เวียดนาม เป็นรัฐหนึ่งเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับอิทธิพลจากจีนทั้งในด้านการเมืองการปกครอง ปรัชญา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีเข้ามาใช้ในการปกครองรัฐอย่างเข้มข้น โดยหนึ่งกลไกสำคัญที่เวียดนามรับเข้ามาจากจีนเพื่อใช้ในการปกครองรัฐ นั่นคือ ระบบการสอบเข้ารับราชการ(科举) หรือการสอบจอหงวนนั่นเอง

ในสมัยราชวงศ์เหวียน (Nhà Nguyễn/阮朝 ค.ศ.1802 – 1945) ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายที่มีอำนาจปกครองเวียดนามนั้น ก็ยังคงสืบทอดระบบการคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการเป็นขุนนางด้วยการสอบจอหงวนเช่นกัน แต่ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในราชวงศ์นี้ก็คือ ตำแหน่งของผู้ที่สอบเตี้ยนซื่อ(殿試 การสอบในพระราชวัง เป็นการสอบในระดับสูงสุด) ได้คะแนนสูงสุดในราชวงศ์นี้ จะไม่เรียกว่าจอหงวน แต่จะเรียกว่า “ติงเสวี่ยน” (Ting Yuan/庭元 ภาษาจีนอ่านว่า “ถิงหยวน”) เนื่องจากในยุคนี้ไม่มีบัณฑิตคนไหนสามารถทำคะแนนสอบได้ถึงขั้นจอหงวนจริงๆ ซึ่งในประวัติศาสตร์ราชวงศ์เหวียนปรากฎชื่อของผู้สอบได้ตำแหน่งติงเสวี่ยนทั้งสิ้น 31 คน โดยติงเสวี่ยนคนสุดท้ายของราชวงศ์นี้คือ “เหวียนฟงซี” (Nguyễn Phong Di/阮豐貽 ค.ศ.1889 – ไม่ปรากฎปีที่ถึงแก่กรรม) ซึ่งยังสร้างประวัติศาสตร์ในฐานะ “จอหงวนคนสุดท้ายของเอเชีย” อีกด้วย

แต่ในประวัติศาสตร์ราชวงศ์เหวียนของเวียดนามนั้น มีขุนนางที่เคยสอบได้ตำแหน่งติงเสวี่ยนอยู่คนหนึ่ง ที่ได้มีโอกาสเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังโลกตะวันตก ไปไกลถึงกรุงปารีส และไปในฐานะผู้แทนพระองค์ของกษัตริย์ราชวงศ์เหวียนอีกด้วย

เขาผู้นี้ก็คือ “หงุ่ยคั่กดั่น” (Ngụy Khắc Đản/魏克憻 ค.ศ.1817 – 1873)

หงุ่ยคั่กดั่น เป็นชาวอำเภองีซวน( Nghi Xuân/縣宜春) มณฑลเหงะอัน(Nghệ An/省乂安) แห่งเวียดนาม เกิดในปีรัชศกยาลองปีที่ 16 (ค.ศ.1817) รัชสมัยของพระเจ้ายาลอง(Gia Long/嘉隆) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เหวียน (คนไทยรู้จักในนาม “องเชียงสือ” ทายาทแห่งสกุลเหวียน หนึ่งในสองสกุลขุนนางใหญ่แห่งเวียดนามสมัยราชวงศ์เลยุคหลังที่เคยลี้ภัยมาพึ่งใบบุญสยามในรัชกาลที่ 1) ต่อมาได้มีโอกาสเข้าสอบเตี้ยนซื่อ หรือการสอบระดับสูงสุดในปีรัชศกตือดึ๊ก(嗣德)ที่ 9 (ค.ศ.1856) โดยสอบได้คะแนนสูงสุดในปีนั้น จึงได้ตำแหน่งติงเสวี่ยน (ความจริงคะแนนของเขาถึงแค่ระดับทั่นฮวา (探花) หรือท้ำฮวย ซึ่งเป็นอันดับสาม แต่เขาได้คะแนนสูงที่สุดในบรรดาผู้เข้าสอบปีนั้น) แต่ความจริงเขาได้เริ่มรับราชการตั้งแต่สอบได้ระดับกลาง หรือจวี่เหริน(舉人) ตั้งแต่ปีรัชศกเทียวตรี(紹治)ที่ 1 (ค.ศ.1841) ด้วยการเป็นครูอยู่ที่อำเภอกันหล็อก (Can Lộc/縣干祿)

