Kingdom of Cambodia ราชอาณาจักรกัมพูชา

Kingdom of Cambodia or Cambodia

                ราชอาณาจักรกัมพูชา หรือประเทศกัมพูชาตั้งอยู่กลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพรมแดนติดต่อกับสามประเทศในภูมิภาคอาเซียน ดังนี้

ทิศเหนือ ติดกับประเทศไทย (จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์) และประเเทศลาว (แขวงอัตตะปือ และ จําปาสัก)

ทิศใต้     ติดกับอ่าวไทย

ทิศตะวันออก ติดกับเวียดนาม (จังหวัดกอนทูม เปลกู ซาลาย ดั๊กลั๊ก ส่องแบ๋ เตยนิน ลองอาน ด่งท๊าบ อันซาง และเกียงซาง)

ทิศตะวันตก  ติดกับประเทศไทย (จังหวัดสระแก้ว จันทบุรี และตราด)

                 บริเวณที่เป็นที่ตั้งของกัมพูชาในปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์สันนิฐานว่าเริ่มมีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ (230-500 ปีก่อนคริสตกาล) โดยอาศัยหลักฐานเก่าแก่ คือ เครื่องมือหินกรวดที่ค้นพบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และการค้นพบกระโหลกศีรษะและกระดูกมนุษย์ที่แหล่งโบราณคดีสำโรงเซน (Samrong Sen) ซึ่งเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่ากัมพูชาในยุคก่อนประวัติศาสตร์มีความคล้ายคลึงกับชาวกัมพูชาในปัจจุบัน ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มออสโตรเอเชียติก (Astroasiatic)  ประเทศกัมพูชามีหลักฐานทางโบราณคดีว่ามีมนุษย์อาศัยอยู่อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นดินแดนต้นกำเนิดของอาณาจักรโบราณหลายอาณาจักร ที่มีความเชื่อมโยงและมีความเป็นมาในประวัติศาสตร์ โดยแบ่งออกเป็นสมัยที่สำคัญ คือ
               1. สมัยฟูนัน (Funan) เป็นห้วงเวลาที่ได้รับวัฒนธรรมจากศาสนาพราหมณ์ฮินดู ประเทศอินเดีย เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 6 นับถือพระศิวะ และพระวิษณุ (พระนารายณ์) มีการดัดแปลงตัวอักษรของอินเดียมาเป็นตัวอักษรเขมร ศูนย์กลางความเจริญอยู่ที่มณฑล  ไปรเวียงทางตอนใต้และลุ่มน้ำทะเลสาป รวมดินแดนที่เป็นของไทย สปป.ลาว และเวียดนาม ในปัจจุบันบางส่วน ส่วนพลเมืองมีเผ่าฟูนัน เขมร และจามซึ่งมีอยู่ทั่วไปในบริเวณตอนใต้ของลุ่มแม่น้ำโขง
               2. สมัยเจนละ (พ.ศ.1078-1345) ในระหว่างที่อาณาจักรฟูนันมีความเจริญรุ่งเรืองอยู่นั้น มีดินแดนที่เป็นเมืองขึ้นอยู่อาณาจักรหนึ่งซึ่งขอมเรียกว่า อาณาจักรเจนละ ชื่อ “กัมพูชา” เริ่มในยุคนี้เนื่องจากกษัตริย์สมัยเจนละ ชื่อว่า “กัมพู” อาณาจักรเจนละแบ่งดินแดนออกเป็นอาณาจักรย่อยๆ คือ อาณาจักรตอนเหนือชื่อ “กุมพูปุระ” อาณาจักรตอนใต้ชื่อ “วิชัยปุระ” ต่อมากษัตริย์ของกัมพูปุระองค์หนึ่งทำสงครามมีชัยชนะ แล้วส่งกองทัพไปตีอาณาจักรฟูนันได้สำเร็จ จึงรวมเข้ามาอยู่ในอาณาจักรเจนละ อาณาจักรเจนละเจริญรุ่งเรืองอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาอาณาจักรศรีวิชัยได้แผ่อำนาจเข้าไปในอินโดจีน อาณาจักรเจนละจึงตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรศรีวิชัย
                3. สมัยขอมหรือนครวัด (พ.ศ.1345-1735) เมื่อประมาณ พ.ศ.1345 กษัตริย์กัมพูปุระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า “พระเจ้าชัยวรมันที่ 2” ครองราชย์อยู่ระหว่าง พ.ศ.1345-1412 ได้รวบรวมอาณาจักรกัมพูปุระและวิชัยปุระเข้าด้วยกัน ตั้งเป็นอาณาจักรใหม่เรียกว่า “อาณาจักรขอม” พระองค์ได้กู้อิสรภาพของอาณาจักรขอมจากอาณาจักรศรีวิชัยเป็นผลสำเร็จ พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ตั้งอาณาจักรขอมและมีอำนาจมากสามารถแผ่กระจายอำนาจออกไปจนทำให้อาณาจักรขอมแผ่ขยายออกไปกว้างขวางกินพื้นที่ถึงหนึ่งในสามของอินโดจีนเป็นระยะเวลาประมาณ 400 ปี ราชวงศ์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ได้ครองอาณาจักรขอมจนถึงปี พ.ศ.1420 จึงได้ขาดสายลง และได้มีราชวงศ์ใหม่ โดยมีปฐมราชวงศ์ คือ พระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 มีราชโอรสเป็นพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.1432-1451 กษัตริย์องค์นี้ได้สร้างราชธานีขึ้นใหม่ที่นครธมต่อมาได้มีกษัตริย์อีกหลายราชวงศ์ จนถึงพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ซึ่งครองราชอยู่ระหว่างปี พ.ศ.1655-1695 เป็นกษัตริย์ที่มีอำนาจสูงสุดในประวัติศาสตร์ขอม พระองค์ได้ทรงให้สร้างนครวัด และทำสัญญาไมตรีกับจามและจีน
