3 ปัจจัย ผลักดันเศรษฐกิจ ‘เวียดนาม’ โตไม่หยุด!
จากบทความที่เผยแพร่ลงใน vietnam-briefing.com ระบุว่า การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน, บรรยากาศการค้าขาย และค่าจ้างในอัตราที่แข่งขันได้ เป็น 3 ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอย่างต่อเนื่อง และตัวเลขการเติบโตเป็นไปในเชิงบวก
.
1. การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน
เวียดนามใช้จ่ายประมาณ 6% ของ GDP ไปกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และในบรรดาค่าใช้จ่ายเหล่านั้นคือ การก่อสร้างโครงการยักษ์ใหญ่ เช่น ทางหลวงเชื่อมระหว่างนครโฮจิมินห์-กรุงฮานอย ที่มีความยาว 1,800 กิโลเมตร, สนามบินนานาชาติล็องถั่ญ ซึ่งในที่สุดจะมาแทนที่สนามบินนานาชาติเติ่นเซินเญิ้ต ในนครโฮจิมินห์ ซึ่งแออัดมากเกินไป และโครงการรถไฟฟ้าในกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ ตลอดจนโรงไฟฟ้าพลังความร้อนและพลังงานจากขยะ
.
2. บรรยากาศการค้าขาย
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เวียดนามมีความกระตือรือร้นในการลงนามข้อตกลงการค้าทวิภาคีหลายฉบับกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงการเป็นสมาชิกของอาเซียน ยังทำให้เวียดนามกลายเป็นภาคีของบรรดาข้อตกลงการค้าเสรีที่กลุ่มภูมิภาคได้ลงนามอีกด้วย
การรับรองมาตรฐานคุณภาพสินค้า การผลิต และสิทธิของพนักงานในข้อตกลงเหล่านี้ จะทำให้เวียดนามกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและสามารถขยายฐานการส่งออกได้ ตัวอย่างเช่น ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ได้กระตุ้นการส่งออกของเวียดนาม แม้จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในปี 2564 รวมถึงความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหราชอาณาจักร-เวียดนาม (UKVFTA) ได้ช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่าง 2 ประเทศเป็นเกือบ 6.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการเพิ่มขึ้นที่คล้ายกันนี้ยังสามารถเห็นได้ในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) จากการส่งออกไปยังแคนาดาและเม็กซิโกด้วย
นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจของเวียดนามยังเปิดกว้าง และรัฐบาลได้กำหนดนโยบายต่างๆ ที่เป็นมิตรต่อนักลงทุน โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดการลงทุนและการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยดึงดูดที่สำคัญสำหรับบรรดานักลงทุนที่ต้องการเข้าไปลงทุนในเวียดนาม และเป็นไปได้ง่ายขึ้นด้วยจำนวนข้อตกลงการค้าเสรีที่เพิ่มขึ้น
.
3. ค่าจ้างในอัตราที่แข่งขันได้
ข้อได้เปรียบที่ใหญ่ที่สุดข้อหนึ่งของเวียดนามคือ อัตราค่าจ้างที่สามารถแข่งขันได้ โดยมีพนักงานวัยหนุ่มสาวที่มีความกระตือรือร้นที่พร้อมจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งแรงงานที่อายุน้อยก็มาพร้อมกับค่าจ้างที่ต่ำ โดยมากกว่า 40% ของนักศึกษาของมหาวิทยาลัยในเวียดนามจบการศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ และเมื่อเศรษฐกิจของเวียดนามเติบโต ค่าจ้างก็จะสูงขึ้น ดังนั้นเวียดนามจึงต้องรักษาสมดุลระหว่างอัตราเงินเฟ้อ ระดับค่าจ้าง และผลผลิต เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายต่อตลาดแรงงานโดยรวม
.
ทั้งนี้ บทความได้สรุปว่า แม้ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงมีอยู่ แต่โอกาสทางเศรษฐกิจของเวียดนามก็ยังคงสดใส และถึงแม้ในระยะสั้น ต้นทุนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น แต่บรรดานักลงทุนที่เล่นเกมระยะยาวจะได้รับผลตอบแทนก้อนโต
ที่มา: AEC Connect