นัต หมายถึงผีของชาวพม่า เป็นความเชื่อพื้นเมืองที่มีมาก่อนที่พุทธศาสนาจะเข้ามาในพม่า นัตเป็นผีบรรพบุรุษ ลักษณะกึ่งผีกึ่งเทวดาคล้ายเทพารักษ์ คอยดูแลคุ้มครองสถานที่ที่ตนเมื่อครั้งยังมีชีวิตมีความสัมพันธ์อยู่ โดยอาจจะมีศาลลักษณะคล้ายศาลเพียงตาตั้งบูชาอยู่ในสถานที่นั้น แต่เดิม นัตเป็นเพียงผีหรือวิญญาณทั่วไปที่สิงสถิตย์ตามธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ หรือภูเขา แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนผ่านไป จึงมีความเชื่อว่านัตเริ่มมีตัวตนและเริ่มผูกพันเข้ากับการตายของคน นัตที่เป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์นี้ยังมีความแตกต่างจากเทพเทวดาตรงที่นัตจะอาศัยอยู่เฉพาะในภพภูมิมนุษย์ มิได้อยู่บนสวรรค์ชั้นฟ้า นัตในสังคมพม่าที่จะกล่าวถึงในบทความนี้เป็นนัตในความหมายของ “วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของผู้ตายร้าย” เป็นภูตผู้เป็นที่พึ่งของปุถุชนทั่วไป
นัตที่เป็นภูตผีนี้จะมีฐานะกึ่งเทพกึ่งผี คืออยู่ระหว่างเทพและผี มีระดับสูงกว่าผีทั่วไป แต่มิเทียบเท่าเทวดา นัตจึงไม่ใช่ผีธรรมดาสามัญ หากทว่าเป็นวิญญาณของมนุษย์ผู้ตายจากด้วยภัยอันร้ายแรงผู้คนให้ความเคารพบูชา และมีพิธีเข้าทรงลงผี ด้วยเชื่อว่านัตจะให้ความช่วยเหลือและคุ้มกันภัยในหมู่ผู้ศรัทธากราบไหว้ อีกทั้งเหล่าสาวกของนัตจะต้องนอบน้อมต่อนัตดุจเจ้า ยามพูดคุยกับนัตผ่านร่างทรงก็ต้องกล่าววาจาด้วยภาษาชั้นสูงอย่างพูดกับพระราชา ตลอดจนให้ความยำเกรงต่อศาลซึ่งเป็นที่สถิตของนัต ไม่สวมรองเท้าเข้าศาลนัต และไม่แสดงอาการลบหลู่ นัตจึงเป็นผีที่มีฐานะและบทบาทเท่ากับผีเจ้าพ่อเจ้าแม่ของไทย เพราะสถิตพำนักอยู่บนสรวงสวรรค์ มักไม่ข้องแวะกับกิจบนโลกมนุษย์ การจัดแบ่งเช่นนี้ชี้ชัดได้ทันทีว่าเอ้าก์นัตไม่ใช่เทวาหรือพรหมาบนสวรรค์ชั้นฟ้า หากแต่เป็นผีพื้นถิ่นที่คอยอารักษ์ผู้คนอยู่บนแดนมนุษย์
นัตที่ลือนาม
นัตนอกที่คนพม่ารู้จักเป็นอย่างดี คือ
1.มีงมหาคีริ ตลอดจนนัตที่เป็นเครือญาติของนัตตนนี้ ได้แก่ เมีย ๑ น้องสาว ๒ ลูกชาย ๒ และหลานสาว ๑ รวมเป็นนัตวงศ์มีงมหาคีริ มี ๗ ตน มีงมหาคีริเป็นนัตหลวงที่มีกำเนิดแถบเมืองตะกอง ในเขตพม่าตอนเหนือ มีตำนานเล่าสืบย้อนไปถึงสมัยพุกามยุคแรกก่อนรัชสมัยของพระเจ้าอโนรธา( ค.ศ.๑๐๔๔-๑๐๗๗) ต่อมามีงมหาคีริตนนี้ได้กลายมาเป็นนัตประจำบ้านหรือนัตเรือน คอยดูแลความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินในบ้าน
2.นัตในวงศ์มีงมหาคีริที่รู้จักกันดี ได้แก่ ชเวนะเบ เป็นเมียมีงมหาคีริ ชเวเมียตหน่า เป็นน้องสาวคนโต โตงปั่งหละ เป็นน้องสาวคนเล็ก และชิงแนมิ เป็นลูกสาวของโตงปั่งหละ
3.ชเวพีญญีนอง เป็นนัตหลวงสองพี่น้อง มีกำเนิดอยู่ทางเหนือของเมืองมัณฑะเล มีตำนานร่วมสมัยกับเรื่องราวของพระเจ้าอโนรธา นัตคู่นี้เป็นนัตครูที่บรรดาร่างทรงนัตจะต้องเซ่นสรวงกันทุกปี
4.เยงังป่ายอูฉิ่งจี เป็นนัตดูแลท้องทะเล จัดว่าเป็นนัตของชาวพม่าตอนล่างที่ใช้ชีวิตทำมาหากินกับทะเล
5.โก-มโยะฉิ่ง นัตเชื้อสายไทใหญ่ ดูแลพื้นที่เจ้าก์แซแถบเมืองมัณฑะเล และดูแลบ้านป่าดงดอย
6.ปะคันอูมีงจ่อ หรือปะคันมีงจี เป็นนัตดูแลเมืองปะคัน ซึ่งอยู่บนเส้นทางจากเมืองพะโคะกู่สู่มัณฑะเล นัตตนนี้มีนิสัยขี้เหล้าเมาพนัน
7.โปปาแมด่อ เป็นนัตเจ้าแม่ดูแลพื้นที่เขาโปปาแห่งพุกามและบริเวณใกล้เคียง
8.นังกะไร่ หรือพะโคแมด่อ เป็นนัตนางกระบือ กล่าวว่าเป็นเจ้าแม่ของชาวมอญในเขตพม่าตอนล่าง ปัจจุบันนับถือกันมากในเขตย่างกุ้งและพะโค
9.อะเมเยยิง เป็นนัตผู้ดูแลเมืองบั้งจี่ แถบเมืองปะคัน
.