              4. สมัยเป็นเมืองขึ้นของเมียนมาและไทย (พ.ศ.1600-2410) อาณาจักรขอมรุ่งโรจน์สูงสุด แล้วก็ค่อยๆ เสื่อมอำนาจลง เนื่องจากถูกเมียนมาสมัยพระเจ้าอโนรธามังช่อเข้ามารุกรานและยึดเป็นเมืองขึ้น ซึ่งในห้วงเวลาดังกล่าว อาณาจักรขอมยังไม่ยับเยินมากนัก ยังพอตั้งตัวได้ใหม่ในระยะอีกเกือบประมาณร้อยปีต่อมาจนถึงสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชของไทย ขอมถูกขับไล่ออกจากดินแดนที่เป็นของประเทศไทยในปัจจุบันได้หมด อำนาจของอาณาจักรขอมได้หมดลงประมาณปี พ.ศ.1890 นับแต่นั้นมาอาณาจักรสยามก็รุ่งโรจน์ขึ้นแทนอาณาจักรขอมในดินแดนสุวรรณภูมิ
              5. สมัยตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส (พ.ศ.2400-2497) อาณาจักรกัมพูชาได้เสื่อมลงเป็นลำดับ จนตกเป็นประเทศราชของไทย ต่อมาฝรั่งเศสได้เข้ามารุกรานและแสวงเมืองขึ้นอินโดจีน กัมพูชาได้ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ.2406 กัมพูชาถูกควบคุมทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ในปี พ.ศ.2407 รัชกาลสมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตารได้ทรงย้ายราชธานีของกัมพูชาจากกรุงอุดงค์มีชัยมาตั้งอยู่ที่กรุงพนมเปญ ต่อมาในปี พ.ศ.2410 ฝรั่งเศสได้บีบบังคับให้ไทยทำสัญญายินยอมรับรองอำนาจของฝรั่งเศสในการคุ้มครองอารักขากัมพูชา หลังสงครามมหาเอเชียบูรพาเมื่อปี พ.ศ.2488 ฝรั่งเศสกับกัมพูชาได้ทำความตกลงเมื่อปี พ.ศ.2489 ให้กัมพูชาปกครองดินแดนตนเอง โดยรวมอยู่ในสหภาพฝรั่งเศส กัมพูชาได้จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี พ.ศ.2490
                 เมื่อปี พ.ศ.2497 ฝรั่งเศสปราชัยในการรบกับเวียดมินห์ ที่เมืองเดียนเบียนฟู เป็นเหตุให้ต้องเปิดการประชุม 14 ชาติ ที่เมืองเจนีวา เพื่อนำสันติภาพมาสู่อินโดจีน ความตกลงเจนีวาในครั้งนั้นกำหนดให้ฝรั่งเศสมอบเอกราชแก่เวียดนาม สปป.ลาว และกัมพูชา กัมพูชาจึงได้เป็นเอกราชอย่างสมบูรณ์ โดยมีสมเด็จพระนโรดมสีหนุทรงเป็นกษัตริย์ในช่วงรอยต่อของประวัติศาสตร์ ครั้นถึง ปี พ.ศ.2498 ทรงสละราชสมบัติ แต่ยังกุมอำนาจไว้ในฐานะนายกรัฐมนตรี ประมุขของประเทศ และประธานาธิบดีในปี พ.ศ.2513 นายพลลอน นอล ก่อรัฐประหาร สมเด็จพระนโรดมสีหนุต้องเสด็จลี้ภัยไปยังปักกิ่ง และได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับคอมมิวนิสต์เขมรแดง เมื่อรัฐบาลเขมรแดงยึดอำนาจได้ในปี พ.ศ.2518 จึงทรงเสด็จกลับคืนสู่พนมเปญ แต่พระองค์กลับถูกพันธมิตรกักตัวไว้ หลังเวียดนามขับไล่รัฐบาลเขมรแดงออกไปในปี พ.ศ.2522 พระองค์ทรงตั้งตนเป็นประธานาธิบดีพลัดถิ่นของแนวร่วมต่อต้านเวียดนาม ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีนและเกาหลีเหนือ สงครามในกัมพูชาที่เรียกว่า “สงครามเขมรสามฝ่าย” ได้ยุติลงจนสหประชาชาติเข้าไปช่วยเหลือจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2536 ซึ่งพรรคของสมเด็จพระนโรดม รณฤทธิ์ ชนะเลือกตั้งแต่ทางฝ่ายสมเด็จฮุน เซน ไม่ยอมรับ แต่ในที่สุดก็เกิดการประนีประนอมตั้งรัฐบาลร่วมกัน ประเทศกัมพูชาจึงเป็นประเทศแรกในโลกที่มีหนึ่งรัฐบาลแต่มีสองนายกรัฐมนตรี คือ สมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ และสมเด็จ ฮุน เซน เป็นนายกรัฐมนตรีร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันสมเด็จฮุน เซน ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา
                   กัมพูชามีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ ประกอบด้วย ที่ราบรอบทะเลสาบเขมร และที่ราบลุ่มแม่น้ําโขง มีทิวเขาล้อมรอบทางเหนือ คือ เทือกเขาพนมดงรัก เทือกเขาบรรทัด และเทือกเขาอันนัม โดยมีลักษณะภูมิประเทศคล้ายชาม หรืออ่าง คือ ตรงกลางเป็นแอ่งทะเลสาบ และลุ่มแม่น้ําโขงอันกว้างขวาง มีภูเขาล้อมรอบอยู่ 3 ด้าน ได้แก่

