Legendary narratives : พระศรีอาริยะ ข้อถกเถียงว่าด้วยสังคมอุดมคติของเถรวาทไทย

คติปรารถนาเกิดทันยุคพระศรีอาริยเมตไตรยกับการปราถนาพุทธภูมิในสังคมอาเซียน
พระโพธิสัตว์ยุคแรกๆ ที่ได้รับการนับถือทุกนิกาย คงไม่พ้นพระศรีอาริยเมตไตรย/พระศรีอารยเมตไตรยตามคติเถรวาท/หีนยาน/มหายาน ซึ่งคัมภีร์พุทธวงศ์ คติเถรวาทได้กล่าวถึงพระองค์ในฐานะอนาคตพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล โดยพระองค์จะมาเป็นองค์พระพุทธเจ้าองค์ที่ 5 ของภัทรกัปป์นี้ ส่วนในคติมหายาน พระองค์คือ 1 ในคณะพระโพธิสัตว์ และจะมาตรัสรู้ในอนาคตกาล เพื่อช่วยเหลือเหล่ามวลมนุษย์ รวมทั้งเพื่อโปรดสรรพสัตว์ให้พ้นจากวัฏสงสารต่อไป
ความนิยมโพธิสัตว์พระองค์นี้เกิดขึ้นราว พ.ศต. 8-13
คติการบูชาพระองค์มีความสำคัญมากต่อชาวพุทธทั่วไป ไม่ว่านิกาย สำนักนิกาย ภูมิภาค นับว่าได้รับการนับถือมากทั่วไปตลอดระยะเวลาจะสิ้นสุดรอบและเริ่มต้นพุทธศตวรรษ 1000 ปี หรือ 2000 ปี ทั้งนี้พบหลักฐานการบูชามากมายในอินเดีย และนอกอินเดียในระยะเวลานี้ และเวลาต่อๆ มา ทั้งในวรรณกรรม จารึก และที่พบเป็นรูปธรรมในงานศิลปกรรมและทางโบราณคดี เริ่มปรากฏรูปเคารพตามลักษณะแตกต่างตามคติ
หลักฐานลายลักษณ์อักษรวรรณกรรม
ความในพระไตรปิฎกระบุว่า กัปปัจจุบันนี้ เรียกว่า ภัทรกัป แปลว่า กัปเจริญ มีพระพุทธเจ้ามาบังเกิดถึง 5 พระองค์ อุบัติแล้ว 5 พระองค์ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ และพระโคดม คงเหลือพระเมตเตยยะ เรียก พระศรีอาริย์/พระศรีอารยเมตไตรย จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในภายภาคหน้า คัมภีร์สุตตนิบาตในพระไตรปิฏก กล่าวว่า ในจำนวนพระพุทธเจ้าที่สืบต่อพระพุทธวงศ์องค์สุดท้าย คือ ไมเตรยะ ผู้เป็นผู้นำสั่งสอนนักปราชญ์จำนวนร้อยโกฏิ ผู้นำของสัตว์โลกทั้งหลาย ผู้จะได้เสด็จ (สมภพ) ในนครเกตุมวตีอันมั่นคง…” ส่วนในคัมภีร์มหาวัสตุที่เป็นภาษาสันสกฤตของอนุนิกายโลโกตตระ มหาสังฆิกะกล่าวว่า พราหมณ์ผู้หนึ่งผู้ถือกำเนิดในตระกูลพราหมณ์อันรุ่งเรืองและมั่งคั่งจะสละทรัพย์สมบัติมหาศาล เพื่อแสวงหาความหลุดพ้นจากโลก ในตระกูลพราหมณ์อันเจิดจ้าด้วยปัญญาตระกูลนั้น ไมเตรยะจะบังเกิดในโลก ในยุคต่อไปของ กัปป์ปัจจุบัน…” โดยทั้ง 2 เล่มนี้ถูกเชื่อว่าเป็นวรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุดที่พบอยู่ในภาษาบาลีและสันสกฤต คัมภีร์ของฝ่ายมหายาน เช่น คัมภีร์สุขาวตีวยูห และอมิตายุรธยานสูตร ไม่มีการกล่าวถึงพระศรีอาริยเมตไตรยโดยชัดเจน บ่อยครั้งที่พบพระองค์เป็นผู้ประทับอยู่ทางซ้ายของพระอมิตาภะ คู่กับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร โดยเฉพาะในงานประติมากรรม แต่ไม่เสมอไป บางครั้งพบเป็นพระอวโลกิเตศวรคู่กับพระมหาสถามปราปต์ สันนิษฐานว่าอาจเป็นชื่อหนึ่งของพระโพธิสัตว์วัชรปาณิ ผู้เป็นตัวแทนของอำนาจมหาศาลในการปราบปราม เป็นองครักษ์หรือบริวารของพระพุทธเจ้าอมิตาภะในแดนสุขาวดี
