โครงการปริวรรตคัมภีร์โบราณลุ่มน้ำโขง ปีที่ 2

โครงการปริวรรตคัมภีร์โบราณลุ่มน้ำโขง ปีที่ 2
การปริวรรตและรวบรวมคัมภีร์โบราณในภูมิภาคอาเซียน เป็นอีกภารกิจหนึ่งที่ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยดำเนินการมาและตั้งเป้าหมายให้เป็นโครงการต่อเนื่องซึ่งมีวัตถุประสงค์คือจัดทำฐานข้อมูลเอกสารทางพุทธศาสนาที่กำลังเผชิญภาวะวิกฤตสูญหาย ให้คงอยู่เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประชาคมอาเซียน
ก่อนหน้านี้ ทีมปริวรรตคัมภีร์ได้ปริวรรตกัมมัฏฐาน 40 ห้องซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นตามวัตถุประสงค์ ซึ่งจะสามารถจัดส่งหนังสือแก่ผู้ลงทะเบียนสั่งจองได้หลังวันที่ 17 เมษายน เป็นต้นไป
ในการนี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง คณะกรรมการจึงดำเนินการปริวรรตคัมภีร์กัมมัฏฐานหลวง ฉบับอักษรไทลื้อ ของเมืองหลวงน้ำทา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ทั้งนี้ คณะกรรมการได้ร่วมหารือกับองค์กรและสถาบันการศึกษาที่มีพันธกิจร่วมกันเพื่อขยายเครือข่ายและสร้างความเเข็งแกร่งทางวิชาการและผลักดันให้ศูนย์อาเซียนศึกษาเป็น Hub ของเอกสารโบราณทางพุทธศาสนาของภูมิภาคโดยจัดทำฐานข้อมูลเอกสารโบราณ Digital Manuscript
สำหรับการจัดทำ Digital Archive ยังอยู่ระหว่างการหารือเพื่อวางแนวทางดำเนินการให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์และแผนดำเนินงาน
ด้านพระมนตรี ปภสฺสโร ผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดเทพนิมิตร ,ผู้ก่อตั้งโครงการศึกษากัมมัฎฐานอีสาน-ล้านนา,ผู้ก่อตั้งโครงการปริวรรตคัมภีร์โบราณลุ่มน้ำโขงและในฐานะผู้ปริวรรตคัมภีร์กัมมัฏฐานหลวง กล่าวว่า คัมภีร์เล่มนี้เขี้ยนขึ้นในปีจุลศักราช 1189 หรือพุทธศักราช 2370 ซึ่งในยุคนั้นเวียงจันทน์ค่อนข้างอ่อนแอเพราะเป็นช่วงที่นักวิชาการไทยเรียกกันว่า กบฏเจ้าอนุวงศ์ ซึ่งนักวิชาการได้สันนิษฐานว่าเป็นเพราะหลวงพระบางและล้านนาเข้าพวกกับสยามเมื่อกลับไปดูการครองราชย์ของกษัตริย์ล้านนาก็จะตรงกับรัชสมัยของพระยาพุทธวงศ์ซึ่งเพิ่งครองราชย์ได้ 1 ปี ซึ่งในหลวงน้ำทาขณะนั้นไม่น่าจะเดือดร้อนเรื่องกบฏเจ้าอนุวงศ์ เช่นเดียวกับหลวงพระบางจึงได้มีการแต่งคัมภีร์เล่มนี้ขึ้น แต่รูปแบบนั้นก็มีลักษณะแนวปฏิบัติที่คล้ายคลึงกับทางล้านนา แต่ก็มีหลายส่วนที่แตกต่างกัน
ในปีพุทธศักราช 1181 ในล้านนานั้นมีนิกายหลายนิกายเกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ มาก เช่น นิกายลื้อ นิกายเชียงใหม่ นิกายป่าแดง นิกายยอง และอีกหลายนิกาย ทำให้มีการสังคยานาคัมภีร์ต่าง ๆใหม่ รวมทั้งคัมภีร์กัมมัฏฐานนับประคำด้วย ทำให้คัมภีร์กัมมัฏฐานล้านนาจึงมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาก แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ในกัมมัฏฐานหลวงเล่มนี้กลับมีกัมมัฏฐานส่วนที่เป็นวิปัสสนามากมาย เพิ่มเติมจากที่มีในกัมมัฏฐานนับประคำโดยทั่วไป เราจะได้เห็นการแต่งคำรำพึงภาวนาเป็นภาษาบาลีของผู้เขียน ซึ่งมีวิธีแปลที่พิเศษด้วย นอกจากความพยายามของผู้เขียนที่อยากให้คนอ่านเข้าใจความเป็นอนิจจังในคัมภีร์เล่มนี้
พระมหาจีรวัฒน์ กนฺตวณฺโณ,รศ.ดร. ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา แสดงความขอบคุณคณะกรรมการและทีมงานปริวรรตที่เสียสละทุ่มเทอย่างหนักในการทำงานมาโดยตลอด แม้ว่าการทำงานจะพบปัญหาและอุปสรรค ศูนย์อาเซียนศึกษาซาบซึ้งและขอชื่นชมทุกท่าน มา ณ ที่นี้
สำหรับคัมภีร์กัมมัฏฐานหลวงฉบับนี้ ทีมงานปริวรรตจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการปริวรรตคัมภีร์โบราณลุ่มน้ำโขงเพื่อพิจารณาและดำเนินการจัดพิมพ์ตามขั้นตอนต่อไป โดยกำหนดการตีพิมพ์นั้นอยู่ระหว่างเดือนกรกฎาคมปีนี้
Connect with us, Connect the world.
#ASCNEXT 2023 moving to centre of the PEOPLE
___
Facebook : Mcu Asean
Twitter : ascmcu
IG: ascmcu

Aphichet Somkamsri

Translate »