 46 ปี 2 เดือน
.
สำหรับสนามบินแห่งที่ 2 คือในจังหวัดเซินลา ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ก็มีการขออนุญาตการก่อสร้างสนามบินในรูปแบบของ PPP เช่นกัน โดยสนามบินแห่งใหม่นี้จะเป็นการปรับปรุงจากของเดิมและเพิ่มส่วนต่อขยายจากสนามบินที่ถูกทิ้งร้างไว้ โดยจะมีมูลค่าประมาณ 3 ล้านล้านด่อง ซึ่งในเฟสที่ 1 จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 1 ล้านคนและสินค้าได้ 350 ตันต่อปี ขณะที่ในเฟส 2 มีแผนที่จะสร้างเสร็จภายในปี 2573 และจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 2 ล้านคนและสินค้าได้ถึง 6 พันตันต่อปี
.
สนามบินแห่งที่ 3 อยู่ระหว่างพิจารณาข้อเสนอของจังหวัดลายเจิว ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ สำหรับการร่วมทุนแบบ PPP เช่นกัน
.
ส่วนสนามบินแห่งสุดท้าย รัฐบาลได้อนุมัติเห็นชอบในหลักการสำหรับการก่อสร้างสนามบินแบบ PPP ในจังหวัดกว๋างจิในปีที่ผ่านมา โดยจะถูกใช้เป็นสนามบินสำหรับการทหารและพลเรือน มีมูลค่าประมาณ 5.82 ล้านล้านด่อง รวมงบประมาณของรัฐบาล 3.12 แสนล้านด่อง และจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 1 ล้านคนและสินค้า 3.1 พันตันต่อปี โดยในเฟสแรกคาดว่าจะเริ่มภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566
.
ทั้งนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งเวียดนาม (Civil Aviation Authority of Vietnam: CAAV) ระบุว่าต้นทุนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างสนามบินมีมูลค่าสูงมาก จึงต้องให้เอกชนเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยจะเป็นรูปแบบ PPP หรือ Franchise ก็ได้ แต่รัฐบาลเพียงถือสิทธิในการเป็นเจ้าของและควบคุมแค่สนามบินหลักที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น
.
ปัจจุบันเวียดนามมีสนามบินพลเรือนทั้งหมด 22 แห่ง และเมื่อปลายปีที่ผ่านมาได้ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 28 แห่งภายในปี 2573 และ 31 แห่งภายในปี 2593 รวมสนามบินนานาชาติ 14 แห่ง
ที่มา AEC Connect

MukraweC

Translate »