พระศรีอาริยเมตไตรย: ความหวัง/ตัวช่วย /ทางเลือกอันสูงสุดของชาวพุทธที่จะเข้านิพพาน
ในพุทธศตวรรษที่ 10 -13 หลวงจีนฟาเหียน ยวนฉ่าง/เสวี้ยนจาง และอี้จิง ทั้ง 3 รูปได้บันทึกไว้ในรายละเอียดการเดินทางซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อและการปฏิบัติในอินเดีย รวมถึงบทบาทอันสำคัญของพระศรีอาริยเมตไตรย เช่นหลวงจีนอี้จิง ที่ว่า “สมาธิผ่องแผ้วของข้าพเจ้า…เป็นเช่นก้นบึ้งของสระน้ำที่ลึกเย็น ข้าพเจ้าใฝ่ฝันที่จะได้ร่วมในการพบปะที่ใต้ต้นดอกนาค (เกสร) และได้สดับกังวานเสียงอันลึกล้ำและราบรื่นของพระพุทธเจ้าศรีอาริยเมตไตรย เมื่อได้ผ่านชีวิตในสังสารวัฏมาแล้วทุกชนิด ขอให้ข้าพเจ้ากระทำจิตและรักษาจิตให้สมบูรณ์ ตลอดกัปป์อันยาวนาน ก่อนการบรรลุถุงพุทธิภูมิ”
จากลังกาสู่สุโขทัย
คติความเชื่อเรื่องพระศรีอาริยเมตไตรยในฝ่ายเถรวาท
ตามความเชื่อกระแสหลักในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทที่สืบมาจากลังกา กล่าวว่าขณะนี้พระศรีอาริย์เกิดเป็นเทพบุตร ประทับอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต รอเวลามาบังเกิดเมื่อสิ้นพุทธกาลของพระโคดม เมื่อล่วงเวลา 5000 ปี ดังความในบทไหว้ลายลักษณ์รอยพระพุทธบาท ที่ชาวบ้านผู้เฒ่าผู้แก่ชาวใต้สวดเป็นประจำทุกค่ำคืนว่า “…พระพุทธเจ้า เสด็จเข้านิฤพาน ยังแต่พระศรีอาริย์ ในชั้นดุสิตา พระพุทธรูปัง ยังครองศาสนา ให้สงฆ์ทั้งหลาย กราบไหว้วันทา ต่างองค์พระศาสดา สรรเพชญมุนี รักษาศาสนา ถ้วนห้าพันปี คำพระชินศรี โปรดให้แก่เรา…”
ความเชื่อคติพระศรีอารย์/โพธิญาณสมัยก่อนและสมัยสุโขทัย
ความปรารถนาพุทธภูมินี้มิได้เป็นคติความเชื่อของพระมหากษัตริย์เท่านั้น ชาวบ้านทั่วไปก็มีความเชื่อดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งสามารถสืบสาวย้อนหลังไปได้นับพันปี ในศิลาจารึกสมัยพุทธศตวรรษที่ 13-14 ที่จังหวัดนครราชสีมามีข้อความตอนหนึ่งว่า ขอให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย จงเป็นพุทธองค์ และลุถึงพุทธภูมิ
ความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์มีมาช้านานเก่ากว่าสมัยสุโขทัยหากแต่ในสมัยสุโขทัยปรากฏหลักฐานเรื่องพระศรีอาริย์ในจารึกต่าง ๆ อาทิ จารึกวัดศรีชุม หลักที่ 2 ปรากฏคำว่า “พระมหาสามีศรีรัตนลังกาทวีป… เทายอด… อาริยไมตรี… สมาธิคงตรงใตตน” และ “เมตไตโย… โคตโม คาถานี้ มีแห่งมหานิทานแล” ยังปรากฏในพระคาถานมัสการพระศรีอาริยเมตไตรย ในจารึกในสมัยสุโขทัยที่กล่าวถึงคำอธิษฐานที่แสดงความปรารถนาร่วมกันที่จะไปเกิดในสมัยพระศรีอาริย์ สะท้อนความคิดความเชื่อของชนชั้นปกครองในสมัยนั้นว่าต้องการไปเกิดในยุคสมัยของพระศรีอาริย์ ปรากฏในจารึก พระมหาธรรมราชาลิไท แห่งกรุงสุโขทัย (ผู้รจนาคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วง) ปรารถนาพุทธภูมิ/โพธิญาณ นอกจากนี้ยังมีพระมหากษัตริย์ต่อมาที่ปรารถนาเช่นกัน สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในสมัยกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเน้นโพธิญาณประเภท สัทธาธิกบารมี แต่ ร.4 พระองค์ทรงปรารถนาเพียงสาวกภูมิ และขอเพียงถึงพระนิพพานเป็นสูงสุด
ในพม่า คติอนาคตพระพุทธเจ้าและพระศรีอาริยเมตไตรย ปรากฏในพระนามของพระเจ้าแผ่นดินองค์สำคัญตามประวัติศาสตร์พม่า เช่น อลองคสิทถุ กษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งพุกาม และอลองพยา กษัตริย์องค์ที่ 1 แห่งราชวงศ์คองบอง คำว่า อลอง แปลว่า อนาคตพุทธเจ้า นอกจากนี้ชาวพม่าสมัยพุกามมีคติเป้าหมายทั้ง 3 อย่างคือ 1) คติการไปเกิดทันยุคพระศรีอารีย์อนาคตพุทธเจ้าและบรรลุพุทธภูมิ 2) คติการบรรลุธรรมนิพพาน 3) คติการสืบสานความคงอยู่ของพุทธศาสนา 5000 ปี เป็นเป้าหมายของชาวพุทธพุกาม พุกามนอกจากเจริญด้านศาสนสถานด้วยเจดีย์หลายพันองค์ เป็นเมืองแห่งทะเลเจดีย์ พร้อมกันนี้เน้นการศึกษาปฏิบัติธรรมเพื่อสืบสานพระศาสนาตามคติปริยัติอันตรธาน ด้วยชาวพุทธทุกภาคประชาสังคม ช่วยกันทำกัลปนาอุทิศถวายพระศาสนาจำนวนมากเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าวก่อให้เกิดอารยธรรมพุทธศาสนาในดินแดนพม่าจากอดีตตราบเท่าปัจจุบัน
ลัทธิอนาคตวงศ์กับความเชื่อคติปรารถนาเกิดทันพระศรีอารีย์และบรรลุโพธิญาณ/ถึงพุทธภูมิ
ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ คติความเชื่อจากอนาคตวงศ์เริ่มต้นรัตนโกสินทร์เข้มข้นมากสมัยรัชกาลที่ 1-3 ส่งผลให้ผู้คนในยุคนั้นยึดถือเอาการสละชีวิตเพื่อบูชาพระรัตนตรัยแลกเอาพระนิพพานถือเป็นบุญกิริยาอันใหญ่หลวง และเป็นเรื่องน่าเลื่อมใสศรัทธา กรณีของนายบุญเรืองเผาตนที่วัดอรุณ/วัดแจ้งสมัย ร. 1 โดยในสมัยรัชกาลที่ 1 ราว พ.ศ. 2333 นายบุญเรือง, นายทองรัก และขุนศรีกัณฐัศ สามสหายผู้มีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา พากันไปยังพระอุโบสถวัดครุทธาราม ตั้งสัตยาธิฐานเสี่ยงดอกบัวอ่อนคนละหนึ่งดอก บูชาพระพุทธเจ้าว่า “ถ้าผู้ใดจะสำเรจแก่พระโพธิญาณในอนาคตกาลแล้ว ขอให้ดอกบัวของผู้นั้นจงบานเหนประจักษโดยแท้” วันรุ่งขึ้นปรากฏว่าดอกบัวของนายบุญเรืองบานเพียงดอกเดียว เช่นนั้นนายบุญเรืองจึงมุ่งถวายชีวิตของตนเพื่อพระพุทธศาสนาจนเผาตน ต่อมาไม่นาน นายนกสมัย ร. 2 นี้หลังจากเหตุการณ์นายบุญเรืองเผาตัวตายที่วัดอรุณฯ อีก 27 ปี ต่อมา ใน พ.ศ. 2360 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 “นายนก” ผู้มีความมุ่งหมายที่จะบรรลุเป็นพระโพธิญาณอีกคนหนึ่งได้กระทำการเผาตัวตาย ณ สถานที่แห่งเดียวกันนี้ และภายหลังได้มีการสร้างรูปนายบุญเรืองและนายนกเป็นหินสลักไว้ที่วัดอรุณฯ พร้อมกับสร้างจารึกบันทึกเหตุการณ์ทั้งหมด
