Come to learn, leave to serve: จิตวิญญาณมหาจุฬาในเวียดนาม (ตอนที่ ๑)

Come to learn, leave to serve: จิตวิญญาณมหาจุฬาในเวียดนาม (ตอนที่ ๑)

ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเล้าฯ ให้มีการสร้างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยขึ้นเพื่อเป็นสถาบันการศึกษาพระไตรปิฎกและศาสตร์ชั้นสูงสำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเปิดทำการเรียน การสอนอย่างต่อเนื่องทั้งในหลักสูตรภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยเปิดรับทั้งนิสิตไทยและต่างประเทศ

มหาจุฬาเป็นที่รู้จักของชาวพุทธในระดับนานาชาติว่าเป็นสถาบันการศึกษาพระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ไทยและมีนิสิตจากทั่วโลกเดินทางมาเรียนในหลักสูตรต่าง ๆ โดยเฉพาะสาขาพระพุทธศาสนาซึ่งเอกลักษณ์อันโดดเด่นของมหาวิทยาลัยกล่าวคือการประยุกต์หลักธรรมเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม

การศึกษาในมหาวิทยาลัยได้ปลูกฝังจิตวิญญาณ หล่อหลอมแนวคิดและหลักการของพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ผู้เรียนได้ฝึกฝนตนเองทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน เมื่อจบการเรียนตามแนวปริยัติ หน้าที่อีกขั้นสำหนับการเป็นพุทธศาสนิกชนโดยเฉพาะพระสงฆ์นั้นคือการปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนา  เมื่อสำเร็จหลักสูตรตามระบอบการศึกษาแล้ว การกลับไปยังถิ่นฐาน บ้านเกิด เพื่อรับใช้สังคมคืออดุมการณ์ที่มหาจุฬาปลูกฝังให้กับนิสิตทุกคน อาจจะกล่าวได้ว่านี้เป็นเอกลักษณ์ที่หาจากสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ได้ยาก

ในหลักสูตรการศึกษาของมหาวิทยาลัย ได้กำหนดชัดเจนว่านิสิตมหาจุฬาต้องปฏิบัติศาสนกิจ ๑ ปี โดยนิสิตมหาจุฬาจะใช้เวลาดังกล่าวนี้ปฏิบัติศาสนกิจรับใช้สังคม เช่น บางรูปเป็นประธานบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน จัดกิจกรรมบรรพชาเยาวชนอันเป็นการสืบสานปณิธานและอดุมการณ์ของมหาจุฬาได้อย่างเต็มเปี่ยม นิสิตมหาจุฬาบางรูปก็รับหน้าที่ในทางคณะสงฆ์ เช่น เป็นพระสังฆาธิการ เป็นเจ้าคณะ เป็นต้น ปัจจุบันนี้ศิษย์เก่าของมหาจุฬาบางรูปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ทำหน้าเที่บริหารกิจการคณะสงฆ์ในระดับประเทศซึ่งเป็นความภูมิใจของมหาจุฬาอย่างยิ่ง

ไม่เพียงแต่นิสิตชาวไทยเท่านั้น สำหรับนิสิตต่างประเทศที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยก็ได้รับการปลูกฝังอุดมการณ์นี้ผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย จากการลงพื้นที่ของศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณที่ได้จัดกิจกรรม Junior Fellows  Program in Vietnam เมื่อวันที่ ๒๙ – ๓๑ ที่ผ่านมา โดยมีพระมหาสมพงษ์ สนฺจิตฺโต, ดร. เป็นผู้รับผิดชอบ นำนิสิตไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมเวียดนามที่กรุงโฮจิมินห์ พบว่า นิสิตชาวเวียดนามที่เป็นศิษย์เก่าหลายรูปทำหน้าที่ทางคณะสงฆ์ บางรูปเป็นเจ้าคณะ บางรูปปฏิบัติงานสนองงานพระอาจารย์อย่างน่าชื่นชม

