ฮดสรง จารีตที่ถูกห้ามเมื่อคณะสงฆ์ส่วนกลางพยายามเปลี่ยนอีสานให้เป็นไทย
ฮดสรง จารีตที่ถูกห้ามเมื่อคณะสงฆ์ส่วนกลางพยายามเปลี่ยนอีสานให้เป็นไทย
ฮดสรง มองอย่างทั่ว ๆ ไป พิธีกรรมหลักก็คือ “น้ำ” เป็นหัวใจสำคัญของการประกอบพิธีกรรม น้ำกับคนอาคเนย์สัมพันธ์กันอย่างมิอาจแยกขาด ตำนานอาหารการกินของคนลุ่มน้ำโขงก็คือน้ำ เช่น ตำนานยักษ์สะลึคึที่มีอวัยวะเพศอันมหึมาเป็นเอกลักษณ์ก่อการเป็นผู้คนของลุ่มน้ำสายนี้ ในด้านการเมืองน้ำยังเข้าไปเป็นส่วนทำให้สถานะของมนุษย์เปลี่ยนไปสู่ภาวะตัวแทนเทพ เช่น พิธีราชาภิเษก รวมทั้งประเพณีอื่น ๆ ที่เนื่องด้วยน้ำ ลอยกระทง สงกรานต์ เป็นต้น
พิธีกรรมฮดสรงนั้น แม้ไม่สามารถระบุว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ตอนไหน แต่เรามีต้นเค้าและหลักฐานที่อธิบายได้ถึงพลวัตประเพณีอดสรงว่าอยู่กับวัฒนธรรมลาว อีสาน มานานนับร้อยปี และยังเป็นจารีตร่วมเดียวกันกับที่ปรากฏในล้านาและเชียงตุงด้วย
อิทธิพลที่ส่งผลต่อประเพณีฮดสรงหากมองตามรูปแบบพิธีกรรมจะพบถึงผสมทั้งพุทธ พราหมณ์และผี หลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงตันตริกและร่องรอยวัชรยานในอุษาคเนย์ในพิธีกรรมนี้คือ “หมวกกาบ” อันเป็นสิ่งหลงเหลืออยู่ของแนวปฏิบัติดังกล่าวคือความเชื่อเรื่อง “อาทิพระพุทธเจ้า” แต่ตรงนี้รายละเอียดของพิธีกรรมจะแปลกแยกไปตามท้องถิ่น ซึ่งหากมองผ่านประวัติศาสตร์สิ่งนี้ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมปาละ และก็ยังปรากฏร่องรอยนี้ในเชียงใหม่ด้วยที่พบพระพุทธรูปใส่มงกุฏลักษณะหมวกกาบ
เมื่อการฮดสรงประกอบขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของรัฐจารีตในอดีต เช่น ล้านนา ล้านช้าง หมายความว่า การประกอบพิธีกรรมเกิดขึ้นจากรัฐเป็นส่วนหนึ่งและประชาชนร่วมด้วย ดังจะพบว่าลำดับขึ้นของพระสงฆ์ที่มีชื่อเรียกและหน้าที่ต่างกันไปตามคุณสมบัติด้วย บางตำแหน่งระบุหน้าที่ไว้เป็นเฉพาะว่าเป็นที่ปรึกษาของกษัตริย์
ในอีกด้านหนึ่งอาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ให้ความเห็นว่าในตัวพิธีกรรมสำคัญมากเพราะชาวเป็นคนทำเองไม่ใช่รัฐ กล่าวคือชาวบ้านเป็นคนยกย่องพระสงฆ์รูปนั้น ๆ ที่พวกเขาเคารพขึ้นสู่พิธีเถราภิเษก
เหตุใดฮดสรงจึงถูกห้ามในอีสาน ?