ปรากฏว่ายังมีเหตุการณ์ทำนองนี้อีก เช่น สตรีบางท่าน ผู้เดินทางไปสักการะพระพุทธบาทที่สระบุรี นำน้ำมันเทลงในอุ้งมือ ปั้นดินเป็นขาหยั่งร้อยด้ายตั้งกลางใจมือ จุดไฟแทนตะเกียงบูชาพระพุทธบาท ซึ่งก็เป็นลักษณะเดียวกันกับการกระทำของนายบุญเรืองที่ว่า “เอาสำลีชุบน้ำมันเปนเชื้อพาดแขนทั้งสองค่างจุดเพลิงบูชาต่างประทีบทุกวัน ๆ” ไม่เพียงแต่ชาวบ้านสามัญชน หากแต่หมู่ชนชั้นสูงก็มีเรื่องทำนองนี้เช่นกัน นั่นคือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท/วังหน้าสมัยรัชกาลที่ 1 ดังมีบันทึกว่าในช่วงบั้นปลายพระชนม์ทรงพระประชวรหนัก เสด็จฯ มาวัดมหาธาตุ รับสั่งจะนมัสการลาพระพุทธรูป แล้วทรงพยายามเอาพระแสงแทงพระองค์เองเพื่อถวายพระ แต่มีผู้เข้าห้ามและแย่งพระแสงไปได้ทันเสียก่อน
นอกจากนี้ จิตรกรรมว่าด้วยพระเจ้าสังขจักรตัดศีรษะถวายพระพุทธเจ้า ที่ศาลาการเปรียญ วัดในกลาง จังหวัดเพชรบุรี สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อของคนในสังคมเรื่อง “พระศรีอาริย์” และ “ลัทธิอนาคตวงศ์” ซึ่งแพร่หลายในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้เป็นอย่างดี พร้อมความเชื่อการตัดศีรษะถวายพระพุทธเจ้ากล่าวถึงใน “คัมภีร์พระอนาคตวงศ์” ขยายความเรื่องราวของพระศรีอาริย์ให้เป็นที่รับรู้กว้างขวางมากขึ้นอีกคัมภีร์หนึ่ง
ศรัณย์ ทองปาน อธิบายว่าพระอนาคตวงศ์ที่เรียกในคัมภีร์ว่า “ทสโพธิสัตตุนิทเส” / “ทศโพธิสัตตุปัตติกถา” สันนิษฐานว่ารจนาขึ้นในอาณาจักรล้านนา บางทรรศนะกล่าวว่าคัมภีร์พระอนาคตวงศ์เป็นที่แพร่หลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นอย่างน้อยเพราะในบางส่วนของหนังสือเตภูมิกถา/ไตรภูมิพระร่วงได้มีการอ้างถึงคัมภีร์พุทธศาสนาหลายเล่มรวมถึงคัมภีร์พระอนาคตวงศ์ด้วย ในด้านความหมายของการเขียนจิตรกรรมพระอนาคตพุทธเจ้านี้แสดงให้เห็นว่าเพื่อสร้างตัวอย่างของความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธเจ้า เป็นกุศโลบายให้พุทธศาสนิกชนที่ได้เห็นภาพรําลึกถึงการบําเพ็ญบุญบารมีของพระโพธิสัตว์ในชาติต่าง ๆ เพื่อที่จะบรรลุโพธิญาณในอนาคต ได้กลายเป็นแนวทางปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนบางส่วน ในการที่จะแสดงความจงรักภักดีและพัฒนากลายเป็นลัทธิไปในที่สุด ดังกรณีของนายบุญเรืองและนายนกซึ่งได้จุดไฟเผาตนเอง เพื่อหวังบรรลุโพธิญาณในอนาคต คติความเชื่อเรื่องนี้ (ศรัณย์ ทองปาน) เรียกว่า “ลัทธิอนาคตวงศ์”
