ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม

ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม

 อาเซียนได้ให้ความสำคัญต่อการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมมานานแล้ว โดยไม่เพียงแต่ส่งเสริมความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเท่านั้น หากแต่ยังมีความพยายามขยายขอบเขตความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมออกไปยังประเทศต่าง ๆ นอกอาเซียนและนอกภูมิภาคเอเชียอีกด้วย โดยในปี พ.ศ. 2520 (10 ปี หลังการก่อตั้งอาเซียน) ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมกันริเริ่มโครงการความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นเป็นครั้งแรก โดยได้รับความช่วยเหลือจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (the United Nations Environment Programme: UNEP) ในการจัดทำโครงการอนุภูมิภาคด้านสิ่งแวดล้อม 1 (the ASEAN Sub-Regional Environment Programme: ASEP I) พร้อมกับจัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (the ASEAN Experts Group on the Environment: AEGE) ภายใต้คณะกรรมการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (the ASEAN Committee on Science and Technology: COST) เป็นผู้ดำเนินโครงการอนุภูมิภาคด้านสิ่งแวดล้อม 1 มีระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2520 – 2524) หลังจากนั้นก็มีโครงการต่อเนื่องอีก 2 โครงการ คือ โครงการอนุภูมิภาคด้านสิ่งแวดล้อม 2 (the ASEAN Sub-Regional Environment Programme II: ASEP II) (พ.ศ. 2525 – 2530) และโครงการอนุภูมิภาคด้านสิ่งแวดล้อม 3 (the ASEAN Sub-Regional Environment Programme III: ASEP III) (พ.ศ. 2531 – 2535) ตามลำดับ

ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2535 ได้มีการปรับรูปแบบคณะผู้เชี่ยวชาญอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม โดยยกฐานะจากคณะผู้เชี่ยวชาญเป็นคณะกรรมการอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งแยกออกจากคณะกรรมการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลายเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (the ASEAN Senior Officials on the Environment: ASOEN) มีหน้าที่กำกับดูแลงานด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการเสนอแนะนโยบายและประสานการจัดการสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคของอาเซียน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างกันในอาเซียน และระหว่างอาเซียนกับภูมิภาคอื่น ๆ รวมทั้งระหว่างอาเซียนกับองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนฯ จะรายงานการดำเนินงานและเสนอกิจกรรมและโครงการต่อที่ประชุมรัฐมนตรีทุกปี

การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (the ASEAN Ministerial Meeting on the Environment: AMME) เป็นการประชุมเพื่อพิจารณากำหนดนโยบาย และทบทวนข้อตัดสินใจต่าง ๆ รวมทั้งให้ความเห็นชอบต่อแผนงานและโครงการต่าง ๆ โดยจะแบ่งการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมออกเป็น 2 รูปแบบ กล่าวคือ การประชุมฯ อย่างเป็นทางการซึ่งจะจัดขึ้นทุก ๆ 3 ปี และการประชุมฯ อย่างไม่เป็นทางการ เพื่อให้รัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมมีโอกาสพบปะหารือกัน ตลอดทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในปีที่ไม่มีการประชุมอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ ในระดับปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีให้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินโครงการและกิจกรรมตามนโยบาย แผนงาน และแนวทางต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรี โดยมีคณะทำงานทั้งหมด 7 คณะ ได้แก่

  1. คณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ (AWGNCB)
  2. คณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง (AWGCME)
  3. คณะทำงานอาเซียนด้านข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม (AWGMEA)
  4.  คณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน (AWGESC)
  5. คณะทำงานอาเซียนด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ (AWGWRM)
  6. คณะทำงานอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (AWGCC) และ
  7. คณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา (AWGEE)

อาเซียนยังมีการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมผ่านกรอบเวทีหารือประเด็นสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม และการดำเนินการที่คาบเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคณะกรรมการอาเซียนด้านต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นได้ดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยมีการดำเนินงานที่สอดคล้องหรือเกี่ยวข้องกับความตกลงระหว่างประเทศทั้งในระดับภูมิภาค และหรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควัน อนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าสำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศ อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด อนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน ตลอดจนการเตรียมความพร้อมอาเซียนต่อการมีผลบังคับใช้ของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท เป็นต้น และยังมีการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อ “สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนของอาเซียน” ตามแผนงานประชาคมอาเซียนหรือแผนพิมพ์เขียว (the Blueprint) ของทั้งสามประชาคมอาเซียน ในช่วงเวลาที่กำหนดตามแผนแต่ละฉบับมาอย่างต่อเนื่องจนถึงฉบับปัจจุบัน คือ แผนงานประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 (พ.ศ. 2559 – 2568)

3. แผนงานประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 กับสิ่งแวดล้อม
เพื่อต่อยอดความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมของอาเซียนตามแผนงานประชาคมอาเซียน ในช่วง พ.ศ. 2552 – 2558 ที่ผ่านมา อาเซียนจึงได้ดำเนินการต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงสาระสำคัญของวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 (ASEAN Community Vision 2025) ซึ่งปรารถนาให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีสันติภาพ ความมั่นคงและความแข็งแกร่ง มีศักยภาพที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งสามารถตอบสนองต่อความท้าทายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประชาคมที่มองออกไปนอกภูมิภาคในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก โดยยังรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนไว้ ตลอดทั้งให้อาเซียนมีความยั่งยืนและมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจขั้นสูง มีความเชื่อมโยงที่มากขึ้น รวมทั้งมีความพยายามที่แข็งขันขึ้นในการลดช่องว่างด้านการพัฒนา และเป็นประชาคมที่มีขีดความสามารถในการไขว่คว้าโอกาสและรับมือกับความท้าทายที่จะมาถึงในทศวรรษหน้า ได้ โดยวิสัยทัศน์ดังกล่าวได้สะท้อนออกมาด้วยแผนงานประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 (ช่วง พ.ศ. 2559 – 2568)  ซึ่งแผนงานดังกล่าวได้ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ ดังนี้

3.1 การเมืองและความมั่นคงอาเซียน พ.ศ. 2559 – 2568 กับสิ่งแวดล้อม
การดำเนินการเพื่อยกระดับความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงของอาเซียนให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นการต่อยอดความสำเร็จที่เกิดขึ้น จะทำให้ประชาชนในประชาคมอาเซียนได้อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยและมั่นคง ด้วยการรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลเป็นสำคัญ ซึ่งมีมาตรการยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
3.1.1 การแสวงหาและดำเนินกิจกรรมความร่วมมือระหว่างภาคีที่เกี่ยวข้องในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล
3.1.2 ส่งเสริมความร่วมมือทางทะเลในการปกป้องและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมถึงการใช้ทรัพยากรทางทะเลที่ยั่งยืนและการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพให้ใกล้ชิดมากขึ้น
3.1.3 เสริมสร้างความร่วมมืออาเซียนในการสนับสนุนการสร้างความตระหนักรู้ในสภาพการณ์ทางทะเล และผลกระทบที่เพิ่มขึ้นต่อความมั่นคง ความปลอดภัย เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของภูมิภาค

3.2 เศรษฐกิจอาเซียน พ.ศ. 2559 – 2568 กับสิ่งแวดล้อม
ความร่วมมืออาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ต่อการพัฒนากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค รวมทั้งความร่วมมือด้านนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ของภาคส่วนต่าง ๆ ที่สำคัญต่อการดำเนินงานของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น และเพื่อให้ประชาคมอาเซียนมีบทบาทมากขึ้นในเวทีเศรษฐกิจโลกในการจัดการและรับมือกับประเด็นทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
แผนงานประชาคมอาเซียนในด้านเศรษฐกิจ (พ.ศ. 2559 – 2568) ได้ให้ความสำคัญ  ต่อการลดการกีดกันทางการค้าและลดต้นทุนอันเกิดจากการปฏิบัติตามมาตรการที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measures : NTMs) ในส่วนที่มุ่งตอบสนองวัตถุประสงค์ด้านกฎระเบียบต่าง ๆ อาทิ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคง โดยสามารถสรุปมาตรการยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องได้ ดังต่อไปนี้
3.2.1 การสนับสนุนทางเศรษฐกิจจะต้องปกป้องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เพราะการปกป้องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติจะช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน อันเป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตของภูมิภาค โดยอาเซียนจะส่งเสริมการพัฒนาในรูปแบบรักษ์โลกหรือการพัฒนาสีเขียว (green development) อย่างจริงจัง เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนการใช้พลังงานและเทคโนโลยีสะอาด รวมทั้งพลังงานทดแทน ด้วยเทคโนโลยีแบบรักษ์โลกหรือเทคโนโลยีสีเขียว (green technology) ตลอดจนส่งเสริมการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน และให้บรรจุเรื่องนี้ไว้ในแผนพัฒนาระดับชาติ (national development plans) ของประเทศสมาชิกอาเซียนด้วย
3.2.2 พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ และเหมาะสม แนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practices) และระบบการจัดการที่ทำให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัยด้านอาหาร และรองรับประเด็นสุขภาพ โรคภัยและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในสาขาย่อยที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว อันได้แก่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ปศุสัตว์ และพืชสวน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ดีด้านการเกษตรเพื่อลดผลกระทบในเชิงลบต่อทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ดิน ป่าไม้ และน้ำ รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
3.2.3 พัฒนาให้อาเซียนมีรูปแบบการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนครอบคลุมทุกภาคส่วนโดยคำนึงถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้น
3.2.4 การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านแร่ธาตุของอาเซียน พ.ศ. 2559 – 2568 (the ASEAN Minerals Cooperation Action Plan: AMCAP – III) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่หนึ่ง ระหว่าง พ.ศ. 2559 – 2563 และระยะที่สอง ระหว่าง พ.ศ. 2564 – 2568 โดยจะพัฒนาความร่วมมือด้านแร่ธาตุของอาเซียนให้เข้มแข็งและแข่งขันได้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนอาเซียน ด้วยการส่งเสริมการค้าและการลงทุน และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของความร่วมมือและศักยภาพเพื่อการพัฒนาด้านแร่ธาตุอย่างยั่งยืนในภูมิภาค รวมถึงมาตรการเชิงยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมการพัฒนาสิ่งแวดล้อมแร่ธาตุที่ยั่งยืนด้วย ทั้งนี้ ในแง่ของความร่วมมือในสาขาแร่ธาตุของอาเซียนนั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนจะยังคงเป็นพันธมิตรกันในเรื่องของการพัฒนาด้านนโยบายและในการดำเนินมาตรการสำคัญ เช่น ส่งเสริมการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรแร่ธาตุอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
3.2.5 ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน (Public – Private Partnership : PPP) ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจในการส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมให้เข้มแข็งขึ้น โดยการอาศัยประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของภาคเอกชน การกระจายความเสี่ยง และการจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม ด้วยการสนับสนุนให้กองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคของอาเซียน (Encourage the ASEAN Infrastructure Fund: AIF) ศึกษาแนวทางในการทำหน้าที่หน่วยงานสนับสนุน เพื่อช่วยดึงดูดการให้เงินทุนจากภาคเอกชน ในการสนับโครงการระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนที่มีความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ ซึ่งจะนำไปสู่การลดความยากจน การเจริญเติบโตที่ครอบคลุม ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และการรวมกลุ่มของภูมิภาค