หลังสอบได้ตำแหน่งติงเสวี่ยน หงุ่ยคั่กดั่นก็ได้เข้ารับราชการที่สำนักราชบัณฑิต หรือฮั่นหลินเยวี่ยน(翰林院) ของราชสำนักเหวียน ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นข้าหลวงยุติธรรมมณฑลกว่างนัม (Quảng Nam/省廣南)

ในปีรัชศกตือดึ๊กที่ 16 (ค.ศ.1863) เวลานั้นฝรั่งเศสรุกรานเวียดนาม สองฝ่ายสู้รบกันมาหลายปี แต่เวียดนามไม่อาจสู้แสนยานุภาพของฝรั่งเศสได้ สองฝ่ายจึงเจรจาสงบศึกกัน เกิดเป็นสนธิสัญญาไซ่ง่อน (西貢條約) เมื่อปี ค.ศ.1862 แต่พระเจ้าตือดึ๊กแห่งราชวงศ์เหวียนทรงเห็นว่าข้อสัญญานี้เอาเปรียบเวียดนามเกินไป จึงทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ฟานแท็นหยาน (Phan Thanh Giản/潘清簡) เป็นราชทูต ให้หงุ่ยคั่กดั่นและฝ่ามฝูถือ (Phạm Phú Thứ/范富庶) เป็นอุปทูต เดินทางไปยังกรุงฝรั่งเศสเพื่อขอเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาฉบับนี้ในปีต่อมา คือปี ค.ศ.1863

นี่เองจึงเป็นครั้งแรกที่จอหงวน หรือติงเสวี่ยนแห่งราชสำนักเวียดนามได้มีโอกาสไปเยือนโลกตะวันตกอย่างเป็นทางการในฐานะผู้แทนพระองค์

คณะทูตชุดนี้ยังมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส คือพระเจ้านโปเลียนที่สามที่กรุงปารีสอีกด้วย โดยหลังจากการเจรจาระหว่างผู้แทนสองประเทศ พระเจ้านโปเลียนที่สามก็ทรงตัดสินพระทัยยกเลิกสนธิสัญญาไซ่ง่อน(แต่ภายหลังก็นำมาซึ่งการรุกรานทางทหารของฝรั่งเศสที่มีต่อเวียดนามดุเดือดกว่าเดิม)

เมื่่อกลับถึงพระนครเว้ในปีต่อมา หงุ่ยคักดั่นได้เขียน “บันทึกการเดินทางสู่ตะวันตก” (如西記) และร่วมกับฟานแท็นหยานเรียบเรียง “ไดอารีว่าด้วยการล่องเรือสู่ประจิม” (西浮日記) เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวประสบการณ์ที่ได้พบเห็นจากการเดินทางไปฝรั่งเศสครั้งนี้

ด้านชีวิตราชการของหงุ่ยคักดั่นหลังกลับจากฝรั่งเศสก็ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ (ซึ่งตรงข้ามกับฟานแท็นหยานผู้เป็นราชทูตที่ถูกปลดจากตำแหน่งเพราะความซื่อตรงของเขาที่กราบทูลเสนอให้ราชสำนักปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยแบบฝรั่งเศส) โดยได้เลื่อนตำแหน่งเป็นปลัดมณฑลเหงะอัน ต่อมายังได้รักษาการในตำแหน่งผู้ช่วยเสนาบดีมหาดไทย แต่ยังคงปฏิบัติราชการอยู่ที่เหงะอัน กระทั่งในปีรัชศกตือดึ๊กที่ 25 (ค.ศ.1872) จึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเสนาบดีกรมกลาโหม ต่อมาย้ายไปเป็นเสนาบดีกรมโยธาธิการ และได้เป็นสมาชิกสภาองคมนตรี(機密院) อันเป็นองค์กรทางการเมืองระดับสูงสุดของราชสำนักเหวียน แต่ไม่นานต่อมาเขาก็ล้มป่วยลงจนไม่อาจปฏิบัติราชการต่อไปได้ จึงขอลากลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน จนถึงปีรัชศกตือดึ๊กที่ 26 (ค.ศ.1873) เดือน 6 หงุ่ยคักดั่นก็ถึงแก่กรรม สิริอายุได้ 56 ปี ปิดฉากชีวิตของบัณฑิตจอหงวนแห่งอันนัมผู้เคยเดินทางไปยังกรุงฝรั่งเศสแต่เพียงเท่านี้

ภาพประกอบ : หงุ่ยคักดั่นในชุดขุนนางเต็มยศ ถ่ายไว้เมื่อครั้งเดินทางไปฝรั่งเศส

Worapong Keddit