คติความเชื่อจาก “ลัทธิอนาคตวงศ์” เข้มข้นมากสุดในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่พอถึงสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงตำหนิและประกาศเตือนถึงผู้คนที่ยังยึดคติความเชื่อนี้ว่าไม่ควรกระทำเป็นอันขาด ดังความว่า
“ได้ฟังคำเล่าลือ แลได้ฟังพระสงฆ์บางรูปที่ไม่ได้เล่าเรียนศึกษาพระไตรปิฎกธรรมให้รู้จริงมาเทศนาเลอะ ๆ ลาม ๆ ใกล้จะเสียจริต พรรณาสรรเสริญว่าเป็นบุญเป็นกุศลมาก แล้วหลงใหลเห็นตามไป เหมือนอย่างเผาตัวบูชาพระรัตนตรัยแลเชือดคอเอาศีรษะบูชาพระ เชือดเนื้อรองเลือดใส่ตะเกียงตามบูชา…
ตั้งแต่นี้สืบไปอย่าให้ใครเผาตัวบูชาพระ ตัดศีรษะบูชาพระ เชือดเนื้อรองโลหิตตามตะเกียงบูชาพระเลยเป็นอันขาด เพราะว่าเปนการขัดต่อราชการแผ่นดิน… ผู้ซึ่งได้รู้เห็นแลจะนิ่งดูดายเสียไม่ห้ามปราม หรือจะพลอยเห็นว่าได้บุญได้กุศลนั้นไม่ได้ ถ้าผู้ใดได้รู้เห็นแล้วดูดายเสีย ไม่ว่ากล่าวห้ามปรามแย่งชิงเครื่องศัสตราวุธ… จะให้ผู้นั้นเสียเบี้ยปรับตามรังวัด…”
ในสมัยรัชกาลที่ 4 นี้ ด้วยแนวคิดหรือกระแส “เหตุผลนิยม” ของพุทธศาสนาสมัยใหม่แบบธรรมยุติกนิกายแพร่หลายคติการบรรลุพระอรหันต์กลายมาเปฌนเป้าหมายสูงสุดแทนความเชื่อคติปรารถนาเกิดทันพระศรีอารีย์และบรรลุโพธิญาณซึ่งเป็นเป้าหมายของชาวพุทธทุกชนชั้นก่อนนี้
ลัทธิอนาคตวงศ์จึงลดความสำคัญลงไปแต่มิได้หายไปจนหมดสิ้นยังทิ้งร่องรอยและแพร่หลายอยู่บ้างในบางท้องถิ่น กระทั่งต่อมาในยุคหลัง คติความเชื่อดังกล่าวก็ถูกลืมเลือนและหมดความสำคัญลงไป แต่ไม่ปรากฎในกระแสหลักหากแต่ไปปรากฏอยู่กับกลุ่มคนชายขอบ ผู้คนที่ถูกอำนาจรัฐรังแก ถูกกระทำและไม่มีความยุติธรรมสำหรับกลุ่มคนที่มองว่าถูกรัฐเอาเปรียบทำให้แนวคิดนี้ยังนำไปสู่การระดมพลเรียกร้องความยุติธรรม จึงเกิดกบฏผีบุญหลายตนหลายกลุ่ม
คติการปรารถนาเกิดทันยุคพระศรีอารีย์ในสังคมเขมรโบราณ
ความเชื่อเรื่องพระศรีอาริยเมตรไตยปรากฏในจารึกเขมรมาตั้งแต่สมัยก่อนเมืองพระนคร คติการนับถือพระศรีอาริยเมตไตยยุคก่อนเมืองพระนครและสมัยเมืองพระนครเกี่ยวเนื่องด้วยศาสนาพุทธนิกายมหายาน หากแต่ภายหลัง การนับถือพระโพธิสัตว์องค์ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระนางปรัชญาปารมิตา ได้รับความนิยมขึ้นมาแทนที่ หลักฐานพระศรีอาริยเมตไตรยพบไม่มาก
ต่อมาเมื่อถึงยุคพระนคร จารึกสมัยหลังเมืองพระนครที่กล่าวถึงพระศรีอาริยเมตไตรยและโลกยุคของพระองค์เป็นจำนวนมากขึ้น เนื่องจากยุคต่อมาอิทธิพลศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเริ่มเข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น