3.3 สังคมและวัฒนธรรมอาเซียน พ.ศ. 2559- 2568 กับสิ่งแวดล้อม
เนื่องด้วยหัวใจสำคัญของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน คือ ความมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านกิจกรรมความร่วมมือที่ให้ความสำคัญกับประชาชน ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมุ่งไปสู่การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) จึงได้ตั้งเป้าหมายว่าภายใน พ.ศ. 2568  ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนจะเป็นประชาคมที่มีปฏิสัมพันธ์กับประชาชน และประชาชนได้รับผลประโยชน์ รวมทั้งทุกคนมีส่วนร่วมมีความยั่งยืน แข็งแกร่ง และมีพลวัต ทุกฝ่ายจะดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาคมที่ทุกคนมีส่วนร่วม ซึ่งสนับสนุนการพัฒนาทางสังคมและปกป้องสิ่งแวดล้อมผ่านกลไกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการในปัจจุบันและอนาคตของประชาชนตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน พ.ศ.2568 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของสหประชาชาติ (the United Nations: UN) ที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกทั้ง 193 ประเทศ ได้แสดงความมุ่งมั่นร่วมกัน โดยผ่านสหประชาชาติในการจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ครอบคลุมมีผลกว้างไกลเป็นสากล และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอีกห้าสิบปีข้างหน้า นั่นคือ วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (the 2030 Agenda for Sustainable Development) ซึ่งจะสานต่อและขยายผลความก้าวหน้า จากเป้าหมายการพัฒนา โดยอาเซียนมีมาตรการยุทธศาสตร์ ดังต่อไปนี้
3.3.1 มีการตั้งเป้าหมายว่าจะบรรลุประเด็นด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย โดยการเป็นประชาคมที่ยั่งยืน ซึ่งส่งเสริมการพัฒนาทางสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมผ่านกลไกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อ ๆ ไป
3.3.2 ในแง่ของการ “มีความยั่งยืน” เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายสูงสุดของประชาคมอาเซียนใน พ.ศ. 2568 ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนจะบรรลุถึงสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ท่ามกลางบริบท ของการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทางสังคมและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริมและประกันว่าจะมีการพัฒนาสังคมที่สมดุลและมีสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในทุกรุ่นทุกสมัยได้ โดยมีจุดมุ่งหมายในการเป็นประชาคมอาเซียนที่เข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนได้อย่างเท่าเทียมกัน
3.3.3 การอนุรักษ์และการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งมีมาตรการยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
(ก) การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อปกป้อง ฟื้นฟู รวมทั้ง การใช้สิ่งแวดล้อมทางทะเล และชายฝั่งอย่างยั่งยืน ตอบสนองและจัดการกับความเสี่ยงจากมลพิษและภัยคุกคามต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวทางระบบนิเวศ
(ข) รับเอาแนวทางปฏิบัติที่ดีมาใช้และพัฒนานโยบายในการจัดการผลกระทบของโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่มีต่อน่านน้ำชายฝั่งและน่านน้ำสากล รวมทั้ง ปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน อาทิ มลภาวะ การเคลื่อนย้ายและการกำจัดสารเคมีและของเสียอันตรายอย่างผิดกฎหมาย โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงและกลไกทั้งในระดับภูมิภาคและในระหว่างประเทศ
(ค) ส่งเสริมความร่วมมือเกี่ยวกับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อไปสู่การใช้ระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ผ่านวิธีการทางสิ่งแวดล้อมศึกษา การมีส่วนร่วมของชุมชน และการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในสังคม
3.3.4 มีการเสริมสร้างความเชื่อมโยงเชิงบวกด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมระหว่างพื้นที่ในเมือง ชานเมือง และชนบท ซึ่งมีมาตรการยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
(ก) เสริมสร้างความเข้มแข็งระหว่างพันธมิตรภาครัฐกับภาคเอกชนด้านการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การใช้ทรัพยากรมีความคุ้มค่า
(ข) ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมศึกษา ความตระหนักรู้ ขีดความสามารถในการบริโภคอย่างยั่งยืน และการดำรงชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกระดับ
(ค) การทำงานแบบบูรณาการ ครอบคลุม และมีส่วนร่วม เป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างชุมชนที่มีภูมคุ้มกันในอาเซียน ซึ่งถือว่าเป็นแก่นสำคัญของความมั่นคงของมนุษย์และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องสร้างขึ้นจากการบูรณการนโยบาย การเพิ่มพูนขีดความสามารถและการเสริมสร้างองค์กร ตลอดจนเป็นพันธมิตรกับผู้มีส่วนได้เสียกับการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเป็นหลัก โดยปราศจากการเลือกประติบัติ และจะเชื่อมโยงกับวงการวิทยาศาสตร์และภาควิชาการ
ทั้งนี้ ตามปฏิญญาว่าด้วยประชาคมอาเซียนและประชาชนอาเซียนที่มีความเข้มแข็ง รู้รับปรับตัว ฟื้นกลับจากภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นทางการ ที่ได้รับการรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 26 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558 มุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างอนาคตที่มีภูมิคุ้มกัน มากขึ้นโดยการลดภัยพิบัติ และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ การป้องกันการเกิดขึ้นของความเสี่ยงใหม่ ๆ และการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผ่านการดำเนินมาตรการด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม มาตรการทางกายภาพและด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจัดการกับการเผชิญหน้าและความเสี่ยงต่าง ๆ และจะทำให้เกิดการยกระดับภูมิคุ้มกันขึ้น
(ง) การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้การคุ้มครองสังคมสำหรับสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ กลุ่มเปราะบาง และกลุ่มคนชายขอบ (marginalised groups) ตลอดจน ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งรวมถึงผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลพื้นที่ชายแดน และพื้นที่ที่อ่อนไหวต่อสภาพภูมิอากาศ เพื่อลดความเสี่ยงเมื่อเกิดวิกฤติการณ์และภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยการจัดให้มีเวทีความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้มีภูมิคุ้มกัน โดยลดการเผชิญหน้าและลดความเปราะบางต่อสภาพอากาศและต่อผลกระทบอื่น ๆ อาทิ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งต่อภัยพิบัติ
3.3.5 การพัฒนาและใช้ประโยชน์จากระบบการเงิน อาหาร น้ำ และพลังงาน ที่มีใช้อย่างเพียงพอ รวมทั้งโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคมอื่น ๆ ในการรับมือกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ด้วย โดยมีมาตรการสำคัญ คือ
(ก) การทำให้แหล่งทรัพยากรนั้นมีอยู่อย่างเพียงพอ เข้าถึงได้มากขึ้น ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น จัดหามาได้มากขึ้น และมีความยั่งยืนมากขึ้น
(ข) ยกระดับการประสานงานข้ามสาขา เพื่อรับประกันความเพียงพอและการเข้าถึงบริการด้านพลังงานในราคาที่เหมาะสมต่อระดับครัวเรือน และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทนและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อนึ่ง ในเรื่องของการมีพลวัต (dynamic) นั้น อาเซียนมีมาตรการเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ การเสริมสร้างความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และการเป็นสมาชิกประชาคมโลกที่มีบทบาทเชิงรุก มุ่งเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยด้ายนโยบาย และสถาบันต่าง ๆ ที่ส่งเสริมให้มนุษย์และองค์กรมีทัศนคติที่เปิดกว้าง รู้จักปรับตัวมากขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม และมีทักษะในการประกอบการ เกิดเป็นวัฒนธรรมการประกอบการในอาเซียน ด้วยการเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมที่เกื้อหนุนการประกอบการที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดให้มีผู้ดูแล การให้เงินลงทุนตั้งต้น การระดมทุนสาธารณะ และการสนับสนุนทางการตลาด