ดังเช่น พระอาจารย์ Sư Thiện Bảo ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาส Chùa Phật Bảo หรือ วัดฟัตบ๋าว (วัดพุทธรัตนาราม) กรุงโฮจิมินห์ โดยเจ้าอาวาสได้มอบหมายภาระงานให้ท่านดูแลกิจการภายในวัด โดยท่านเปิดการเรียนการสอนสำหรับเยาวชน จัดกิจกรรมอบรมพัฒนาคุณธรรมสำหรับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ท่านเปิดสอนอภิธรรมเบื้องต้นและมุ่งเน้นบุรณาการไปพร้อมกับการปฏิบัติวิปัสสนาซึ่งท่านกล่าวว่าได้นำแนวทางการปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐานที่ฝึกปฏิบัติตอนเรียนที่มหาจุฬา

พระอาจารย์  Sư Thiện Bảo เป็นที่เคารพและเลื่อมใสของประชาชนชาวเวียดนาม สะท้อนถึงความสำเร็จของมหาจุฬาที่มุ่งสร้างคน ไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้น แต่สิ่งนี้คืออุดมการณ์สำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนานั่นคือ ประโยชน์สุขของพหูชนนั่นเอง

พระอาจารย์ Sư Thiện Bảo เป็นศิษย์เก่าคณะพุทธศาสตร์ สาขาพระพุทธศาสนา ได้ให้สัมภาษณ์ถึงแรงบันดาลใจของการทำงานว่า ท่านยึดต้นแบบของหลวงพ่อเจ้าอาวาส ซึ่งมีความเมตตาให้ทุนการศึกษาและส่งมาเรียนด้านพระพุทธศาสนาที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเพื่อนำความรู้กลับไปพัฒนาวัดและชุมชน พระอาจารย์ Sư Thiện Bảo กล่าวเสริมว่า มหาจุฬาได้หล่อหลอมให้ท่านเข้าใจพระพุทธศาสนามากขึ้น ฝึกให้ท่านมีความรับผิดชอบต่อสังคมและการทำงานร่วมกับเครือข่ายต่าง ๆ ปัจจุบันมีเพื่อนๆ สมัยเรียนแวะมาเยี่ยมเยือนเป็นประจำทุกปี ที่มหาจุฬาทำให้ท่านได้เปิดโลกการศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างมาก สิ่งที่ทำให้ท่านภูมิใจมากที่สุดคือการเป็นศิษย์มหาจุฬา เพราะหลังจากที่ท่านสำเร็จการศึกษาคณะสงฆ์ได้มีมติให้ท่านดำรงตำแหน่งคณะกรรมการคณะสงฆ์ระดับจังหวัดดูแลด้านการศึกษาของคณะสงฆ์ทั้งหมดในกรุงโฮจิมินห์

ในอนาคตท่านตั้งใจจะกลับมาเรียนที่มหาจุฬาอีกครั้ง โดยตั้งใจจะเรียนในหลักสูตรพระไตรปิฎกศึกษาเพื่อจะนำไปเปิดสอนที่ประเทศเวียดนาม

บทบาทของพระอาจารย์ Sư Thiện Bảo สะท้อนผลิตผลด้านการพัฒนาบัณฑิตที่มีคุณภาพของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่มุ่งสร้างงานวิชาการและพัฒนาคนให้ตอบโจทย์สังคมโลกอย่างยั่งยืน ทั้งยังเป็นตัวชีวัดความสำเร็จของการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย ถ่ายทอดจิตวิญาณของมหาจุฬาที่มุ่งพัฒนาพระสงฆ์ให้สืบสานอุดมการณ์พระพุทธศาสนาให้มั่นคงและยืนหยัดค้ำชูสันติสุขของผู้คนโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนาอย่างแท้จริง

ขอบคุณ
ภาพประกอบ: พระมหาสมพงษ์ สนฺตจิตฺโต, ดร.
เรียบเรียงและเผยแพร่ : พระอภิเชษฐ์ สุภทฺรวาที
ผู้ช่วยบรรณาธิการ : มุกรวี ฉิมพะเนาว์
บรรณาธิการ : พระมหาจีรวัฒน์ กนฺตวณฺโณ, รศ.ดร.
___
Facebook : Mcu Asean
Twitter : ascmcu
IG: ascmcu

Aphichet Somkamsri

Translate »