นอกจากนี้ คัมภีร์ใบลานยังกล่าวถึงพระศรีอาริยเมตไตยและโลกในยุคอุดมคติมากมาย คัมภีร์สำคัญคือ อนาคตทศวงศ์ พระมาลัย และมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์ฉลองมหาชาติ คัมภีร์มหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์ ฉลองมหาชาตินี้ วรรณกรรมที่เกี่ยวกับแนวคิด คติพระมาลัย/มหาเวสสันดรชาดก พุทธทำนาย/พระบาทธรรมิก/พระอินทร์ทำนาย/ปุถุชน /ภารสุ/มกุฎแก้ว ถือเป็นคัมภีร์สำคัญที่ย้ำความเชื่อเรื่องพระศรีอาริยเมตไตรย ได้หยั่งลึกลงในระบบความเชื่อของผู้คนในแถบนี้ ยังผูกติดเข้ากับประเพณีเกี่ยวกับชีวิต
คติการปรารถนาเกิดทันยุคพระศรีอารีย์ในภาคอีสานของประเทศไทย จะมีการสวดพระมาลัยในงานศพ ส่วนในราชอาณาจักรกัมพูชาจะมีการสวดพระมาลัยก่อนที่ทางวัดจะจัดให้มีการเทศน์มหาชาติหนึ่งวัน ซึ่งเนื้อหาสำคัญของคัมภีร์พระมาลัย คือ กล่าวถึงโลกยุคพระศรีอาริย์ และมูลเหตุทำให้ไปบังเกิดในยุคนั้น นั่นคือ
คติการฟังเทศน์มหาเวสสันดรชาดกให้จบในวันเดียว
คติความเชื่อเรื่องพระศรีอาริยเมตไตรยที่ปรากฏในคัมภีร์ทางศาสนาเป็นที่มาของวรรณกรรมที่เรียกว่า “ทำนาย”
คัมภีร์นี้แพร่หลายอยู่ในอีสานใต้และราชอาณาจักรกัมพูชา ในอีสานใต้พบคัมภีร์พุทธทำนาย คัมภีร์นางเทวดา เป็นต้น ส่วนในราชอาณาจักรกัมพูชาพบคัมภีร์พุทธทำนาย อินททำนาย คัมภีร์มกุฎแก้ว คัมภีร์ปุถุชน เป็นต้น คัมภีร์เหล่านี้ได้ผ่านกระบวนการทำให้ศักดิ์สิทธิ์โดยอ้างว่าเป็นคำพยากรณ์ของพระพุทธเจ้าหรือพระอินทร์ เนื้อหาของคัมภีร์กล่าวถึงความวิปริตแปรปรวนของธรรมชาติและสังคม และการมาถึงของพระบาทธรรมิก ผู้ที่เชื่อว่าจะมาปราบยุคเข็ญและสรรค์สร้างสังคมใหม่ที่เต็มไปด้วยความสุขสมบูรณ์
คติพระศรีอารีย์กับผู้มีบุญ กบฏ/ผู้เรียกร้องความไม่เป็นธรรม/การเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคม
คัมภีร์และคติดังกล่าวส่งอิทธิพลเกิดความเคลื่อนไหวทางสังคมเพราะมีความไม่เท่าเทียมอยุติธรรมจากอำนาจบ้านเมืองหรือราชสำนักพอสมควร สังคมเกิดความอยุติธรรม การเมืองอำนาจนิยม ประชาชนถูกกดขี่ข่มเหง ประชาชนจะรอคอยการมาถึงของพระบาทธรรมมิก ในหลายพื้นที่
ปรากฏผู้ที่ประกาศตนว่าเป็น “ผู้มีบุญ” ขึ้น ในส่วนของดินแดนอีสานใต้ของไทยนั้น กบฏผู้มีบุญมักจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาว มีความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์และคัมภีร์ประเภทคำทำนายแพร่หลายอยู่ในลักษณะเดียวกัน กบฏเหล่านี้ลุกขึ้นต่อต้านอำนาจของสยามสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มชาติพันธ์เขมรไม่ได้ลุกขึ้นมาก่อการนี้แต่อย่างใด ขณะที่ในราชอาณาจักรกัมพูชา กบฏผู้บุญได้เกิดขึ้นช่วงที่ประเทศชาติถูกชาวต่างชาติกดขี่ข่มเหง เช่น อาจารย์สวาและโปกำโบที่ลุกขึ้นต่อต้านฝรั่งเศสในรัชกาลพระบาทนโรดม เป็นต้น แม้ว่าในปัจจุบันกบฏผีบุญจะถูกปราบปรามจนสงบหมดสิ้นแล้ว หากแต่ความคติความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์ยังถูกหยิบมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเสมอมา เช่น ในสมัยกัมพูชาประชาธิปไตยที่เขมรแดงประกาศว่ายุคพระศรีอาริย์มาถึงแล้วหรือการกล่าวว่าผู้นำทางการเมืองหรือผู้นำทางศาสนาคนสำคัญของกัมพูชาคือพระบาทธรรมิก
