อธิการบดี มจร ชี้เเจงแนวทางการบริหาร มจร ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน

หากมหาจุฬามุ่งเน้นพัฒนาทั้งบุคลากรให้รู้เท่าทันและใช้เทคโนโลยีการบริหาร จัดการเรียนการสอน แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของมหาวิทยาลัยก็ยิ่งชัดเจนขึ้น
 พระราชปริยัติกวี ศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พระราชปริยัติกวี ศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้บันทึกเทปพิเศษรายการ “อธิการบดีพบประชาคมชาวมหาจุฬา” ณ สำนักงานอธิการบดี มจร ซึ่งเป็นการมอบแนวทางการบริหารงานในสถานการณ์ปัจจุบันแก่ประชาคมมหาจุฬาผ่านช่องทางการสื่อสารออนไลน์ มุ่งให้ผู้บริหาร คณาจารณ์ เจ้าหน้าที่ของมหาจุฬา ใช้ระบบออนไลน์เต็มรูปแบบในการทำงานประจำและการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย

  ในส่วนการป้องกันและลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดไวรัส Covid-19 มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการฉุกเฉิน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริหาร คณาจารย์ ที่ปฏิบัติงาน และนิสิตที่พำนักภายในมหาวิทยาลัย มีการจัดตั้งหน่วยคัดกรอง จุดผ่านเข้าออกมหาวิทยาลัย การฉีดยาฆ่าเชื้อในพื้นที่จุดเสี่ยง เช่น อาคารหอพัก อาคารปฏิบัติงาน สำนักงานอธิการบดี เป็นต้น
ด้านโภชนาการอธิการบดีได้มอบหมายให้ สำนักงานส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริหารสังคม ส่วนงานธรรมนิเทศดำเนินการอย่างเคร่งครัดและชัดเจนในการฉันภัตตาหารของคณาจารย์ นิสิต ที่อาคารหอฉันให้ถูกสุขลักษณะ ปลอดภัยตามกฎระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยได้ตั้ง ศูนย์ควบคุมข้อมูลข่าวสารเป็นการเฉพาะเพื่อติดตามข่าวสารและดูแลประสานงานความเรียบร้อยทุกอย่างในสถานการณ์ปัจจุบัน และมีการขยายผลไปถึงวิทยาลัยเขต วิทยาลัยสงฆ์ไปทั่วประเทศผ่านกองสื่อสารองค์กร
ทั้งนี้ อธิการบดีได้ย้ำถึงการเลื่อนพิธีประสาทปริญญาประจำปี ๒๕๖๓  เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตของบัณฑิต แต่อย่างไรก็ตามบัณฑิตทุกระดับมีศักดิ์และสิทธิ์ในปริญญาทุกประการ ส่วนการรับข้อมูลข่าวสาร ขอให้ติดตามรายละเอียดและประสานงานโดยตรงที่สำนักทะเบียนและวัดผลโดยตรงทันที
ส่วนข้อมูลเรื่อง Covid-19 อธิการอยากให้ประชาคมมหาจุฬา รับข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานของภาครัฐ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวง อว. และภาครัฐบาลเพื่อจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำและเป็นทางการที่สุด
นอกจากนั้นอธิการกล่าวเน้นย้ำ การดูแลความเป็นอยู่ของบุคลากรมหาวิทยาลัย เช่น การแจกเจลล้างมือ หน้ากากอนามัย อาหาร มหาวิทยาลัยให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ส่วนวิทยาลัยเขตวิทยาลัยสงฆ์ขอให้ผู้อำนวยการ ผู้บริหารดูแลสภาพจิตใจของบุคลากรในองค์กรอย่างทั่วถึงด้วยการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ด้านจิตใจถือว่ามีความสำคัญ แต่สิ่งสำคัญที่สุดทุกคนต้องดูแลตนเองให้ดีที่สุด สร้างภูมิคุ้มกันด้านสุขภาพใจ จึงฝากชาวมหาจุฬาให้มีสติปัญญาเป็นฐาน มีความคิดที่เป็นสัมมาทิฐิ ผ่านพ้นอุปสรรคนี้ไปด้วยกัน
พระราชปริยัติกวี.ศ.ดร. กล่าวเสริมถึงการบริหารมหาวิทยาลัยในยุคการแพร่ระบาดของไวรัส และความท้าทายในยุคดิจิทัลว่า เป็นการพิสูจน์ถึงการปรับตัว ในยุคดิสรัปชั่น และมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องเปลี่ยนและก้าวทันสถานการณ์นี้ให้ได้ หากไม่ยอมเปลี่ยนแปลงองค์กรจะไม่พัฒนา แต่จากกรณีที่เห็น คณาจารย์ ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ นิสิต ของมหาวิทยาลัย ได้ตื่นตัวในการใช้โปรแกรม Google Classroom Microsoft Team Zoom Scopia และโปรแกรมเรียนออนไลน์อื่นๆ เพียงชั่วข้ามคืน อย่างนี้เรียกว่า “ในวิกฤติมีโอกาส” เสมอ

หากมหาจุฬามุ่งเน้นพัฒนาทั้งบุคลากรให้รู้เท่าทันและใช้เทคโนโลยีการบริหาร จัดการเรียนการสอน แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของมหาวิทยาลัยก็ยิ่งชัดเจนขึ้น พระราชปริยัติกวี,ศ.ดร. อธิการบดีกล่าวสรุป
ภาพ : กองสื่อสารองค์กร มจร
ข่าว: ศูนย์อาเซียนศึกษา
รายงาน: พระปลัดอภิเชษฐ์ สุภทฺรวาที

Aphichet Somkamsri

Translate »