นัตที่กล่าวมานี้จัดว่าเป็นนัตที่มีกำเนิดมาแต่ละท้องถิ่น และแต่ละพื้นที่ก็นิยมบูชานัตแตกต่างกันไป นอกจากนี้ชาวพม่าบางคนยังนิยมนับถือนัตเฉพาะตนสืบทอดกันเฉพาะครอบครัว เรียกว่า มิโยพลานัต แม้จะย้ายถิ่นหรือแต่งงานแยกบ้านแยกครัวก็ต้องอัญเชิญนัตเข้ามาอยู่ในบ้านของตนและเซ่นไหว้สืบทอดกันจนชั่วลูกชั่วหลาน นัตพม่าซึ่งเป็นนัตนอกดังกล่าวมานี้จึงเป็นทั้งนัตที่นิยมบูชากันตามพื้นถิ่น ขณะเดียวกันก็มีการบูชาสืบทอดผ่านวงศ์ตระกูลด้วยเช่นกัน
นอกจากนัตจะมีความสัมพันธ์ต่อคนตามท้องถิ่นและตามเครือญาติแล้ว ชาวพม่ายังนิยมบูชานัตตามศรัทธาประสาทะหรือตามความนิยม อาทิ คนพม่านับถือโปปาแมด่อในฐานะนัตผู้เคร่งในพระศาสนา มีงมหาคีริเป็นนัตดูแลสันติสุขในเรือน ชเวพีญญีนองเป็นนัตช่วยเหลือในคดีความ อะเมเยยิงเป็นนัตเจ้าแม่ผู้ชำนาญสมุนไพรและการคลอดบุตร นังกะไร่เป็นนัตเจ้าแม่ผู้ช่วยเหลือการค้าขาย ชิงแนมิเป็นนัตที่ช่วยเหลือในด้านการเล่าเรียน อะเมจาง เป็นนัตที่ให้ความกล้า ช่วยเหลือแม้แต่พวกลักวัวลักควาย และปะคันอูมีงจ่อหรือปะคันมีงจีที่รู้จักกันดีในชื่อว่าโกจีจ่อ เป็นนัตชอบความสนุกสนาน กินเหล้าเมายา ชอบพนันชนไก่ และเล่นหมากทอยอยู่เป็นนิจ นัตตนนี้นับเป็นขวัญใจพวกนักเสี่ยงโชคและนักการพนัน นอกจากนี้มีนัตในที่อยู่ฝ่ายพุทธองค์หนึ่งที่ชาวพม่านิยมบูชากันมาก คือ สูรสฺสติ แม้จะถือเป็นเทวีผู้คอยดูแลพระไตรปิฎกก็ตาม แต่ยังได้รับความเชื่อถือว่าเป็นเทวีแห่งการทำนายที่แม่นยำอีกด้วย อย่างไรก็ตามจะไม่นิยมอัญเชิญเทวีองค์นี้ประทับทรง
ปัจจุบันคนพม่ามักนิยมนับถือนัตตามความนิยมศรัทธาเป็นส่วนใหญ่ ออกจะดูเป็นอิสระจากท้องถิ่นและครอบครัวซึ่งกำหนดให้ต้องเชื่อถือตามประเพณี การนับถือนัตจึงมีความเป็นปัจเจกนิยมอีกด้วย เพราะช่วยปัดเป่าปัญหาเฉพาะตนและเฉพาะกรณี อย่างไรก็ตามนัตพม่าที่นับถือและมีการเข้าทรงลงผีนั้น ต่างนับอยู่ในกลุ่มนัตเบื้องล่างที่เป็นนัตนอก และในจำนวนนี้มีนัตอีกหลายตนเป็นนัตที่อยู่นอกทำเนียบนัตหลวง จึงถือว่านัตลือนามที่ชาวพม่านิยมเซ่นสรวงบูชากันในปัจจุบันเป็นนัตของชาวบ้านโดยแท้
.
Youtube
https://youtu.be/Lbm3xeexkxo
ที่มาข้อมูล
https://www.gotoknow.org/posts/15548
Leave A Comment