(1) ด้านตะวันออก มีแนวเทือกเขาอันนัมที่เป็นพรมแดนกับประเทศเวียดนาม

(2) ด้านเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือ มีแนวเทือกเขาพนมดงรักที่เป็น พรมแดนกับประเทศไทย

(3) ด้านใต้และตะวันตกเฉียงใต้ มีแนวเทือกเขาบรรทัดที่เป็นแนวพรมแดน กับประเทศไทย โดยมีพื้นที่เฉพาะด้านตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้นที่เป็นที่ราบ ลุ่มแม่น้ำโขง

สภาพภูมิอากาศของกัมพูชาเป็นแบบร้อนชื้นแถบมรสุม โดยฤดูฝน เริ่มจากเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน และฤดูแล้งระหว่างเดือนธันวาคม – เมษายน อุณหภูมิโดยเฉลี่ย 20 – 36 องศาเซลเซียส โดยที่เดือนเมษายน มีอุณหภูมิสูงที่สุด เดือนมกราคมมีอุณหภูมิต่ําที่สุด และเดือนตุลาคมมี ฝนตกชุกที่สุด

กัมพูชามีแม่น้ำและทะเลสาปที่สำคัญ ได้แก่  1. แม่น้ำโขง ไหลจากลาวเข้าสู่ภาคเหนือของกัมพูชาแล้วไหลผ่านเข้าเขต เวียดนาม มีความยาว ในเขตกัมพูชา รวม 500 กิโลเมตร 2. แม่น้ำทะเลสาบ เชื่อมระหว่างแม่น้ําโขงกับทะเลสาบ ความยาว 130 กิโลเมตร 3. แม่น้ำบาสัก (Bassac) เชื่อมต่อกับแม่น้ำทะเลสาบที่หน้าพระมหาราชวัง กรุงพนมเปญ ความยาว 80 กิโลเมตร  4. ทะเลสาบโตนเลสาบ อยู่ห่างจากกรุงพนมเปญประมาณ 100 กิโลเมตร โตนเลสาบครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กําปงธม กําปงซะนัง โพธิสัตว์ พระตะบอง และเสียมเรียบ ในโตนเลสาบมีปลาชุกชมกว่า 300 ชนิด