 

4. การทบทวนและการประเมินผลการดำเนินงาน
การทบทวนและการประเมินผลการดำเนินงานตามแผนงานประชาคมอาเซียน พ.ศ. 2559 – 2568 จะใช้ระบบการติดตามและประเมินผลที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ซึ่งต่อยอดจากดัชนีชี้วัดที่ใช้วัดความก้าวหน้าของการดำเนินงานของแผนงานฯ ใน พ.ศ.2552 – 2558 โดยองค์กรเฉพาะสาขาต่าง ๆ จะพิจารณาตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับสาขาของตน โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานและดัชนี ชี้วัดที่สานต่อดัชนีชี้วัดที่มีอยู่ เพื่อรับประกันว่ามิติอื่น ๆ ที่ปรากฏอยู่ในแผนงานนี้ จะได้รับการเพิ่มเติมเข้าไปในดัชนีและตัวชี้วัดปัจจุบันด้วย ทั้งนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของมาตรฐานการบริหารจัดการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ในระดับภูมิภาคที่เป็นที่ยอมรับ
นอกจากนี้ จะมีการพิจารณาบทเรียนที่ได้รับและข้อเสนอแนะจากผลการประเมิน โดยมีการระบุกรอบผลลัพธ์ที่คาดหวังว่าจะได้รับตามแผนงานฯ ใช้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการติดตามประเมินผล ทั้งเป็นข้อสนเทศเพื่อวัตถุประสงค์ในการระดมทรัพยากร และจำแนกรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณ หรือปัจจัยที่ต้องพิจารณาอื่น ๆ โดยจะมีการทบทวนและการประเมินผลการดำเนินงานเป็นระยะ ในระหว่างช่วงระยะเวลาการประเมินผลครึ่งแผน (A Mid-Term Evaluation) ครอบคลุมระยะเวลาระหว่าง พ.ศ. 2559 – 2563 และการประเมินเมื่อสิ้นสุดแผน (an End-of-Term Evaluation) ครอบคลุมระยะเวลาระหว่าง พ.ศ. 2564 – 2568 ทั้งนี้ อาจใช้วิธีการที่เหมาะสมอื่น ๆ เพื่อวัดผลกระทบของนโยบาย แผนงานหรือโครงการที่เกิดขึ้นจากแผนงานฉบับนี้ด้วยก็ได้

 

5. บทสรุป
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเป็นประชาคมที่มีสันติภาพ มีความมั่นคงและแข็งแกร่ง มีศักยภาพ มีความยั่งยืน และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและปลอดภัยของอาเซียน ซึ่งแผนงานประชาคมอาเซียน พ.ศ.2559 – 2568 ทั้งสามด้าน ได้กำหนดมาตรการเชิงยุทธศาสตร์ ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งมาตรการสำคัญในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนต่อไป โดยกำหนดระบบการติดตามประเมินผล และนำเอาบทเรียนที่ได้รับตลอดจนข้อเสนอแนะจากผลการประเมินมาพัฒนาต่อยอดความสำเร็จจากแผนงานฯ ฉบับก่อน และในห้วงเวลาที่ผ่านมา ความร่วมมืออาเซียน ด้านสิ่งแวดล้อมค่อย ๆ พัฒนาและขยายขอบเขตจากความร่วมมือในระดับภูมิภาค ออกไปสู่นอกภูมิภาคและในระดับโลก ปรากฏเป็นความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาและขยายขอบเขตความร่วมมือนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ในท้ายที่สุดก็จะก่อให้เกิด “สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” ได้อย่างแท้จริง และไม่เพียงแต่เป็นสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนของอาเซียนเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนของประชาคมโลกด้วย

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://lawforasean.krisdika.go.th/Content/View?Id=328&Type=1

MukraweC

Translate »