แน่นอนว่าเพราะเป็นสิ่งรัฐไม่ต้องการ ถ้าเราย้อนเวลากลับไปช่วงการเปลี่ยนดินแดนอีสาน ล้านนาให้เป็นไทย จะพบว่าอิทธิพลของสยามพยายามลดและตัดสิ่งที่ไม่ใช่ไทยออกไป
แน่นอนเช่นกันว่า ฮดสรงก็เป็นหนึ่งสิ่งที่ไม่ใช่ไทยจึงถูกทำให้หมดไปในช่วงเวลานั้น เพราะรัฐไทยต้องการการรวมศูนย์การปกครอง ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เรื่อยมาจนถึงยุคเปลี่ยนการปกครอง นั่นหมายความว่า อำนาจของการเลือกพระเถระของประชาชนถูกเอากลับไปสู่อำนาจรัฐ โดยมีรูปแบบปกครองใหม่ ธรรมเนียมใหม่ จารีตใหม่ที่ได้รับรองจากรัฐแล้ว คือรัฐเป็นควบคุมหรือบอกว่าสิ่งนี้ดี สิ่งนี้ไม่ดี อันนี้ควรถอดหรือยกเลิก ประชาชนมีหน้าที่ปฏิบัติตาม
หลักฐานสำคัญที่ชี้เห็นว่ารัฐส่วนกลางพยายามลดทอนจารีตนี้ลงคือมติการประชุมร่วมระหว่างฝ่ายบ้านเมืองมีพระยาวิเศษสิงหนาท สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุบลราชธานี กับ ฝ่ายสงฆ์มีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เมื่อยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระราชมุนี มหาสังฆปาโมกข์ และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานี ในวันที่ 9 เมษายน 2456 จากผลการประชุมดังกล่าวนำไปสู่การประกาศเลิกสมณยศอย่างโบราณ
ใจความสำคัญของการยกเลิกยศแบบอีสานโบราณนั้นเพราะมีความเห็นว่าเป็นของลาวและเจ้าลาว อีกทั้งยังไม่สอดคล้องกับ พรบ การปกครององค์กรสงฆ์ที่ใช้อยู่ด้วย
ในประเด็นผู้เขียนอยากชวนผ่านตัวตนของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ว่าแม้ท่านจะเป็นอุบลราชธานี แต่ท่านได้รับการศึกษาตามแบบคณะสงฆ์สมัยใหม่แล้ว และได้รับหน้าที่อำนาจการปกครองคณะสงฆ์ และทำงานร่วมกันกับรัฐจึงมีความเป็นไปได้ที่ท่านจะทำงานคณสงฆ์เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐหรือส่วนกลาง
ดังเห็นได้จากหลัง “กบฏบวรเดช” เมื่อ พ.ศ. 2476 นายพันตรีหลวงชำนาญยุทธศาสตร์ (ผิน ชุณหะวัณ) นิมนต์ท่านไปพำนักชั่วคราวยังวัดสุทธวรารามที่นครราชสีมา เพื่อให้สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ “…เทศนาสั่งสอนและอบรมบรรดาข้าราชการและประชาชนให้ตั้งอยู่ในความสงบไม่แตกความสามัคคีและอิจฉาริษยาซึ่งกันและกัน ให้ถือว่าคนในชาติไทยเสมือนเป็นพี่น้องกันมาแต่อดีต นอกจากนี้ให้เลิกอาฆาตและให้อภัยต่อเหตการณ์ที่แล้วมาเสียให้หมดสิ้น…”
งานวิจัยเรื่อง ภาวะผู้นำของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) อธิบายถึงการทำงานสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ภายใต้อุดมการณ์รัฐไทยช่วงประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี
“ฮดสรง” ผ่านอดีต ปัจจุบันและอนาคต ?
ถึงแม้การฮดสรงจะถูกยกเลิกไป แต่ประเพณีดังกล่าวก็ยังคงถือปฏิบัติมาในภาคอีสานและตลอดทั้งภาคเหนือ แม้จะไม่มีการสนับสนุนจากรัฐ สิ่งนี้สะท้อนการต่อสู้ทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ประชาชนมีต่อรัฐ กล่าวคือ ถึงรัฐต้องควบคุมกิจกรรมบางอย่างของประชาชนแต่ประชาชนก็ยังแสดงตัวตนผ่านประเพณีและวัฒนธรรม การขัดขืนนี้ผู้เขียนมองว่าไม่ใช่เป็นการต้านอำนาจรัฐอย่างสิ้นเชิงแต่เป็นการขัดขืนเพื่อที่จะรักษาอัตลักษณ์ความเชื่อของประชาชน
ปัจจุบันเราพบว่าพระสงฆ์รับทั้งอำนาจรัฐและรับทั้งอำนาจจากประชาชน หากพูดตามตรงก็คือไม่ได้แยกขาดกันโดยสิ้นชิง เพราะฝ่ายรัฐให้อำนาจสมณศักดิ์ผ่านกลไกการปกครองสงฆ์ ส่วนการฮดสรงเป็นสิ่งที่ชาวบ้านทำขึ้น และพระสงฆ์บางรูปก็รับเอาทั้งสองอย่าง เช่นว่า เมื่อได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์นอกจากจัดพิธีเจริญพุทธมนต์ทั่ว ๆ ไปแล้ว บางแห่งก็จัดพิธีฮดสรงนี้เสริมเข้ามาด้วย หรือบางรูปที่ไม่มีสมณศักดิ์ก็จัดพิธีนี้ตามที่บรรดาลูกศิษย์ทำขึ้นตามวาระโอกาส
หากเรามองไปข้างหน้า อดีตที่ผ่านมาเราได้เห็นการทำงานของวาทกรรมความเป็นไทยที่พยายามลดทอน กีดกันวัฒนธรรมอื่น ๆ ให้เป็นสิ่งต้องห้าม ฮดสรงเป็นเพียงหนึ่งปรากฏการณ์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ซึ่งการละเลยสิ่งนี้ทำให้พุทธศาสนาไทยขาดการเชื่อมโยง มองไม่เห็นการแลกเปลี่ยนและผสมผสาน ซึ่งขาดมิติของประชาชน เป็นการนำเอาศาสนาของชนชั้นนำมาครอบประชาชน นำไปสู่ปัญหาโครงสร้างการปกครอง ปัญหาเหล่านี้ ทำให้เราไม่สามารถอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในพุทธศาสนาที่ล้านนา เเละภูมิภาคอื่นๆ ด้วย
ผู้เขียน
พระปลัดอภิเชษฐ์ สุภทฺรวาที
Connect with us, Connect the world.
#ASCNEXT 2023 moving to centre of the PEOPLE
___
Website: http://asc.mcu.ac.th
Facebook : Mcu Asean
Twitter : ascmcu
IG: ascmcu