สิงหราชบัลลังก์ (องค์จริง) หนึ่งในบัลลังก์ทั้งเก้า ประกอบด้วย (ชื่อสามัญ) 1.ดอกบัว 2.หงส์ 3.หอยสังข์ 4.กวาง 5.นกยูง 6.ช้าง 7.ผึ้ง 8.สิงห์
ตามประวัติระบุว่าบัลลังก์นี้เคยถูกนำไปอินเดียในปี ค.ศ.1902 ภายหลังพม่าเสียเมืองในปี ค.ศ.1885 สมัยพระเจ้าธีบอ และถูกนำกลับมายังพม่าคราวพม่าได้รับเอกราช เมื่อ ค.ศ.1948 โดยลอร์ดเม้าท์แบตเทน์
#พิพิธภัณฑ์ย่างกุ้ง

การสร้างพระราชวังของพม่า มีคติคล้ายๆ ของไทย คือมีการสร้างพระมหาปราสาทเป็นประธาน มีการสถาปนาราชบัลลังก์ที่สำคัญมีการ ตั้งเศวตรฉัตร ฯลฯ แต่ตามคติพม่าดูเหมือนจะจริงจังเรื่องการใช้พระราชวังเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาล
.
เมืองมัณฑะเลย์เป็นเมืองหลวงสุดท้ายของพม่ายุคราชอาณาจักร สถาปนาขึ้นเพื่อเป็นเสมือนศูนย์ “มณฑล” แห่งชมพูทวีป ที่ใจกลางมณฑลคือ พระราชวังหลวง ที่ใจกลางพระราชวังหลวงคือ ท้องพระโรงใหญ่ทรงปราสาทพระเมรุ ในปราสาทพระเมรุสูงเสียดฟ้ามีศูนย์กลางคือ บัลลังก์ทั้ง 8 และหัวใจของบัลลังก์ทั้ง 8 คือ สีหาสนบัลลังก์
.
ในพระราชวังมัณฑะเลย์ มีบัลลังก์งามตระการอยู่ 8 องค์ บ้างก็ว่า มี 9 องค์ ซึ่งก็ถูกต้องทั้งคู่ เพราะมีองค์จำลองของสีหาสนบัลลังก์อีก 1 องค์ บัลลังก์เหล่านี้ มีเบื้องหลังการสร้าง และมีนัยยะที่ซับซ้อนมาก หากบรรยายจนหมดคงได้เป็นหนังสือเล่มเขื่องๆ เล่มหนึ่ง จึงขอตัดทอนมา เฉพาะส่วนสำคัญ เริ่มจากไล่พระนามบัลลังก์ทั้ง 8 ดังนี้