กรุงพนมเปญ เป็นเมืองหลวงของกัมพูชา ถือเป็นเมืองศูนย์กลางแหล่งอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม นอกจากนี้ ยังมีเมืองที่สําคัญ ได้แก่ กรุงพระสีหนุ หรือกรุงกัมปงโสม (เป็นท่าเรือ น้ำลึกนานาชาติ สําหรับเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ใช้ในการนําเข้าและส่งออกสินค้า มีชายหาด ที่สวยงามเหมาะแก่การท่องเที่ยว เป็นแหล่งที่สํารวจพบว่ามีน้ํามันและก๊าซ ธรรมชาติ และมีนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ) จังหวัดเสียมราฐ จังหวัดพระตะบอง จังหวัดเกาะกง และจังหวัดกัมปงจาม เศรษฐกิจของกัมพูชาส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรเป็นหลัก  รองลงมา ได้แก่ ภาคบริการ และ ภาคอุตสาหกรรม ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธและมีการประกาศให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ รองลงมา ได้แก่ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ พราหมณ์ -ฮินดู และลัทธิอื่น ๆ

 

ธงชาติกัมพูชา

                 ธงชาติกัมพูชามีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน ผืนธงแบ่งตามแนวยาวเป็น 3 ริ้ว โดยริ้วกลางนั้นเป็นพื้นสีแดง กว้าง 2 ส่วน มีรูปปราสาทหินนครวัดสามยอดสีขาวอยู่ตรงกลาง ริ้วที่อยู่ด้านนอกทั้งสองด้านนั้นกว้างริ้วละ 1 ส่วน พื้นสีน้ำเงิน ความหมายของสัญลักษณ์ในธงนั้นสะท้อนถึง 3 สถาบันหลักของประเทศ ดังปรากฏในคำขวัญประจำชาติว่า “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” โดยพื้นสีแดงมีความหมายถึงชาติ ปราสาทนครวัดสีขาวหมายถึงสันติภาพและศาสนา ซึ่งเดิมมีรากเหง้าจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน ส่วนสีน้ำเงินนั้นหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์

ระบอบการปกครอง

(พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดมสีหมุนี)

ประเทศกัมพูชามีระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารประเทศ เป็นการปกครองที่มีรูปแบบรัฐเดียว
กษัตริย์องค์ปัจจุบันของกัมพูชา คือ”พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดมสีหมุนี” (His Majesty King Preah Bat Samdech Preah Boromneath Norodom Sihamoni) ขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2547  และนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน (2541–ปัจจุบัน)
(สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน )
            ตามโครงสร้างการปกครองของประเทศกัมพูชาได้กำหนดในกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2552 ให้มีการแบ่งเขตปกครองเป็น 1 ราชธานี (พนมเปญ) และ 23 จังหวัด ได้แก่ กรแจะ เกาะกง กันดาล กำปงจาม กำปงชนัง กำปงธม กำปงสะดือ กัมปอต ตาแก้ว รัตนคีรี สตึงแตรง สวายเรียง เสียมราฐ อุดรมีชัยไพลิน แกบ และพระสีหนุ ซึ่งแต่ละจังหวัดมีศูนย์กลางการปกครอง เรียกว่า”กรุง” (อำเภอเมือง)
            นอกจากนั้น ยังมีเมืองสำคัญที่มีฐานะเป็นกรุงอีก 3 แห่ง คือ กรุงปอยเปต (จังหวัดบันเตียเมียนเจย) กรุงบาวัด (จังหวัดสวายเรียง) และกรุงสรวง (จังหวัดกำปงจาม) แต่ละจังหวัดหรือกรุงปกครองโดยผู้ว่าราชการจังหวัด และรองผู้ว่าราชการจังหวัดอีก 7-9 คน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามวาระของรัฐบาล โดยจังหวัดแบ่งเขตการปกครองย่อยเป็นอำเภอ (สะร็อก) และตำบล (คุ้ม) ขณะที่กรุงแบ่งเขตการปกครองย่อยเป็นคานและสังกัด นอกจากนี้ในหมู่บ้านจะแบ่งออกเป็นชุมชนย่อยอีกเรียกว่า “ภูมิ” โดยในปัจจุบันประเทศกัมพูชามีการกระจายอำนาจแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 20 จังหวัด (เขต: Provinces;Khet) และ 4 เทศบาล (กรุง: Municipalities; Krung)

ตราแผ่นดิน

               ตราแผ่นดินกัมพูชาเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงระบอบกษัตริย์  ใช้เป็นตราประจำราชวงศ์กัมพูชาและใช้เป็นตราหน้าหมากทหารด้วย ประกอบด้วย คชสีห์ (ซ้าย) และราชสีห์ (ขวา)  ยืนขนาบข้างถือฉัตรห้าชั้น  ตรงกลางเป็นพานแว่นฟ้า อัญเชิญพระแสงขรรค์ เหนือขึ้นไปเป็นมหากุฎเปล่งรัศมี แถบแพรที่ฐานมีข้อความภาษาเขมรซึ่งมีความหมายว่า  “พระเจ้ากรุงกัมพูชา”

การเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของกัมพูชา

กัมพูชาได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนและยื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 แต่เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในกัมพูชาอย่างรุนแรง ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องทบทวนปัญหาดังกล่าว และเลื่อนการรับกัมพูชาเข้าเป็นสมาชิกออกไป จนท้ายที่สุดประเทศกัมพูชาได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนลำดับที่ 10 เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2542 โดยมีปัจจัยทางการเมืองและเศรษฐกิจเป็นแรงกระตุ้นสำคัญ กล่าวคือ

1 ปัจจัยทางการเมือง ท่ามกลางสภาวะสงครามกลางเมืองมายาวนานเกือบ 3 ทศวรรษ ได้ทำให้กัมพูชาไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจด้วยตนเอง จึงต้องมีการพึ่งพาองค์กรทางการเงินระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) องค์การระหว่างประเทศ และการช่วยเหลือในลักษณะทวิภาคี ทั้งการช่วยเหลือจากญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา และไทย ซึ่งการให้ความช่วยเหลือขององค์การระหว่างประเทศและประเทศผู้บริจาคต่อกัมพูชา มีเงื่อนไขที่สอดคล้องกัน คือ ความต้องการเห็นประเทศกัมพูชามีการปฏิรูปการเมือง ระเบียบราชการ การทหาร กฎหมาย เศรษฐกิจ และการจัดระบบนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมของประเทศกัมพูชาที่จะต้องเกิดขึ้น ดังนั้น อาเซียนจึงเป็นเวทีหนึ่งที่สะท้อนได้ถึงความพยามยามในการปรับเปลี่ยนในเชิงบวกของกัมพูชา

2 ปัจจัยทางเศรษฐกิจ

2.1) ความต้องการสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน การเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียน คือ การที่กัมพูชามีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจภูมิภาค ซึ่งจะช่วยให้เกิดการกระตุ้นการพัฒนาของประเทศ ทั้งการค้าและการลงทุน ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ความรู้ ความชำนาญ และส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยอาเซียนจะช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อกัมพูชา

2.2) อาเซียนเป็นองค์กรระดับภูมิภาคและเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ ประกอบกับกัมพูชามีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ในใจกลางอาเซียน และในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า ไทย เวียดนาม และมณฑลยูนนาน ดังนั้น กัมพูชาจะสามารถใช้ประโยชน์จากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์พร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และประสบการณ์ที่ร่วมงานกับนักลงทุนต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศ

2.3) อาเซียนเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ และเป็นประตูเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับกัมพูชาในการเปิดออกไปสู่เศรษฐกิจระดับโลก การเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนจะทำให้กัมพูชามีโอกาสในการแสดงบทบาทของตนในเวทีระหว่างประเทศและได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากองค์การระหว่างประเทศที่ผูกพันกับอาเซียน

2.4) ความต้องการใช้เวทีอาเซียนเพื่อการเตรียมพร้อมในเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การในระดับที่ใหญ่ขึ้น เช่น องค์กรการค้าโลก (WTO) องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (APEC) และองค์การศุลกากรโลก (WCO)

บทบาทของกัมพูชาในอาเซียน

ในอดีตที่ผ่านมา กัมพูชา เป็นประเทศที่สร้างความกังวลให้กับอาเซียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางอุดมการณ์และทางการเมืองในกัมพูชาอย่างรุนแรง แต่ภายหลังจากกัมพูชาได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนในปี 2542 กัมพูชาได้แสดงสิ่งที่สะท้อนถึงความร่วมมือและผลักดันให้เกิดเสถียรภาพและสันติภาพภายในภูมิภาค เช่น ในปี พ.ศ.2545 ประเทศกัมพูชาได้รับตำแหน่งประธานอาเซียน และเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 4-5 พฤศจิกายน พ.ศ.2545 ณ กรุงพนมเปญ ภายหลังเหตุการณ์ระเบิดที่บาหลีประเทศอินโดนีเซียเพียง 3 สัปดาห์ จึงทำให้เหตุการณ์ก่อวินาศกรรมที่บาหลี กลายมาเป็นวาระสำคัญในการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่กรุงพนมเปญ ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาได้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ โดยมีผู้นำประเทศต่างๆ ทั้งผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ผู้นำประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และผู้นำจากอินเดีย แอฟริกาใต้ร่วมด้วย รวม 15 ประเทศ มาร่วมประชุมเจรจาจนสำเร็จลุล่วง มีประเด็นหลักคือ ปัญหาการก่อการร้าย ที่หลายประเทศให้ความสำคัญ โดยผู้นำอาเซียนได้ออกปฏิญญาต่อต้านการก่อการร้าย และจะร่วมมือระหว่างกันในการป้องกัน โดยจะดำเนินมาตรการร่วมกันในประเทศสมาชิกและประชาคมโลก ทั้งยังเห็นพ้องให้มีการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายประจำภูมิภาค พร้อมทั้งประณามการก่อวินาศกรรมของกลุ่มก่อการร้ายที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย และในเมืองซัมบวนกา และเกซอน ของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาได้แสดงเจตจำนงอย่างเต็มที่ในการให้ความร่วมมือต่อประชาคมนานาชาติในการต่อต้านการก่อการร้ายข้ามชาติ