พระศรีอารย์ยุค 2500
พระศรีอาริย์ จึงมาบังเกิดภายหลังพุทธกาลของพระพุทธเจ้าศากยมุนีเนิ่นนาน นับด้วยอสงไขย เป็นเวลานับประมาณไม่ได้ อย่างไรก็ดี ผู้ปรารถนาจะได้พบ เกิดทันศาสนาของพระศรีอาริย์ มีอยู่เป็นอันมาก ตามพื้นบ้าน พื้นเมือง จึงเกิดการแต่งนิทาน ว่าด้วยพระศรีอาริย์ยุคกึ่งพุทธกาล แสดงเรื่องพระศรีอาริย์จุติลงมาในโลกมนุษย์ เพื่อเยี่ยมโลก ในยุคศาสนาใกล้จะถึง 2500 ปี ปรากฏเป็นคติความเชื่อเฉพาะถิ่นในที่บางแห่ง อาทิ ตำนานพระศรีอาริย์วัดไลย์ จังหวัดลพบุรี เป็นต้น
คติความเชื่อเรื่องพระศรีอริยเมตไตรยที่เผยแผ่เข้ามายังดินแดนไทยพร้อมกับพระพุทธศาสนาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม มีอิทธิพลเป็นอย่างสูงต่อความเชื่อถือศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวไทย ประติมากรรมรูปพระศรีอริยเมตไตรยในชั้นแรกนำติดตัวเข้ามาโดยพ่อค้าจากดินแดนโพ้นทะเล โดยเฉพาะชาวอินเดียเป็นต้นแบบให้ช่างพื้นเมืองคิดสร้างสรรค์ แก้ไข ปรับเปลี่ยน และพัฒนารูปแบบของพระศรีอริยเมตไตรยให้สอดคล้องกับเรื่องราวที่ปรากฏในวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา ความนิยม และคติความเชื่อดั้งเดิมของท้องถิ่น จนมีลักษณะทางพุทธศิลป์ที่งดงามเป็นเอกลักษณ์ ประติมากรรมรูปเคารพของพระศรีอริยเมตไตรยที่เก่าที่สุดมีอายุราวพุทธศตวรรษท่ 12-13 ในศิลปะทวารวดี
คัมภีร์/วรรณกรรมคติความเชื่อเรื่องพระศรีอริยเมตไตรย
ในประเทศไทย คติความเชื่อเรื่องพระศรีอริยเมตไตรยถูกปลูกฝังและแพร่หลายผ่านคัมภีร์และวรรณกรรทางพระพุทธศาสนาหลายเล่มและหลายระดับชั้น เช่น พระไตรปิฎก อนาคตวงศ์ มาลัยสูตร ไตรภูมิกถา ปฐมสมโพธิกถา ทสโพธิสัตตอุทเทส พระมาลัยคำหลวง พระมาลัยกลอนสวด เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีตำนานเรื่องเล่ามุขปาฐะ (legendary narratives)ในท้องถิ่นต่างๆ กล่าวถึงประวัติของพระศรีอริยเมตไตรย อนาคตพุทธเจ้า การเสวยพระชาติ และการเสด็จจุติมายังโลกมนุษย์เพื่อตรัสรู้เป็นพระอนาคตพุทธเจ้าต่อจากพระโคตมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน วรรณกรรมเรื่องเล่าเหล่านี้ สร้างภาพให้เห็นถึงชีวิตของผู้คนและสภาพสังคมในยุคพระศรีอริยเมตไตรยที่เป็นสังคมแห่งอุดมคติ มนุษย์ทั้งปวงมีรูปร่างสวยงามเสมอเหมือนกันหมด มีอายุยืนถึง 80,000 ปี ไม่ต้องทำไร่ทำนา ค้าขาย ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน มีแต่ความสุขสำราญอยู่เป็นนิจ และสิทธิเสรีภาพเสมอกันโดยธรรม มีความต้องการอะไรก็สามารถไปอธิษฐานขอสิ่งเหล่านั้นได้จากต้นกัลฟพฤกษ์ที่มีอยู่ทั้ง 