1. สีหาสนะ (2 องค์) หรือบัลลังก์สิงห์ ทำจากไม้ซ้อ (Gmelina racemosa) ประดิษฐานที่ท้องพระโรงใหญ่หรือ ปราสาทฉอง องค์จำลองอยู่ที่เชตวันฉอง ทั้งนี้ สีหาสนะจะใช้ในพระราชพิธีสำคัญ รับทูตานุทูต และเจ้าประเทศราช เมื่อมีงานจะปักด้วยเศวตรฉัตร 8 ฉัตรโดยรอบบัลลังก์ ส่วนพื้นที่ตั้งทำจากดินอัด เป็นดินจากนครต่างๆ ในมัชฌิมเทศ หรืออินเดีย 12 แห่ง เช่น พาราณาสี มัลลปุรี ปาวา ราชคฤห์ เทวทหะ กบิลพัสดุ์ เป็นอาทิ
.
2. ปทุมาสนะ หรือ บัลลังก์บัว ทำจากไม้มะหาด (Artocarpus chaplasha) ประดิษฐานที่ท้องพระโรงฝ่ายในเบื้องปัจจิม หรือ อะเนาก์ปไวตักฉอง ใช้เป็นที่ออกสมาคมของข้าราชการผู้หญิงฝ่ายใน
.
3. ภมราสนะ หรือ บัลลังก์ผึ้ง ทำจากไม้บุนนาค (Mesua ferrea) ประดิษฐาน ณ หอแก้ว หรือ พระตำหนักทรงพระสำราญ ทั้งนี้ พม่าก็ถือว่าผึ้งหลวงเป็นสัตว์มงคลไปเกาะทำรังที่ใดมักนำโภคทรัพย์โชคลาภมาให้ พระเจ้ามินดงทรงโปรดมาก มักเสด็จมาบรรทมที่บัลลังก์นี้
.
4. มยูราสนะ หรือ บัลลังก์นกยูง ทำจากไม้ทองกวาว (Butea monosperma) ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งลักไว จะมุต ฉอง เชื่อว่า เป็นการสร้างตามธรรมเนียมโมรปริตร ช่วยคุ้มครองป้องกันภยันตรายต่างๆ พระเจ้าแผ่นดินพม่าประทับเมื่อทรงรับของจากช้างม้า
.
5. มิคาสนะ หรือ บัลลังก์กวาง ทำจากไม้มะเดื่อ (Ficus glomerata) ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งละกยา จะมุต ฉอง พระเจ้าแผ่นดินพม่าประทับเมื่อทรงปรึกษาราชการแผ่นดิน
.
6. หงสาสนะ หรือ บัลลังก์หงส์ ทำจากไม้ตะเคียนทอง (Hopea odorata) ประดิษฐาน ณ พระที่นั่ง
เชตวันฉอง พระเจ้าแผ่นดินพม่าประทับเมื่อทรงประกอบศาสนกิจ หรือบวงสรวงบูรพกษัตริย์ และพระเทพบิดร
.
7. คชาสนะ หรือ บัลลังก์ช้าง ทำจากไม้จำปา (Michelia champaca) ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งเพยตกฉอง พระเจ้าแผ่นดินพม่าประทับเมื่อทรงอวยยศขุนนาง และปรึกษาราชการแผ่นดินกับองคมนตรี
.
8. สังขาสนะ หรือ บัลลังก์สังข์ ทำจากไม้มะม่วง (Mangifera indica) ประดิษฐาน ณ พระตำหนักเลซาฉอง พระเจ้าแผ่นดินพม่าประทับเมื่อทรงศีล ฟังพระธรรมเทศนา
.
พระราชวังมัณฑะเลย์มีความโอ่อ่าอลังการยิ่งนัก ว่ากันว่า เป็นหมู่อาคารไม้สักที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ทุกวันนี้อาคารที่เราเห็น ล้วนแต่เป็นของที่สร้างขึ้นใหม่ในช่วงทศวรรษที่ 90 เพราะพระราชวังได้รับความเสียหายหลายระลอก ครั้งแรกๆ เมื่อพม่าพ่ายสงครามแองโกล-เบอร์ม่า ครั้งที่ 3 จนพระเจ้าสีป่อต้องยอมแพ้ และถูกเนรเทศจากแผ่นดินที่พระองค์ทรงเคยปกครอง แล้วนิราศไปจ่อมจมในแผ่นดินอินเดีย คราวนั้นอังกฤษเปลี่ยนพระราชวังเป็นสโมสรข้าราชการ มีอาคารสำคัญไม่น้อยถูกคนเมาสุราเผาทำลายไป ส่วนท้องพระโรงกลายเป็นห้องสันทนาการ โชคยังดีที่อังกฤษไม่ได้ยกราชบัลลังก์ไปเผาทิ้งเป็นฟืน
.
แม้จะรอดมืออังกฤษในครั้งนั้นมาได้ แต่ต่อมา พระราชวังทั้งหมดถูกทำลายไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เวลานั้นญี่ปุ่นยาตราทัพ เข้ามายึดครองพม่าไว้ ส่วนอังกฤษที่ถอยไปตั้งหลักที่อินเดีย จึงส่งเครื่องบินรบมาทิ้งระเบิดเมืองมัณฑะเลย์ ทำให้พระราชวังฉิบหายวายวอดจนหมดสิ้น เหลือเพียงอาคารที่ไม่สลักสำคัญเพียงไม่กี่หลัง ท้องพระโรงน้อยใหญ่ พระตำหนัก อารามหลวง ถูกทำลายไม่เหลือ
.
บัลลังก์ทั้ง 8 (หรือ 9) ล้วนถูกทำลายจนสิ้น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นกัน เหลือเพียงสีหาสนะองค์น้อยในเชตวันฉอง ที่ถูกขนย้ายไปโกลโกตา และต่อมาทางการพม่าได้รับคืนเมือปี 1948 จึงอาจกล่าวได้ว่า บัลลังก์หลักทั้งหมดของพม่ามิได้หลงเหลืออยู่แล้ว
.
อย่างไรก็ตาม โชคดีที่กระบวนการสร้างบัลลังก์อย่างละเอียด ยังคงเหลือรอด และมีผู้พบตำราใบลานว่าด้วยเรื่องนี้โดยเฉพาะ ส่วนหนึ่งให้รายละเอียดว่า การจัดสร้างจะต้องทำขึ้นพร้อมกันทั้ง 8 บัลลังก์ มีการคัดเลือกช่างในสกุลที่เป็นช่างหลวงสร้างพระราชวังโดยเฉพาะ แต่ละคนจะมีหน้าที่เฉพาะ เช่น สลักรูปคน รูปสัตว์ รูปเทพยดา และจะได้รับเลื่อยทองคำ 2 ปื้น เลื่อยเงิน 2 ปื้น สิ่วทอง 2 อัน สิ่วเงิน 2 อัน ค้อนตอกทอง 2 อัน ค้อนตอกเงิน 2 อัน ขวานถากทอง 2 อัน ขวานถากเงิน 2 อัน
.
ก่อนจะลงมือสร้าง โหรหลวงต้องหาฤกษ์งามยามดีเสียก่อน แล้วจัดพิธีบวงสรวง ทั้งพิธีพุทธ พิธีผี พิธีพราหมณ์ กระบวนการช่วงนี้มีความซับซ้อนมาก ราวกับระราชพิธีบรมราชาภิเษก เสร็จแล้ว จะประดิษฐานยังต้องหาฤกษ์ แล้วบวงสรวงบัลลังก์ ผี หรือ “นัต” อีก พร้อมด้วยจัดพระราชพิธีใหญ่โต
.
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
Yi Yi, The Thrones of the Burmese Kings ใน Journal of Burma Research Society Vol. 43 , No. 2, 1960

ที่มาข้อมูล
http://www.gypzyworld.com/article/view/784