                ในปีพ.ศ. 2555 ประเทศกัมพูชาได้ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนอีกครั้ง และในฐานะประธานอาเซียน ปีพ.ศ. 2555 นี้ ประเทศกัมพูชาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Foreign Ministers’ Meeting (AMM) Retreat) ณ เมืองเสียมราฐ ระหว่างวันที่ 10-11 มกราคม 2555 กัมพูชาได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนเกี่ยวกับปัญหาในพม่า โดยสนับสนุนให้ยกเลิกมาตรกรรมคว่ำบาตรต่อพม่า หลังจากที่พม่ามีการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นประชาธิปไตยตามลำดับ รวมถึงสนับสนุนการรับประเทศติมอร์ตะวันออกเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนด้วย และเมื่อถึงวาระที่กัมพูชาจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 20 ประจำปี 2555 ณ กรุงพนมเปญ ในวันที่ 3-4 เมษายน 2555 ซึ่งเป็นปีที่มีการฉลองครบรอบ 45 ปี อาเซียน ผู้นำกัมพูชาได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนในการสร้างความเข้มแข็งของกลไกในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของภูมิภาค รวมทั้งป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจโลกในอนาคต และการส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างถิ่น โดยถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ที่แตกต่างหลากหลาย

สกุลเงิน

สกุลเงินกัมพูชา คือ เรียล (Riel) ตัวย่อ KHR  อัตราแลกเปลี่ยนโดยประมาณ 130 เรียล = 1 บาท โดยมีธนบัตรมูลค่า 50 , 100 , 500 , 1000 , 2000, 5000 , 10000 , 20000 , 50000 และ 100000

 

ระบบการศึกษา

หน่วยงานจัดการศึกษาของกัมพูชา คือ กระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และการกีฬา (Ministry of Education, Youth and Sport – Cambodia) ระบอบการจัดการศึกษาของกัมพูชาได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนา เศรษฐกิจของประเทศซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้การศึกษาเป็นกลไกสำคัญของประเทศในการขจัดความยากจน ระบบการศึกษาของกัมพูชา มีโครงสรางแบบ 6+3+3  โดยมีระบบการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี จากอาย 6-14 ปี การจัดการศึกษาสามารถแบ่ง ออกเป็น 4 ระดับ ซึ่งจะจัดสรรตามกลุ่มอายุ และระดบการศึกษาจากชั้นต้นจนถึงการศึกษาในระดับสูง ได้แก่

1. ระดับปฐมวัย (Primary) การศึกษาระดับปฐมวัยเริ่มต้นจากการศึกษาในเกรด 1 ซึ่งเป็น การศึกษาระดับชั้นต้นของนักเรียนที่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ ตั้งแต่ช่วงอายุ 6 ปี ถีง 11 ปี ครอบคลุม ระยะเวลา 6 ปี

2. ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (Lower-Secondary) เป็นช่วงการศึกษาที่สูงขึ้นมาจาก การศึกษาปฐมวัย ระยะเวลาเรียน 3 ปี ช่วงอายุนักเรียนอยู่ระหว่าง 12-14 ปี ผู้ผ่านการศึกษาระดับ มัธยมศึกษาตอนต้นของประเทศกัมพูชาจะได้รับประกาศนียบัตร National Examination for Lower Secondary Education Certificate

3. ระดับหลังมัธยมศึกษา (Post-Secondary Education)

3.1) ระดับมัธยมศีกษาตอนปลาย (Upper-Secondary) เป็นช่วงการศึกษาที่สูงขึ้นมา จากมัธยมศึกษาตอนต้น ช่วงอายุนักเรียนจะอยู่ระหว่าง 15-17 ปี ผู้ผ่านการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ของประเทศกัมพูชาจะได้รับประกาศนียบัตร National Examination for Upper-Secondary Education Certificate