4 มุมเมือง อีกทั้งยังเผยแพร่โลกทัศน์ทางพุทธศาสนาที่แวดล้อมไปด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์มิติทางจิตวิญญาณที่อยู่เหนือการรับรู้ของอายตนะ บรรยายถึงภูมิจักรวาล ภาพของนรก สวรรค์ รวมทั้งนิพพาน และวิถีทางที่จะทำให้ได้ไปเกิดทันยุคพระศรีอริยเมตไตรยอันเป็นกุศลโลบายทางศาสนาที่น้อมนำให้บุคคลกระทำความดี เกรงกลัวต่อบาป ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต ความปรารถนาที่จะไปเกิดทันยุคพระศรีอริยเมตไตรยได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระองค์เพื่อบรรลุนิพพานในที่สุดหรือได้เป็นหน่อพุทธางกูร พระอนาคตพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งต่อจากพระศรีอริยเมตไตรยที่แพร่หลายในสังคมไทยในอดีต
คตินี้นับเป็นบ่อเกิดสำคัญของประเพณีไทยหลากหลายประการ การทำบุญสร้างกุศลของพุทธศาสนิกชนชาวพุทธอาเซียนแผ่นดินใหญ่ รวมทั้งในเขตพื้นที่ฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยตอนบน เช่น การทำบุญ รักษาศีล การฟังเทศน์มหาชาติ การสวดพระมาลัย การจุดประทีป ตีนกาบูชาพญากาเผือก การชักพระแห่เรือพระศรีอารย์ เป็นต้น
นอกจากนี้ คตินี้ยังนำไปสู่บวนการทางสังคม แนวคิดโลก/สังคมอุดมคติ แนวคิด แผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง แนวคิดธรรมิกสังคม แนวคิดพระบาทธรรมิกราช/พระธรรมราชา-ผู้นำที่จะมาเปลี่ยนแปลงสังคม/แนวคิดการปรากฎกายของพระบามธรรมิก/ผู้มีบุญ/พระศรีอาริยเมตไตรย
รูปประติมากรรมพระศรีอริยเมตไตรย บางส่วนได้แก่
พระศรีอาริยเมตไตรยบรมโพธิสัตว์ วัดระฆังโฆสิตาราม ประดิษฐานอยู่ในวิหารสมเด็จพระสังฆราช (สี) ศิลปะรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 1
พระศรีอาริยเมตไตรยทรงแสดงธรรม วัดบุปผาราม อำเภอเมือง จังหวัดตราด ศิลปะรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 1-2
พระศรีอาริยเมตไตรยทรงแสดงธรรม พบในกรุพระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิทาน ศิลปะรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 3
พระศรีอาริยเมตไตรยทรงแสดงธรรม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยรัชกาลที่ 1-3 พระศรีอารย์วัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี ศิลปะรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 4
พระศรีอาริยเมตไตรยทรงแสดงธรรม วัดบางแตน อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ศิลปะรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 4-5 พระศรีอาริยเมตไตรยทรงแสดงธรรม วัดระฆังโฆษิตาราม กรุงเทพมหานคร ศิลปะรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้น

Aphichet Somkamsri

Translate »