ศูนย์อาเซียนชูวิจัยโคกหนองนา Research Based Farming
๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ดร.ลำพอง กลมกูล รักษาการผู้อำนวยการส่วนวิจัย สารสนเทศและบริการวิชาการ เปิดเผยว่า ขณะนี้ภายใต้ส่วนวิจัยสารสนเทศและบริการวิชาการ ศูนย์อาเซียนศึกษา ได้ทำการศึกษาวิจัยโดยใช้พื้นที่แปลงเกษตรสาธิตในจังหวัดบุรีรัมย์เป็นแปลงทดลองศึกษาแนวทางในการสร้างความมั่นคงของห่วงโซ่อาหารตามวิถีเกษตรพอเพียงกับการปรับตัวในการดํารงชีวิตภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19
ดร.ลำพอง กล่าวเพิ่มเติมว่า การตัดสินใจพัฒนาที่ดินเดิมที่เป็นแหล่งปลูกข้าวในแบบวิถีเกษตรแบบเดิม มาเป็นการผสมผสานภายใต้กรอบ “แหล่งผลิตอาหาร” เพื่อรองรับความเสี่ยงภายใต้สถานการณ์โควิด-19 เป็นแนวทางทดลองให้เกิดผลผลิตเพื่อการยังชีพ เป็นการเพิ่มห่วงโซ่ในการผลิตอาหาร เน้นการพึ่งพาตนเองในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และส่งต่อไปเป็นเงื่อนไขทางเศรษฐศาสตร์ ว่าด้วยการผลิตอาหาร การกระจายอาหารสัมพันธ์กับการออม การประหยัดตามแนวเศรษฐศาสตร์ ความสัมพันธ์กับสังคม และสมาชิกในสังคมอื่น ๆ ว่าด้วยการจัดสรรปันส่วน การแบ่งปัน การเกื้อกูลกันในแบบพี่น้อง ครอบครัว และเครือญาติก่อน ซึ่งจะทําให้แปลงนาเกษตรพอเพียงได้กลายเป็นต้นแบบในการสร้างแหล่งผลิตอาหารเพื่อการยังชีพ ทําให้เกิดประชาสังคมแบบคนร่วมกินและร่วมกันสร้างองค์ความรู้แบบต่อเนื่องต่อไปถึงการบริหารการจัดการน้ํา การจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดด้วย
ทั้งนี้ ดร.ลำพอง กลมกูล กล่าวเสริมว่าหากผู้ใดที่กำลังสนใจที่จะศึกษาเเนวทางหรือข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำโคกหนองนาสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์อาเซียนศึกษา มจร หรือหากต้องการลงพื้นที่เพื่อชมแปลงสาธิตโคกหนองนาสามารถเดินทางมาได้ ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้มาตรการการควบคุมป้องกันและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 อย่างเข้มงวด
อ้างอิง :
(๑) ลำพอง กลมกูล (2564) โคกหนองนากับความมั่นคงของห่วงโซ่อาหารตามวิถีเกษตรพอเพียง กับการปรับตัวในการดํารงชีวิตภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19
ข่าว : ศูนย์อาเซียนศึกษา มจร
#ASCMCUTEAM