3.2) วิทยาลัยเทคนิคและโรงเรียนอาชีวศึกษา (Vocational and Technical Education) เป็นหลักสูตรตั้งแต่ 1 ปี หรือ 3-5 ปี การศึกษาในวิทยาลัยเทคนิคและโรงเรยนอาชีวศึกษายังไม่เป็น ที่นิยมจากประชาชนประเทศกัมพูชา ส่วนมากเน้นการเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัย

4. ระดับอุดมศึกษา (Higher Education) สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในกัมพูชา มีจำนวน 88 แห่ง (2010) ประกอบด้วยสถาบันของรัฐบาล จำนวน 54 แห่ง สถาบันเอกชนจำนวน 26 แห่ง การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษานี้ บางสถาบันการศึกษาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตร สาธารณสุขหรือแรงงาน การจัดการศึกษานอกระบบจะเน้นการฝึกทักษะ ให้กับประชาชน

อาหารประจำชาติ

คนกัมพูชากินข้าวเป็นอาหารหลักคล้ายกับคนไทย และมีน้ำพริกกับผักแกล้มเหมือนกับหลายๆ ประเทศคนกัมพูชานิยมกินเนื้อควายเป็นส่วนมากอาหารประจำชาติของกัมพูชา คือ “อาม็อก” เป็นอาหารคาวยอดนิยมของกัมพูชาคล้ายห่อหมกของไทย โดยนำเนื้อปลาสดๆ ลวกพริกเครื่องแกง และกะทิแล้วทำให้สุกโดยการนำไปนึ่ง

ดอกไม้ประจำชาติ

กัมพูชามีดอกไม้ประจำชาติเป็น ดอกลำดวน (Rumdul) ดอกไม้สีขาวปนเหลืองนวล กลีบดอกหนาทึบและแข็งเล็กน้อย มีกลิ่นหอมเย็นแบบกรุ่น ๆ ถูกจัดเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งเพราะมีความหมายถึงความสดชื่นหอมกรุ่น และเป็นดอกไม้สำหรับสุภาพสตรี วิธีปลูกที่ถูกต้อง ต้องปลูกไว้ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวบ้าน ที่สำคัญต้องปลูกในวันพุธด้วย

กีฬาประจำชาติ

กีฬาประจำชาติ ของราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Cambodia)  คือ ประดัลเสรี ( Pradal Serey ) Pradal Serey เป็นศิลปะการป้องกันตัวของประเทศกัมพูชาี้ เป็นการชกมวยแบบพื้นบ้านลักษณะคล้ายมวยไทยและมีการจัดการแข่งขัน ทั่วไปในกัมพูชา โดยแข่งครั้งละ 5 ยก ยกละ 3 นาที พักยกละ 1-2 นาที ก่อนชกจะมีการไหว้ครู มีการบรรเลงดนตรีระหว่างการแข่งขัน ซึ่ง ประกอบด้วยกลองชนิด skor yaul ปี่ และฉิ่ง กติกาการแข่งขันที่สำคัญได้แก่ ไม่อนุญาตให้ซ้ำเติมคนล้ม ห้ามกัด หากอีกคนสู้ไม่ได้ กรรมการจะยุติการแข่งขัน ผู้ชนะอาจชนะโดยชนะน็อค เมื่อทำให้คู่ต่อสู้ล้มแล้วไม่สามารถสู้ต่อได้ภายใน 10 วินาที โดยกรรมการเป็นผู้นับ ถ้าสู้กับครบยกจะตัดสินด้วยคะแนน ถ้าคะแนนเท่ากันถือว่าเสมอ   ในช่วงที่กัมพูชาเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ประดัลเสรีกลายเป็นกีฬา โดยเพิ่มการสวมนวมและการแข่งขันเป็นยก ระหว่างสงครามกลางเมืองกัมพูชา  ประดัลเสรีถูกห้ามแข่งนักมวยส่วนมากถูกประหารเช่นกัน ทำให้ศิลปะการต่อสู้ชนิดนี้ลดลงอย่างมาก ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2522 กองกำลังเขมรฝ่ายตรงข้ามกับเขมรแดงร่วมกับกองทัพเวียดนาม โค่นล้มรัฐบาลเขมรแดงลง หลังจากนั้น ประดัลเสรีจึงได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีกครั้ง

 

เครื่องแต่งกายประจำชาติ

หญิง สวมเสื้อมีลายลูกไม้ที่คอและแขน อาจห่มสไบทับ และนุ่งผ้าทอมือ ที่เรียกว่า “ซัมปอด” (Sampot) และคาดเข็มขัดทับ

