“โบสถ์กลางน้ำหน้าวัดราชาธิวาส (วัดสมอราย)” ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในหอพระไตรปิฎก วัดบวรนิเวศวิหาร ภาพประวัติศาสตร์ “ประวัติคณะธรรมยุต” เขียนสมัยรัชกาลที่ ๓
ที่มา รามัญคดี – MON Studies
ผู้เขียน อาโด๊ด
เผยแพร่ วันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2561
“เหตุใดมอญต้องสร้างโบสถ์ในน้ำ?” หลายคนตั้งคำถามเมื่อเห็นภาพโบสถ์มอญโบราณตั้งอยู่กลางน้ำ และยิ่งสงสัยมากขึ้นเมื่อทราบว่า ตอนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สถาปนาธรรมยุติกนิกายนั้น นอกจากพระองค์จะได้แบบอย่างวัตรปฏิบัติมาจากพระมอญแล้ว เมื่อทรงบวชแปลงจากมหานิกายเป็นธรรมยุต ก็ทรงสร้างโบสถ์กลางน้ำหน้าวัดราชาธิวาส (วัดสมอราย) เพื่อให้การบวชแปลงของพระองค์เข้มขลังด้วยเช่นกัน
อุทกสีมา สีมาน้ำ วัดเกรณา หมู่บ้านเกรณา แขวงเมืองจย้าจก์แหมะโร่ะฮ์ เมืองมะละแหม่ง รัฐมอญ (ประเทศพม่า)
อุทกสีมา สีมาน้ำ หรืออุโบสถกลางน้ำในภาพเป็นของวัดเกรณา หมู่บ้านเกรณา แขวงเมืองจย้าจก์แหมะโร่ะฮ์ เมืองมะละแหม่ง รัฐมอญ (ประเทศพม่า) สร้างตามคติการสร้างอุทกสีมาอย่างเมื่อสมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์ กษัตริย์มอญแห่งอาณาจักรหงสาวดี (ครองราชย์ พ.ศ. 2013-2035)
พระเจ้าธรรมเจดีย์ ได้ส่งทูตไปลังกาเพื่อทำการชำระสมณวงศ์ทั้งด้านพิธีกรรมและวินัยสงฆ์ เมื่อกลับมาแล้วก็ได้ทำการบวชแปลงพระสงฆ์ในเมืองมอญทั้งหมดเสียใหม่ จำลองแบบสีมาน้ำจากลังกา (เพื่อความบริสุทธิ์สะอาด) มาสร้างขึ้นในกรุงหงสาวดี โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่สีมากัลยาณีใกล้เมืองหงสาวดี ใช้เป็นสถานที่สำหรับอุปสมบท รวมทั้งนิมนต์พระสงฆ์จากประเทศใกล้เคียงให้เข้ามาทำการบวชอีกครั้งหนึ่งทีสีมากัลยาณีแห่งนี้ ทำให้พิธีการบวชในประเทศใกล้เคียงที่นับถือพุทธศาสนาเป็นลักษณะเดียวกัน เรื่องราวเกี่ยวกับการชำระสมณวงศ์ดังกล่าวนี้ พระเจ้าธรรมเจดีย์โปรดฯให้จารึกลงบนศิลา 10 หลัก เรียกว่า “จารึกกัลยาณี” ซึ่งเมืองไทยก็ได้ใช้จารึกนี้เองในการสืบสวนจดบันทึกว่าด้วยประวัติพุทธศาสนาในส่วนของไทย
วัดมอญในอดีต ทั้งในเมืองมอญและเมืองไทย ต่างสร้างสีมาหรืออุโบสถขึ้นในน้ำด้วยกันทั้งสิ้น
วัดศรัทธาธรรม (วัดมอญ) บางจะเกร็ง สมุทรสงคราม เคยสร้างเป็นแพลอยน้ำ ยามปกติก็จะผูกแพติดไว้กับชายฝั่ง เมื่อพระสงฆ์จะประกอบพิธีกรรมก็จะถอยแพออกไปกลางแม่น้ำ เมื่อเสร็จสิ้นพิธีก็ดึงแพกลับเข้ามาผูกไว้ตามเดิม
เช่นเดียวกับวัดปรมัยยิกาวาส อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ที่นักท่องเที่ยวรู้จักกันดี เพิ่งเลิกใช้สีมาน้ำไปไม่นาน (ภายหลังรัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้มีการสร้างอุโบสถถาวรขึ้นแล้วก็ยังคงใช้สีมาน้ำแบบเดิมอยู่ต่อมาอีกยาวนาน)
การสร้างอุทกสีมา นับเป็นคติแบบมอญมาแต่เดิม ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาหลายร้อยปี วัดมอญในเมืองไทยที่อยู่ริมน้ำส่วนใหญ่มักสร้างสีมาในลักษณะเดียวกันนี้ ปัจจุบันไม่พบสีมาน้ำในเมืองไทยแล้ว แม้แต่ในเมืองมอญ มีเพียงบางแห่งที่จำลองลักษณะของสีมาน้ำ แต่เป็นการก่อสร้างด้วยอิฐถือปูนอย่างถาวร มีเพียงการขุดบ่อน้ำล้อมรอบเท่านั้น
[ขอบคุณข้อมูลและภาพจากเพจ: รามัญคดี – MON Studies]
ที่มา https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_17556
Leave A Comment