ชาย สวมเสื้อคอปิดแบบราชประแตนที่ทำจากผ้าไหมหรือผ้าฝ้ายกับกางเกงขายาว และสวมรองเท้าหนังแบบสากล

 

สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำในประเทศกัมพูชา

สิ่งที่ควรทำ
1. คนกัมพูชา จะกล่าวคำทักทายด้วยคำว่า “จูุมรียบ ชัวร์” หรือ “ซัว สเดย์” พร้อมประนมมือไว้ด้านหน้าและโค้งตัวต่ำลง ซึ่งผู้มีอาวุโสน้อยกว่าจะเป็นผู้ทักทาย
2. คนกัมพูชาใช้นามสกุลนำหน้าชื่อเสมอ หากต้องการเรียกชื่อคนกัมพูชา ควรเรียกชื่อท้าย
3. การรับประทานอาหารกับคนกัมพูชา ควรให้เจ้าของบ้านเป็นฝ่ายเริ่มรับประทานอาหารก่อน
4. ควรใช้มือทั้งสองข้างหรือมือขวาในการส่งของให้กัน
5. เมื่อพบพระภิกษุ สามเณร ควรถอดหมวกพร้อมแสดงความเคารพทุกครั้ง
6. ควรก้มศีรษะเล็กน้อยเมื่อเดินผ่านบุคคลที่กำลังสนทนากันอยู่ มิเช่นนั้นจะถือว่าเป็นการเสียมารยาทอย่างมาก
7. การนั่งกับพื้นควรเก็บปลายเท้าให้เรียบร้อยมิดชิด ไม่ชี้ปลายเท้าไปทางผู้อื่นผู้ใดเพราะถือเป็นการไม่สุภาพ
8. ควรปิดเครื่องมือสื่อสารเมื่ออยู่ในเขตวัด
9. โดยทั่วไปผู้หญิงควรแต่งตัวเรียบร้อยมิดชิด ผู้ชายควรสวมเสื้อมีปกและใส่กางเกงขายาว
10. ควรให้ความเคารพต่อผู้สูงอายุ และควรให้ผู้ที่อาวุโสสูงสุดของโต๊ะอาหารรับประทานอาหารก่อน
สิ่งที่ไม่ควรทำ
1. ไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์การเมือง การปกครองและถ่ายภาพสัญลักษณ์ทางการทหารของกัมพูชา
2. ในการถ่ายภาพ ไม่ควรจับมือชาวกัมพูชา เพราะจะทำให้เกิดการเข้าใจผิดกัน
3. ไม่ควรส่งเสียงดัง หรือสวมหมวกในเขตวัด ส่วนผู้หญิงไม่ควรแต่งหน้าจัดหรือแต่งตัวไม่สุภาพเมื่อเข้าวัด
4. คนกัมพูชาถือว่าศีรษะเป็นของสูง จึงไม่ควรแตะต้องหรือสัมผัสศีรษะผู้อื่นในทางกลับกันถือว่าเท้าเป็นของต่ำ ไม่ควรชี้หรือเดินข้ามบุคคลอื่น
5. ไม่ควรใช้กระดาษห่อของขวัญสีขาว เพราะคนกัมพูชาถือเป็นสีของการไว้ทุกข์และไม่ควรเปิดดูของขวัญทันที
6. คนกัมพูชาถือว่าผู้หญิงไม่ควรหัวเราะเสียงดังในที่สาธารณะถือเป็นกิริยามารยาทที่ไม่เหมาะสม
7. ไม่ควรสบตาหรือจ้องมองเป็นเวลานาน เพราะคนกัมพูชาถือว่าไม่สุภาพ
8. ไม่ควรแสดงความรัก เช่น การกอด จูบ ในที่สาธารณะ
9. ไม่ควรสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ
10. ห้ามซื้่อขายบุหรี่ไฟฟ้าและซิก้าร์ในประเทศกัมพูชา เพราะผิดกฎหมาย

 

ที่มา

http://www.aseanthai.net/mobile_detail.php?cid=48&nid=2531

http://library.sut.ac.th/asean_data/?m=data&country_id=2&category_id=11

งานวิเทศสัมพันธ์ กองนโยบายและแผน. (2558). ระบบการศึกษาในประเทศอาเซียน. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ

efaidnbmnnnibpcajpcglclefindmkaj/https://plan.rmutsb.ac.th/plan/data_information/file/1_IR_333.pdf

http://www.kalasin-pao.go.th/aec/sign.html

https://www.lib.ru.ac.th/journal2

http://www.dooasia.com/info-asean/

 

MukraweC

Translate »